Riot Games ผู้พัฒนา League of Legends ร่วมมือ Nielsen วางมาตรฐานประเมินมูลค่า E-Sports

E-Sports มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว จนหลายแบรนด์สินค้า และบริการต่างต้องการเข้ามาสนับสนุนมากขึ้น แต่เพื่อเพิ่มความโปร่งใส และความชัดเจนเรื่องข้อมูล Riot Games จึงร่วมมือกับ Nielsen เพื่อยกระดับเรื่องนี้ไปอีกขั้น

League of Legends
การแข่งขัน E-Sports ของ League of Legends // ภาพโดย Clément Grandjean [CC BY-SA 4.0], via Wikimedia Commons

E-Sports ที่เพิ่มความชัดเจนในการวัดข้อมูล

แม้ E-Sports จะมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว และหลายๆ แบรนด์ก็ให้ความสนใจ แต่ด้วยความไม่ชัดเจนในเรื่องข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นจำนวนการรับชม หรือกลุ่มผู้ชมที่เป็นวัยไหน ทำให้การตัดสินใจของแบรนด์ต่างๆ ในการเข้ามาลงทุนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ประกอบกับผู้ให้บริการเกมนั้นก็มีหลากหลาย ทำให้มาตรวัดมูลค่าอาจไม่ตรงกันทั้งหมด

ทำให้การสร้างมาตรฐานกลางในอุตสาหกรรมนี้จึงจำเป็น และมันคือที่มาของการร่วมมือระหว่าง Riot Games ผู้พัฒนา, ให้บริการ และจัดการแข่งขัน E-Sports ของเกม League of Legends (LOL) กับ Nielsen บริษัทสำรวจข้อมูลชั้นนำของโลก เพื่อสร้างมาตรฐานกลางในการตรวจสอบมูลค่า และข้อมูลอื่นๆ ของ E-Sports

E-Sport
รายการ ESL หนึ่งในการแข่งขัน E-Sport ที่ใหญ่ที่สุด

ทั้งนี้การสำรวจมูลค่า และสร้างมาตรฐานกลางนั้นจะทำโดย Esports24 หนึ่งในบริษัทย่อยของ Nielsen ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2560 และรับผิดชอบงานเกี่ยวกับการสำรวจข้อมูลตลาดเกมโดยเฉพาะ และการสำรวจข้อมูลจะเริ่มขึ้นในการแข่งขันรายใหญ่ตั้งแต่ปี 2562-2563 ของ LOL เช่น League of Legends European Championship

Doug Watson หัวหน้าฝ่ายข้อมูลเชิงลึกใน E-Sports ของ Riot Games เล่าให้ฟังว่า ความน่าเชื่อถือ และความโปร่งใสคือสิ่งสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรม E-Sports เพราะมันช่วยให้พาร์ทเนอร์แบรนด์ต่างๆ ที่ต้องการสนับสนุนการแข่งขันนั้นรู้ว่าจะได้อะไรบ้าง แถมมีผลลัพธ์ที่ออกมาแล้วตรวจสอบได้จริง

esports
การแข่งขัน E-Sport

ในทางกลับกัน Riot Games ก็กลายเป็นหนึ่งใน Nielsen Esports Advisory Board หลังจากดีลนี้ รวมถึงเป็นผู้กระตุ้นให้เกิดการสร้างมาตรฐานกลางเพื่อใช้ตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ของการรับชม E-Sports รวมถึงประเมินมูลค่าของอุตสาหกรรมนี้ด้วย แม้ตัว Riot Games จะได้รับการสนับสนุนจากแบรนด์เช่น Nike และ Mastercard แล้ว

สรุป

เมื่อรู้จำนวนผู้ชมว่าเป็นกลุ่มไหน, ใช้เวลารับชมเท่าไร รวมถึงชอบดูรายการแข่งขันเกมในรูปแบบใด มันก็ช่วยยกระดับระดับให้ E-Sports นั้นกลายเป็นรายการแข่งขันที่สามารถตรวจสอบข้อมูล และทุกคนก็รู้ว่ามันคุ้มค่าหรือไม่ในการลงทุน ส่วนตัวเชื่อว่าการวางมาตรฐานกลางก็เป็นเรื่องดี คล้ายกับการวัดเรตติ้งการรับชมโทรทัศน์ในปัจจุบัน

อ้างอิง // The Esports Observer

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา