เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ณ ชั้นดาดฟ้าของศูนย์การค้าฟอร์จูนทาวน์ มีการจัดงานเปิดโลกกัญชาที่รวมตัวพลพรรคสายเขียวในชื่อ 2018 HIGHLAND 4.20 โดยมีนิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวและประวัติศาสตร์ของกัญชาในประเทศไทยตั้งแต่ยุคอดีตจนถึงปัจจุบัน พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ และร่วมกันฉายภาพอนาคตของกัญชาในประเทศไทย ว่าถึงที่สุดแล้วจะเดินไปทางไหนดี
Brand Inside ได้เดินทางเข้าร่วมงาน จึงถือโอกาสนี้รีวิวภาพรวมของงานมาให้ได้ชมกัน
งาน 2018 HIGHLAND 4.20 จัดขึ้นในปีนี้เป็นครั้งที่ 4 แล้ว ตัวตั้งตัวตีของงานนี้คือเพจกัญชาชน โดยงานจะจัดขึ้นปีละ 1 ครั้ง ส่วนการจะเข้าร่วมงานได้นั้น ต้องสมัครผ่าน event ที่จัดขึ้น โดยมีราคาบัตรเริ่มต้นที่ 550 บาท (หากซื้อหน้างานราคาบัตรจะอยู่ที่ 600 บาท)
หลังจากนั้น เมื่อลงทะเบียนเสร็จเรียบร้อย เดินเข้ามาในงาน จะได้พบกับนิทรรศการ เวที ร้านค้า และพื้นที่สังสรรค์
นิทรรศการเรื่องเล่ากัญชา
สิ่งแรกที่พบเมื่อเข้ามาในงานคือนิทรรศการที่บอกให้รู้ตั้งแต่คำถามพื้นฐาน เช่น กัญชาคืออะไร มีสารอะไรอยู่ในกัญชา วัฒนธรรมของกัญชาไทยและโลกเป็นอย่างไร ลากไปจนถึงกฎหมายกัญชาในประเทศไทยขณะนี้ถึงไหนแล้ว
- ในปัจจุบัน ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ (ที่มีการระบุให้กัญชาใช้ในทางการแพทย์ได้) ยังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา
ภูมิปัญญา “กัญชง” จากรุ่นสู่รุ่นของชนเผ่าม้ง
ถัดจากนิทรรศการกัญชา มีพื้นที่แสดงสินค้าของชุมชนบ้านเล่าเน้ง พวกเขาเป็นคนเผ่าม้ง ที่นำกัญชง (ไม่ใช่กัญชา) มาถักทอเป็นผ้าใยที่มีความคงทนสูง เป็นภูมิปัญญาที่ส่งทอดกันรุ่นสู่รุ่น ทำกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ
ในปัจจุบัน แม้จะใช้กัญชงเพื่อถักทอผ้าใยได้ แต่จำนวนและบริเวณการปลูกกัญชงยังคงต้องอยู่ภายใต้การกำกับของภาครัฐ
นุชจรีย์ ประทีปศิริ หัวหน้าชุมชนบ้านเล่าเน้ง เล่าให้เราฟังว่า “เผ่าม้งของเราก็ปลูกกัญชงมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ กัญชงกับเผ่าม้งผูกพันธ์กันตั้งแต่เกิดจนตาย อย่างตอนที่มีคนในเผ่าตาย พวกเราจะทำรองเท้า เสื้อผ้าจากกัญชง แล้วจะฝังไปกับคนตาย เพราะเราเชื่อว่าคนตายจะได้นำไปใช้ในโลกหน้า ทุกวันนี้เราก็ยังปลูกกัญชงเพื่อทำผ้าใย ใส่เองบ้าง ขายบ้าง แต่ก็ต้องอยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่”
เวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์
นิกร ชายหนุ่มผู้หายขาดจากโรคมะเร็งระยะสุดท้ายด้วยการใช้กัญชา (โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน)
เขาเล่าว่าเมื่อชีวิตไม่เหลือทางเลือก วิธีการรักษาทางการแพทย์ปฏิเสธการรักษา เขามีโอกาสได้พึ่งกัญชาในห้วงเวลานั้น และปัจจุบันนี้เขากลับมามีอาการปกติแล้ว
“ผมหายมาแล้ว 2 ปี ถ้าย้อนไปตอนนั้น เทียบค่าคีโมรักษาที่แสนแพงกับค่าปรับมีกัญชาในครอบครอง ผมยอมเลือกเสียค่าปรับ เพราะมันคือชีวิตผม ชีวิตของผม ผมขอเลือกวิธีตายของตัวเองดีกว่า ไม่ต้องให้ใครมาบอก”
ส่วนด้านของ น้อย วีระพันธ์ งามมี นักเคลื่อนไหวและผู้อำนวยการมูลนิธิโอโซน ขึ้นบนเวทีพูดถึงความพยายามในการเคลื่อนไหวให้กัญชาถูกกฎหมายในประเทศไว้ว่า “ทุกเสียงสำคัญ ถ้าเรามีสมาชิกในเพจมากพอ จะแสนหรือสองแสน มันมีพลัง สิ่งสำคัญคือเราจะต้องส่งเสียงให้ทุกคนได้ยิน เราต้องไม่เงียบ”
ข้อเสนอของพวกเราคือ เราไม่ได้ต้องการให้กัญชาเสรี 100% (ชนิดที่ว่าซื้อขายได้อย่างพริกหรือมะนาว) แต่สิ่งที่จำเป็นมากที่สุดขณะนี้คือ ต้องเอากัญชาออกจากลิสต์ของยาเสพติด เพราะประสบการณ์ทั้งต่างประเทศและไทยพิสูจน์แล้วว่า มาตรการแบบนี้มันไม่ได้ผล ต่อจากนี้เราจะเคลื่อนไหวโดยมียุทธศาสตร์ มีนักวิชาการ มีคนรุ่นใหม่ มีพรรคการเมืองที่เห็นด้วยกับเราช่วยกันผลักดันประเด็นนี้ในประเทศไทย
พื้นที่สังสรรค์ภายในงาน
โซนพักผ่อนของผู้เข้าร่วมงาน ในระหว่างการรับฟังความเห็นและความรู้จากวิทยากร
บรรดาร้านค้าที่มาเปิดบูธภายในงาน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา