ค้าปลีกล่มสลาย ห้างกำลังตายจริงหรือ? เพราะพอเปิดตัวเลขดู เงินยังลงอยู่กับแหล่งการค้าไม่น้อย

ข่าววงการค้าปลีกที่ไล่ปิดสาขาไปจนถึงยื่นล้มละลาย จนทำให้มีคำถามว่าแล้วห้างสรรพสินค้าจะอยู่อย่างไร แต่เอาเข้าจริง ถ้าไปเปิดดูเม็ดเงินในธุรกิจศูนย์การค้า-ห้างสรรพสินค้ากลับปรับตัวสูงขึ้น เป็นเพราะอะไร?

Photo: Pixabay

ค้าปลีกล่มสลาย ห้างกำลังตายจริงหรือ?

ช่วงนี้ถ้าพูดถึงวงการค้าปลีก โดยเฉพาะในอเมริกาก็จะเห็นกระแสการปิดตัวของธุรกิจมาให้เห็นอย่างต่อเนื่อง เช่น Bebe และ J.C. Penney ที่ประกาศไล่ปิดสาขากันเป็นว่าเล่น ที่หนักไปกว่านั้นมีบางรายที่ขอยื่นล้มละลาย เป็นต้นว่า ร้านขายรองเท้า Payless ShoeSource

ไม่ว่าค้าปลีกจะอาการหนักกันแค่ไหน แต่เมื่อไปเปิดดูตัวเลขการลงทุนในศูนย์การค้า (shopping center) และห้างสรรพสินค้า (mall) กลับพบว่า ในปี 2017 มีการปรับตัวสูงขึ้น เมื่อเทียบกับยอดค่าใช้จ่ายแบบปีต่อปีย้อนกลับลากยาวไปจนถึงปี 1993

เริ่มที่ศูนย์การค้ากันก่อนเลย ในเดือนมิถุนายนปี 2017 นี้ ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างศูนย์การค้าพุ่งสูงขึ้นมาอยู่ที่ 1,600 ล้านเหรียญ ถ้าดูกราฟจะเห็นว่ามีการปรับตัวสูงขึ้นในช่วงปีหลังๆ มานี้ หลังจากซบเซาไปสักพักหนึ่ง

Photo: Bloomberg

นอกจากนั้น ข้อมูลจาก Bloomberg ยังระบุว่า ในเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้ มีการลงทุนไปกว่า 404 ล้านเหรียญ เพื่อก่อสร้างศูนย์การค้าเพิ่มในอเมริกาอีกด้วย

Photo: Bloomberg

วิเคราะห์ปัจจัยอะไรที่ทำให้ยังมีการลงเงินในธุรกิจนี้อีก?

  • ในช่วง 20 ปีนี้ ธุรกิจค้าปลีกมีพัฒนาการที่สูงมาก โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ ด้วยแล้ว ต้องยอมรับว่า การเติบโตมีสูงจนเกินสัดส่วนของประชากร ในแง่การแข่งขันจึงทำให้ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่เหล่านี้ต้องใช้เงินจำนวนมาก มาต่อสู้กันทำตลาดด้วยการซื้อป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ และ/หรือฉายโฆษณาทางสื่อโทรทัศน์
  • แม้ว่ากระแสอีคอมเมิร์ซหรือซื้อของออนไลน์จะมาแรง แต่ในด้านกลุ่มของศูนย์การค้า-ห้างสรรพสินค้าก็พยายามปรับตัว หลายรายพยายามปรับปรุงรีโนเวทด้วยการลงเงินจำนวนมากเพื่อทำให้น่าเดิน เพื่อดึงลูกค้าและยืดอายุธุรกิจค้าปลีกในห้าง
  • เร่งสร้างประสบการณ์ที่อีคอมเมิร์ซทำไม่ได้ เช่น สร้างพื้นที่สำหรับทานอาหารเย็น คือถ้าออกมาซื้อของที่ห้างแล้ว ยังทานอาหารด้วยกันได้ด้วย (คนในอเมริกาไม่นิยมทานข้าวนอกบ้าน เพราะมีค่าใช้จ่ายสูง และหารู้ไม่ว่าโมเดลแบบนี้ไทยทำมาตั้งนานแล้ว)
  • อีกประการคือ ส่วนใหญ่อาคารศูนย์การค้า-ห้างสรรพสินค้ามักจะตั้งอยู่ใจกลางเมือง ทำให้ต้นทุนในการก่อสร้างหรือปรับปรุงรีโนเวทมีราคาสูง ในแง่นี้เม็ดเงินที่เพิ่มขึ้นก็มาจากปัจจัยของทำเลและที่ตั้งด้วย

แต่ถึงที่สุดแล้ว แรงจูงใจเหล่านี้จะดึงผู้คนออกจากบ้านได้มากน้อยแค่ไหน ต้องติดตามดูกันต่อไป เพราะต่อให้ห้างสรรพสินค้าจะอยู่ได้ แต่ค้าปลีกที่มีหน้าร้านได้ล้มหายตายจากไปกว่าครึ่งหนึ่งของตลาด แล้วแบบนี้ห้างสรรพสินค้าจะอยู่อย่างไร?

ที่มา – Bloomberg

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา