ออสเตรเลียเริ่มใช้กฎ “สิทธิที่จะไม่ติดต่อ” หรือ Right to disconnect แล้ว

เมื่อถึงเวลาเลิกงานแล้ว ก็ต้องเลิกทำงานด้วย วันหยุดก็คือหยุด พนักงานออสเตรเลียมีสิทธิไม่สนใจการใช้งานของเหล่าหัวหน้าในวันหยุดได้

Reuters รายงาน พนักงานชาวออสเตรเลียสามารถใช้สิทธิ (right to disconnect) กับเหล่าหัวหน้าทั้งหลายที่กำลังรบกวนชีวิตส่วนตัวของพวกเขาในช่วงวันหยุดและช่วงหลังเลิกงานได้แล้ว กฎหมายดังกล่าวออกแบบมาเพื่อจะทำให้พนักงานสามารถที่จะใช้สิทธิไม่สนใจอีเมล์งานหรือโทรศัพท์ได้

Australia
Photo by engin akyurt on Unsplash

กฎใหม่ดังกล่าวเริ่มมีผลบังคับใช้วันจันทร์นี่เอง กฎนี้ทำให้พนักงานทั้งหลายไม่ต้องถูกทำโทษ เพ่งโทษ เมื่อพวกเขาปฏิเสธที่จะอ่านข้อความหรือตอบสนองการติดต่อใดๆ จากนายจ้างนอกเวลาทำงานได้ ซึ่งผู้ที่ให้การสนับสนุนการออกกฎดังกล่าวระบุว่า พนักงานจะได้เกิดความมั่นใจที่จะยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเองหากถูกรุกรานชีวิตส่วนตัวหลังจากเลิกงาน ไม่ว่าจะด้วยอีเมล์งาน ข้อความ หรือโทรศัพท์

เทรนด์ของการใช้ “สิทธิที่จะไม่ติดต่อ” นี้ เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นนับตั้งแต่ช่วงที่เกิดโควิดระบาด คือช่วงที่เส้นบางๆ ที่กั้นอยู่ระหว่างชีวิตการทำงานกับชีวิตส่วนตัวเลือนลางลง

รองศาสตราจารย์ John Hopkins จาก Swinburne University of Technology กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ เทคโนโลยีไม่ได้รุกรานชีวิตใคร เมื่อผู้คนกลับบ้าน เวลาแห่งการทำงานของพวกเขาก็สิ้นสุดลง ไม่มีการติดต่อสื่อสารกัน จนกว่าจะกลับเข้ามาทำงานใหม่ในวันถัดไป แต่ทุกวันนี้ ทั่วดลกส่งอีเมล์ ส่งข้อความ โทรศัพท์หากันในช่วงหลังเวลางานกันเป็นปกติ แม้กระทั่งวันหยุดด้วย

ทั้งนี้ ผลสำรวจพบว่าในปี 2023 ชาวออสเตรเลียทำงานล่วงเวลาโดยเฉลี่ย 281 ชั่วโมงโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน ขณะที่ Australia Institue ประเมินมูลค่าเงินของแรงงานราว 8.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 2.9 ล้านล้านบาท

ว่าด้วยเรื่องการใช้สิทธิที่จะไม่ติดต่อนี้ มีการเริ่มใช้โดยองค์การ Pioneer France ตั้งแต่ปี 2017 จากนั้นในอีก 1 ปีต่อมาก็ได้ใช้กฎดังกล่าวมาเรียกค่าปรับจากบริษัทกำจัดสัตว์ บริษัท Rentokil Initial เป็นจำนวน 60,000 ยูโรหรือประมาณ 2.2 ล้านบาท โทษฐานที่กำหนดให้พนักงานต้องเปิดโทรศัพท์รอรับสายอยู่ตลอดเวลา

เรื่องนี้ Rachel Abdelnour ผู้ที่ทำงานอยู่ในวงการโฆษณากล่าวว่า ความเปลี่ยนแปลงนี้น่าจะช่วยให้เธอตัดขาดจากอุตสาหกรรมที่มักจะมีลูกค้าที่ทำงานในเวลาแตกต่างกันบ่อยครั้ง เธอบอกว่า ฉันคิดว่าการมีกฎนี้มันสำคัญจริงๆ เราใช้เวลามากมายเพื่อติดต่อผู้คนทางโทรศัพท์ ใช้เวลาเพื่อติดต่ออีเมล์ตลอดทั้งวัน ฉันคิดว่ามันยากจริงๆ ที่จะปิดเครื่องได้เหมือนที่เคยทำมา

work

ใช้ “สิทธิในการไม่ติดต่อ” ได้ แต่ก็มีข้อยกเว้น

อย่างไรก็ตาม การใช้ “สิทธิที่จะไม่ติดต่อ” นั้น ก็ยังมีข้อยกเว้นอยู่ กรณีที่มันมีเรื่องเร่งด่วนหรือมีเรื่องฉุกเฉิน นายจ้างก็สามารถที่จะติดต่อพนักงานได้ ใครที่จะใช้สิทธิดังกล่าวจะต้องมีเหตุผลเพียงพอ

การตัดสินว่าการใช้สิทธิปฏิเสธการติดต่อจากนายจ้างนั้นจะสมเหตุผลหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการการทำงานอย่างเป็นธรรม (Fair Work Commission: FWC) ซึ่งก็จะต้องคำนึงถึงบทบาทของพนักงานด้วย ซึ่งก็นำเรื่องสถานการณ์ส่วนบุคคลและลักษณะในการติดต่อมาพิจารณาด้วยว่า ติดต่อทำไม และติดต่ออย่างไร

ทั้งนี้ ก็มีการพิจารณาถึงอำนาจในการออกคำสั่ง การให้หยุด และเลิกจ้างได้ มีการเรียกเก็บค่าปรับสูงถึง 19,000 เหรียญออสเตรเลียหรือประมาณ 4.3 แสนบาทสำหรับพนักงานคนหนึ่ง ส่วนบริษัทค่าปรับอยู่ที่ 94,000 เหรียญออสเตรเลียหรือประมาณ 2.1 ล้านบาท

ด้าน Australian Industry Group ซึ่งเป็นกลุ่มนายจ้างระบุว่า กฎที่ออกมาใหม่นี้ยังมีความคลุมเครือ อาจสร้างความสับสนแก่หัวหน้าและพนักงานได้ งานจะมีความยืดหยุ่นน้อยลงและทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงด้วย

ด้าน Michele O’Neil ประธาน Australian Council of Trade Unions ระบุว่า กฎนี้จะต้องไม่แทรกแซงคำร้องขอที่สมเหตุสมผลด้วย เธอก็อ้างถึงคนงานที่ทำงานเสร็จในเวลาเที่ยงคืน แต่ก็ได้รับข้อความหลังจากนั้นอีก 4 ชั่วโมงต่อมา เพื่อให้เขาไปทำงานต่อในเวลา 6 โมงเช้า เธอบอกว่าการติดต่อกันน่ะมันเป็นเรื่องง่ายมาก แต่ common sense แบบนั้นจะนำมาใช้ต่อไปอีกไม่ได้แล้ว

ที่มา – Reuters

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา