7 ปีกับแบรนด์ “อาม่า” และการก้าวไปอีกขั้นจากโทรศัพท์มือถือ สู่ศูนย์รวมเทคโนโลยีผู้สูงอายุ

แบรนด์ RMA (อาม่า) น่าจะเป็นที่รู้จักในมุมของตัวเลือกในการซื้อโทรศัพท์มือถือให้กับผู้สูงอายุประมาณหนึ่ง แต่ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงอะไรก็คงจมอยู่กับตลาดมือถือที่แข่งขันกันสูง ทำให้ปีที่ 7 ของแบรนด์นี้ มาพร้อมกับการปรับกลยุทธ์ครั้งใหญ่

ปรับจากมือถือสู่สินค้าเทคโนโลยี

ตลาดโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยมีการนำเข้ามาจำหน่ายราว 18 ล้านเครื่อง และแทบทั้งหมดเป็น Smartphone ส่วน Feature Phone หรือโทรศัพท์มือถือแบบปุ่มกดนั้นแทบจะไม่เหลือแล้ว เต็มที่การนำเข้ามาจำหน่ายก็เพียงหลักแสนเครื่องเท่านั้น เหตุนี้เองทำให้แบรนด์ RMA ต้องตัดสินใจปรับตัวเองที่สินค้าหลักคือสินค้าที่เสื่อมความนิยม

สุรินทร์ อมรชัชวาลกุล กรรมการผู้จัดการ และผู้ก่อตั้ง บริษัท มีเดีย-อินฟินิตี้ จำกัด เจ้าของแบรนด์ RMA เล่าให้ฟังว่า จริงๆ แต่ละปีบริษัทสามารถจำหน่าย Feature Phone ได้เฉลี่ย 4,000 เครื่อง/เดือน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของตลาดนี้ และถือเป็นผู้นำของตลาดก็ได้ เพราในประเทศไทยแทบไม่เหลือแบรนด์ที่ทำตลาด Feature Phone แล้ว

แต่ถึงจะเป็นผู้นำตลาด การปรับตัวก็จำเป็น เพราะปัจจุบันรายได้ทั้งบริษัทปีนี้จะมาจากการจำหน่ายโทรศัพท์มือถือแค่ 2-3 รุ่น และทั้งหมดอยู่ภายใต้แบรนด์ RMA ซึ่งมีบริษัทเป็นผู้นำในเรื่องโทรศัพท์ปุ่มใหญ่ ทำให้ก่อนหน้านี้ 2-3 เดือนได้วางกลยุทธ์ใหม่ทั้งหมด เริ่มจากเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น RMA พร้อมกับเพิ่มไลน์สินค้าเทคโนโลยีสำหรับผู้สูงอายุเข้ามา

RMA รุ่น ยิ้ม

ผู้สูงอายุ และความต้องการที่แตกต่าง

“ใน 7 ปีที่ผ่านมา บริษัทเติบโต และเป็นที่รู้จักก็เพราะแบรนด์ RMA ทำให้จากนี้เราคงหยุดตัวแบรนด์ Infinity ที่เป็นแบรนด์เริ่มต้นของ และไปเน้นหนักที่ RMA ไปเลย พร้อมกับการออกสินค้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้น โดยยึดแนวคิดเรื่องตอบโจทย์ผู้สูงอายุ เหมือนกับการส่งแบรนด์ RMA ออกมาตอนนั้นเพื่อแก้ปัญหาเรื่องการใช้งานโทรศัพท์มือถือของครอบครัวผม”

อย่างไรก็ตามสินค้าใหม่ภายใต้แบรนด์ RMA ทางบริษัทไม่สามารถเปิดเผยได้ในตอนนี้ แต่ในฝั่งของสินค้า Feature Phone นั้นปีนี้จะทำตลาด 2-3 รุ่น โดยช่วงต้นปีมีการเปิดตัวรุ่น “ยิ้ม” มือถือฝาพับที่คงจุดเด่นเรื่องปุ่มกดขนาดใหญ่ มาพร้อมกับราคา 1,990 บาท นอกจากทำตลาดรุ่น “อาม่า 3G” มือถือปุ่มกดจอสีทรงบาร์ ราคา 1,690 บาท

“ต้องบอกก่อนว่าเราวางมือถือ RMA เป็น Feature Phone ระดับ Premium ดังนั้นราคามันคงสูงกว่าแบรนด์คู่แข่งในตลาดที่พยายามทำเลียนแบบอีก 3-4 แบรนด์ แพงกว่า Smartphone บางรุ่นเสียอีก และยืนยันว่าเราคงไม่กลับไปทำ Smartphone แล้ว เพราะตลาดนั้นแข่งกันหนัก รวมถึง RMA ไม่ได้มีเงินทุ่มตลาดขนาดนั้น”

NEX รุ่นที่คล้ายกับ 3310 ตัวใหม่ของ Nokia // ภาพจาก Facebook ของ @maethongbangruamchak

House Brand กับทิศทางที่เวียนวน

หากมองภาพรวมตลาด House Brand โทรศัพท์มือถือในปัจจุบันจะมีเหลือยู่แค่ 3-4 ราย หากไม่นับ I-mobile ที่ใหญ่เกินกว่าที่จะเป็นรายย่อย และทุกเจ้าต่างมีการตลาดที่เวียนวนคือ ทำสินค้าเลียนแบบของคู่แข่งที่คิดว่า หรือกำลังมีกระแสในตลาดไทย เช่น Nokia รุ่น 3310 ตัวใหม่ ก็ถูกนำมาเลียนแบบเรียบร้อยแล้ว และคิดว่าอีกไม่กี่สัปดาห์รุ่นฝาพับของบริษัทก็คงโดนเช่นกัน

แต่ทั้งนี้ตัว RMA ไม่ได้เดินด้วยกลยุทธ์ดังกล่าว เพราะต้องการนำนวัตกรรมใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้สูงอายุเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และถึงตอนนี้จะไม่มีตัวแทนจำหน่ายที่ชัดเจน แต่ผู้บริโภคก็ไม่ได้หาซื้อสินค้าตามร้าน หรือตู้รายย่อยอีกต่อไป ทำให้บริษัทเน้นขายผ่าน Chat Commerce หรือการพูดคุย และปิดการขาย รวมถึงทำตลาดแค่บน Facebook เป็นหลัก

“ด้วยความที่เครื่องเราแพง ทำให้ช่วงหนึ่งร้านค้าต่างๆ ไม่ซื้อสินค้าไปขาย ดังนั้นเราเลยต่อตรงกับผู้บริโภคเสียเอง และยอดขายส่วนใหญ่ก็มาจาก Facebook ด้วย ส่วนจะให้เรากลับไปยิงหนังโฆษณาเหมือนเมื่อปีก่อนก็คงไม่ใช่แล้ว เพราะการทำตลาดออนไลน์ คือทางออกของบริษัทที่ไม่ได้มียอดขายจำนวนมาก แถมสินค้ายังเป็นของเฉพาะกลุ่ม และส่วนใหญ่ลูกซื้อไปให้พ่อแม่ใช้”

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา