ส่องความต่างรางวัลด้านอาหาร ผู้ช่วยเฟ้นหาร้านเอาใจสายกินมาอย่างยาวนาน

ไม่ว่าจะภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน หรือว่าภาคใต้ จะไปเที่ยวที่ไหนในไทยก็มีแต่อาหารอร่อย ๆ เมื่อเรื่องกินเป็นเรื่องใหญ่และร้านอาหารดี ๆ ที่มีคุณภาพคับจานก็มีอยู่ทั่วประเทศ จึงไม่น่าแปลกที่จะมีนักรีวิวอาหารอยู่หลายเจ้า และร้านอาหารอร่อยก็สมควรได้รับรางวัล

ในประเทศไทยมีรางวัลที่มอบให้กับร้านอาหารอยู่มากซึ่งส่วนใหญ่เราก็คุ้นเคยกันดี ไม่ว่าจะเป็นรางวัลที่ตัดสินจากความพึงพอใจและคะแนนรีวิวของบุคคลทั่วไปอย่าง Users’ Choice ของ LINE MAN Wongnai หรือจะเป็นฝั่งสายนักชิมที่ไปถึงร้านอย่างเชลล์ชวนชิมและ Michelin

แต่ละรางวัลตัดสินอย่างไรและให้รางวัลในรูปแบบไหน Brand Inside จะพาไปดูกัน

LINE MAN Wongnai Users’ Choice

เริ่มต้นกันที่ฝั่งแอปพลิเคชันสั่งและส่งอาหารกันก่อนที่ LINE MAN ที่มาพร้อมกับแอปรีวิวอาหารที่ทุกคนต่างคุ้นเคยอย่าง Wongnai ที่ประกาศรางวัล Users’ Choice ให้กับบรรดาร้านอาหารคุณภาพทั่วประเทศในทุก ๆ ปี

รางวัล Users’ Choice เกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2557 แต่ขณะนั้นมีชื่อว่า Best of Wongnai ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น Wongnai Users’ Choice ก่อนจะเติมคำว่า LINE MAN เข้าไปด้วยเมื่อ LINE MAN และ Wongnai ร่วมทุนกัน

จุดเด่นของ LINE MAN Wongnai อยู่ที่การให้ความสำคัญกับความคิดเห็นและประสบการณ์จากผู้ใช้แอปพลิเคชันทั้ง 2 เป็นหลัก เป็นรางวัลที่ไม่สามารถซื้อได้ทำให้ร้านอาหารที่ได้รับรางวัลสะท้อนความพึงพอใจของผู้ใช้จริงทั่วประเทศ โดยรางวัล Users’ Choice ในปี 2023 มีเกณฑ์การตัดสินที่เป็นมาตรฐาน ดังนี้

  • คัดเลือกจากการรีวิว เรตติ้ง และยอดออร์เดอร์ของผู้ใช้แอปพลิเคชัน LINE MAN และ Wongnai เป็นหลัก ไม่สามารถซื้อได้ด้วยเงิน
  • ตลอดปี 2022 ร้านอาหารต้องมีค่าเฉลี่ย rating 4.0 ขึ้นไปบนแอปพลิเคชัน LINE MAN และ Wongnai
  • มีจำนวนรีวิวและเรตติ้งเพิ่มขึ้นในปี 2022 เมื่อเทียบกับปี 2021
  • ต้องมีหลากหลายประเภทอาหาร ตั้งแต่หลักสิบจนถึงหลักพัน
  • ร้านสาขา พิจารณาโดยค่าเฉลี่ยของทุกสาขาต้องผ่านเงื่อนไขข้างต้น
  • ทีมบรรณาธิการจะคัดเลือกร้านที่เข้าเกณฑ์ข้างต้นอีกครั้งหนึ่ง โดยดูทั้งความหลากหลายของประเภทร้าน ราคา จำนวนร้านในแต่ละจังหวัด และพัฒนาการของร้านในปีที่ผ่านมา

รางวัล LINE MAN Wongnai Users’ Choice ครอบคลุมทั้งอาหารริมทาง Fine Dining และเดลิเวอรี โดยมีร้านหลายประเภทไม่ใช่แค่ร้านเดียวที่จะได้รางวัลโดยในปี 2023 นี้มีถึง 555 ร้านที่ได้รับรางวัลจากกว่า 1.3 ล้าน ร้าน

เชลล์ชวนชิม

หลายคนคงคุ้นเคยกับตราเชลล์ชวนชิมพร้อมโลโก้ชามลายครามกันที่ติดอยู่ตามหน้าร้านอาหารกันอยู่แล้วเพราะเชลล์ชวนชิมเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504  โดย ม.จ. ภีศเดช รัชนี ผู้จัดการแผนกส่งเสริมการขายและการโฆษณา บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัดในขณะนั้นได้ปรึกษากับ ม.ร.ว. ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ จนเกิดเป็นแนวคิดการแนะนำความอร่อยอย่างเชลล์ชวนชิมขึ้นมา โลโก้รูปชามเป็นสัญลักษณ์ของการกิน ส่วนลายครามเป็นสัญลักษณ์ของความเก่าแก่แต่สูงค่า ทำให้โลโก้ของเชลล์ชวนชิมสื่อถึงการกินดีกินเป็น

เชลล์ชวนชิมได้เปิดตัวและเริ่มให้ตราเชลล์ชวนชิมกับร้านค้าเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2504 โดยมีม.ร.ว. ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์เป็นนักชิม โดยร้านแรกที่ได้รับตราเชลล์ชวนชิม คือ ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นสมองหมูหรือก๋วนเตี๋ยวห้าหม้อ ก่อนที่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 ม.ล. ภาสันต์ สวัสดิวัฒน์ ผู้เป็นบุตรชายจะเข้ามาสืบทอดการแนะนำความอร่อยต่อพร้อมกับทีมเชลล์ชวนชิมคนอื่น ๆ ที่ประกอบด้วยนักชิม นักรีวิวอาหารที่เชี่ยวชาญ

สำหรับเกณฑ์การตัดสินของเชลล์ชวนชิมจะแบ่งออกเป็น 3 ด้านเป็นหลัก ดังนี้

  • รสชาติอร่อย ร้านอาหารหรือผู้ผลิตที่รักษาคุณภาพด้านรสชาติ คงความอร่อยในอาหารและผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องและเป็นที่ยอมรับสำหรับคนไทย
  • มีเอกลักษณ์ ร้านอาหารหรือผู้ผลิตที่สร้างสรรค์เมนูหรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวในแบบฉบับของตนเอง
  • ควรค่าแก่การไปชิม ร้านอาหารหรือผู้ผลิตที่ให้ประสบการณ์อันคุ้มค่าแก่การเดินทางในทุกจุดหมายแห่งความอร่อย ไม่ว่าจะถูกหรือแพงก็ตาม

ร้านอาหารที่มีมาตรฐานครบถ้วนทั้ง 3 ด้านตามความเห็นของทีมนักชิมก็จะได้รับตราเชลล์ชวนชิมติดไว้หน้าร้านเพื่อบอกว่าเป็นร้านแนะนำ

Michelin Guide Thailand

Michelin Guide เป็นหนังสือไกด์บุ๊คเล่มเล็กที่บอกเส้นทางของสถานที่ต่าง ๆ เช่น ร้านอาหาร หรือโรงแรม ซึ่งถูกริเริ่มมาจากบริษัท Michelin ที่เป็นผู้ผลิตยางรถยนต์

หลายคนคงสงสัยว่าบริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์มีความเกี่ยวข้องอะไรกับอาหาร แนวคิดริเริ่มของมิชลินสตาร์เกิดขึ้นจากที่บริษัทมิชลินต้องการกระตุ้นยอดขายยางรถยนต์โดยจูงใจให้คนเดินทางมากขึ้น โดยการทำหนังสือ Michelin Guide ที่ภายในจะมีการแนะนำร้านอาหารที่ได้รับดาว Michelin Star เพื่อบอกว่าเป็นร้านอาหารคุณภาพ เริ่มแรกมาจากในประเทศฝรั่งเศสก่อนที่จะขยายมาในเอเชียซึ่งรวมถึงไทยจนมีการประกาศรางวัล Michelin Star ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2560

ผู้ที่ตัดสินว่าร้านอาหารใดจะได้ดาว Michelin Star มาจากนักชิมของ Michelin Guide ที่มีอาชีพหลักเป็นนายธนาคาร ทนายความ แพทย์ นักธุรกิจและยินดีที่จะเดินทางตระเวนชิม คณะกรรมการเหล่านี้จะได้รับการเทรนมาตรฐานการให้คะแนนจากทาง Michelin และจะไม่ถูกเปิดเผยชื่อ

สำหรับวิธีการชิมอาหาร นักชิมของมิชลินจะปลอมตัวเป็นลูกค้าปกติเข้าไปรับประทานอาหารในร้านเหมือนกับคนทั่วไป รวมทั้งจะไปชิมร้านเดิม 3-4 ครั้งใน 1 ปี ทำให้อาหารและบริการที่นักชิมได้รับเป็นแบบเดียวกับที่ลูกค้าทั่วไปได้รับ

ส่วนเกณฑ์การตัดสินจะยึดจากเกณฑ์ 5 อย่างเป็นหลัก คือ

  • คุณภาพของส่วนผสม
  • ทักษะในการปรุงอาหาร
  • รสชาติและความคิดสร้างสรรค์
  • ราคาอาหาร
  • ความคงที่ของคุณภาพอาหาร

การให้คะแนนจะแบ่งเป็น ดังนี้

  • 1 ดาว ร้านอาหารคุณภาพสูงที่ควรค่าแก่การหยุดแวะชิม
  • 2 ดาว ร้านอาหารยอดเยี่ยมที่ควรค่าแก่การขับรถออกนอกเส้นทางเพื่อแวะชิม
  • 3 ดาว สุดยอดร้านอาหารที่ควรค่าแก่การเดินทางไกลเพื่อไปชิมสักครั้ง

Asia’s 50 Best Restaurants

ไม่ได้ครอบคลุมแค่ในไทยและครอบคลุมทั่วเอเชีย Asia’s 50 Best Restaurants เป็นการจัดอันดับ 50 ร้านอาหารในเอเชียที่ดีที่สุดในทุก ๆ ปีที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2556 

การจัดอันดับเกิดขึ้นโดยกลุ่ม Asia’s 50 Best Restaurants Academy ซึ่งเป็นกลุ่มผู้นำที่มีอิทธิพลกว่า 300 รายในอุตสาหกรรมร้านอาหารทั่วเอเชียที่มีทั้งนักวิจารณ์อาหาร เชฟ ร้านอาหาร และผู้ที่มีความสามารถในการรีวิวอาหาร ภายใต้การดูแลของบริษัทใหญ่อย่าง Deloitte ที่ช่วยรักษามาตรฐานรางวัลและความน่าเชื่อถือ

เนื่องจากการจัดอันดับครอบคลุมทั่วเอเชีย จะมีการแบ่งภูมิภาคการโหวตออกเป็น 6 ภูมิภาค โดยในแต่ละภูมิภาคประกอบด้วยคณะกรรมการ 53 ราย คณะกรรมการแต่ละคนจะมีสิทธิจัดอันดับร้านอาหารของตัวเองโดยตั้งแต่ปี 2564 กรรมการสามารถโหวตร้านอาหารที่ดีที่สุดได้คนละ 8 ร้านโดยเป็นร้านอาหารที่ตั้งอยู่ในประเทศของตนเองได้มากที่สุด 6 ร้าน โดยผู้โหวตจะต้องรับประทานอาหารในร้านที่โหวตมาภายในช่วงไม่เกิน 18 เดือน

เกณฑ์การตัดสินไม่ได้มีข้อกำหนดชัดเจนว่าร้านอาหารนั้นจะต้องมีคุณสมบัติแบบใดบ้าง ทำให้ร้านที่ติดอันดับไม่จำเป็นต้องเป็นร้านดังหรือร้านที่เคยได้รับรางวัลมาแล้ว สามารถเป็นร้านเล็ก ๆ ก็ได้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความคิดเห็นของกรรมการเป็นหลัก

นอกจากการจัดอันดับร้านอาหารที่ดีที่สุด 50 อันดับแล้ว สิ่งที่ร้านอาหารจะได้รับอีกก็มีรางวัลต่าง ๆ อย่างเช่น Chef’s Choice Award, Asia’s Best Female Chef Award และ Sustainable Restaurant Award

ทั้งหมดนี้เป็นรางวัลด้านอาหารที่คนไทยคุ้นเคยกันดีและเป็นรางวัลที่ถ้าร้านไหนได้ก็การันตีได้ว่าจะถูกใจสายกินอย่างแน่นอน แต่รางวัลดี ๆ ไม่ได้มีเพียงเท่านี้ ยังมีรางวัลอื่นอีกอย่าง Grab Thumbs Up Awards จากแอปพลิเคชันเดลิเวอรีอย่าง Grab ที่ตัดสินจากยอดออเดอร์และคะแนนเรตติ้งบนแอป รางวัล BK’s Top Tables ที่จัดขึ้นโดยนิตยสาร BK Magazine ที่จัดอันดับ 100 ร้านอาหารที่ดีที่สุดลงในนิตยสารพร้อมรางวัลอื่น ๆ อีกอย่าง Chef of the Year หรือ Best New Restaurant

ถ้าวันนี้ไม่รู้จะกินอะไรหรือกินร้านเดิมจนเบื่อแล้ว ลองแวะร้านอาหารที่ได้รับรางวัลหรือร้านแนะนำก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้เราตอบคำถามว่า “วันนี้จะกินอะไรดี” ได้ง่ายขึ้น

หมายเหตุ: Brand Inside เป็นบริษัทในเครือ LINE MAN Wongnai

อ้างอิง – LINE MAN Wongnai Users’ Choice, เชลล์ชวนชิม, Michelin 1, Michelin 2, Asia’s 50 Best Restaurants

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา