ธุรกิจค้าปลีกไทยในภูมิภาคเอเชีย ทางด้านยอดขายถูกจัดอันดับในปี 2561 รั้งอันดับ 10 ของภูมิภาค มาดูกันว่าในประเทศต่างๆ ปรับตัวอย่างไรกันบ้าง และไทยไปถึงไหนกันแล้ว
คาดการณ์ว่าการจัดอันดับธุรกิจค้าปลีกในไทย 2562 คงไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านมามากนัก และหากไม่ปรับตัวในอนาคตมีแนวโน้มว่าการจัดอันดับด้านยอดขายอาจร่วงลงไปอีก
- จีน ยอดขาย 4,660,053 ล้านเหรียญสหรัฐ
- อินเดีย ยอดขาย 1,764,468 ล้านเหรียญสหรัฐ
- ญี่ปุ่น ยอดขาย 1,538,424 ล้านเหรียญสหรัฐ
- อินโดนีเซีย ยอดขาย 639,472 ล้านเหรียญสหรัฐ
- เกาหลีใต้ ยอดขาย 377,839 ล้านเหรียญสหรัฐ
- ออสเตรเลีย ยอดขาย 235,875 ล้านเหรียญสหรัฐ
- ฟิลิปปินส์ ยอดขาย 180,847 ล้านเหรียญสหรัฐ
- ปากีสถาน ยอดขาย 179,337 ล้านเหรียญสหรัฐ
- ไต้หวัน ยอดขาย 174,925 ล้านเหรียญสหรัฐ
- ไทย ยอดขาย 154,576 ล้านเหรียญสหรัฐ
ค้าปลีกจีนโตเพราะอะไร
ปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจค้าปลีกในประเทศจีนที่สร้างยอดขายมหาศาล มาจากการก้าวสู่ New Retail การนำเทคโนโลยีมาช่วยเสริมและเติมเต็มผนวกร้านค้าปลีกออฟไลน์และออนไลน์ ทั้งสองแบบเข้าด้วยกันสู่ค้าปลีกยุคใหม่ จะช่วยให้ธุรกิจแข็งแกร่งขึ้นแถมยังตอบโจทย์พฤติกรรมคนซื้อที่เปลี่ยนไป
ประเทศจีนมีความโดดเด่นทางเทคโนโลยีและนำมาปรับใช้แทบทุกธุรกิจ ไม่เพียงแต่ธุรกิจค้าปลีกเท่านั้น เช่น การก้าวสู่ฟินเทค ระบบการชำระเงินทั้งสแกนใบหน้าหรือให้เลือกโดยการสแกนบาร์โค้ด
การพัฒนา รถเข็นอัจฉริยะ (Autonomous Shopping Cart) เป็นต้น ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้กับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ
นอกจากช่องทางออฟไลน์หรือห้างและซูเปอร์มาร์เก็ตยังไปได้ดีแล้ว ธุรกิจอีคอมเมิร์ซก็เติบโต นับตั้งแต่ปี 2558 – 2563 ตลาดอีคอมเมิร์ซจีนจะคิดเป็น 47% ของค้าปลีกดิจิทัลทั่วโลก และคาดว่าจะมียอดขาย 2.416 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เท่ากับว่ามีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี 36.35%
ญี่ปุ่นยอดขายห้างไม่ได้รับผลกระทบออนไลน์
สำหรับค้าปลีกในญี่ปุ่น ในแต่ละห้างมีบริการ Self-Service เกือบไร้พนักงาน โดยเมื่อลูกค้าซื้อสินค้าให้ใ่ส่สินค้าไปในช่อง จากนั้นเครื่องจะทำการสแกนและคิดราคาสินค้า โดยที่ผู้ซื้อสามารถเลือกวิธีการชำระเงินมีหลากหลายวิธี ทั้งช่องรูดบัตรเครดิตและช่องสแกน QR Code จากนั้นแค่รอรับสินค้าเท่านั้น
อิออน ตื่นตัวกับเทคโนโลยี ร่วมมือกับบรรดาเทคสตาร์ทอัพในจีนเปิดศูนย์วิจัยแห่งใหม่ เพื่อหวังเรียนรู้เทคโนโลยี โดยเฉพาะด้านปัญญาประดิษฐ์หรือ AI (artificial intelligence) และระบบชำระค่าสินค้าและบริการแบบอิเล็กทรอนิกส์จากสตาร์ทอัพเหล่านั้น
กระทั่ง Lawson นำ AI มาใช้สำหรับการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์สถานที่ทำตลาด โดย AI จะรวบรวมองค์ประกอบต่างๆ เช่น ข้อมูลการจราจรในพื้นที่นั้นๆ เพื่อช่วยการขยายสาขา
ไต้หวันรั้งอันดับ 9 ยังไปไกล
ร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น ที่ไต้หวัน ไม่มีพนักงานแล้ว โดยขับเคลื่อนใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI
นอกจากนี้เคาน์เตอร์ชำระเงินไม่มีพนักงาน เมื่อลูกค้าวางสินค้าที่เคาน์เตอร์สินค้าต่างๆ จะถูกสแกนเพื่อค้นหาบาร์โค้ดบนสินค้า หรือการใช้ facial biometric หรือการเทคโนโลยีการจับใบหน้า เพื่อทำให้ลูกค้าไม่ต้องพกเงินสด
ธุรกิจไทยไปถึงไหนกับการใช้เทคโนโลยี
แม้ว่าธุรกิจค้าปลีกในไทยจะปรับตัวต่อสู่กับออนไลน์ได้ดี แต่การนำเทคโนโลยีด้านต่างๆ นำมาใช้ไทยยังไม่สามารถก้าวผ่านไปได้ ค้าปลีกไทยอยู่ระหว่างการใช้เทคโนโลยีด้าน Data Analytics นำมาวิเคราะห์ถึงพฤติกรรมของผู้บริโภค
คำถามสำหรับค้าปลีกไทยการนำปัญญาประดิษฐ์ อุปกรณ์วีอาร์ หรือกระทั่งฟินเทค และเทคโนโลยี facial biometric มาใช้มากน้อยแค่ไหน เมื่อมองดูประเทศไทยการทำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น ไม่ว่าจะเป็น ตู้บริการชำระเงินเอง ซึ่งก็มีเพียงไม่กี่ตู้ที่ให้บริการ ส่วนการนำหุ่นยนต์มาบริการเป็นเพียงแค่กิมมิคของการทำตลาดเท่านั้น
ความเสี่ยงต่อธุรกิจค้าปลีกไทย
- การแข่งขันจากธุรกิจค้าปลีกประเภทเดียวกันและธุรกิจค้าปลีกข้ามประเภท
- ผู้ประกอบการค้าปลีกโมเดิร์นเทรด หันเข้ามารุกทำการตลาดผ่านทางช่องทางออนไลน์ ต้องเผชิญกับการแข่งขันจากกลุ่มค้าปลีกออนไลน์รายย่อยหรือเอสเอ็มอี
- การแข่งขันของผู้ประกอบการต่างชาติ อาทิ จีน เกาหลีใต้ที่เข้ามาทำตลาดแบบ E-Market Place ในไทยมากขึ้น
ธุรกิจค้าปลีกในปี 2562 คาดการณ์จะเติบโต 2.6% ถือว่าเป็นตัวเลขไม่สวย มาจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยขยายตัวได้น้อย โดยแบงก์ชาติคาดการณ์ว่าจีดีพีเติบโตราว 2.8% ปกติค้าปลีกจะเติบโตต่ำกว่าจีดีพี 1-2% ซึ่งรัฐบาลพยายามเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจออกมาตรการ ชิม ช้อป ใช้ ช่วยกระเพื่อมเศรษฐกิจไทย ซึ่งมีผลแค่ในระยะสั้นเท่านั้น
สรุป
ความท้าทายของประเทศไทยจะนำธุรกิจค้าปลีกก้าวเข้าสู่ New Retail ได้อย่างไร โจทย์คือ การมีบริการใหม่และสร้างประสบการณ์การช้อปปิ้งใหม่ๆ นอกจากนี้การทำธุรกิจค้าปลีกจากนี้ไม่ใช่แค่การทำเฉพาะแค่ออนไลน์หรือออฟไลน์อีกต่อไป แต่ทุกอย่างต้องดีไซน์ประสบการณ์ออกมาให้เชื่อมโยงกันทั้งโลกออนไลน์และออฟไลน์ เพราะสุดท้ายแม้ว่าโลกออนไลน์จะเติบโต แต่มีลูกค้าจำนวนไม่น้อยที่ต้องการสัมผัสสินค้าและอาจจะมีซื้อผ่านออนไลน์
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา