เคาะแล้ว! สินค้าควบคุมปี 65 พร้อมมาตรการแก้ปัญหาเนื้อหมูราคาแพง

ครม. เห็นชอบกำหนดสินค้าควบคุมปี 2565 จำนวน 5 รายการตามมติคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการโดยแบ่งเป็นรายการสินค้าควบคุมเดิมปี 2564 จำนวน 4 รายการคือ

  1. หน้ากากอนามัย
  2. ใยสังเคราะห์ Polypropylene (Spunbond) เพื่อใช้สำหรับผลิตหน้ากากอนามัย
  3. ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ
  4. เศษกระดาษและกระดาษที่นำกลับมาใช้ได้อีก
  5. ไก่ เนื้อไก่ เนื่องจากราคาไก่ปรับตัวสูงขึ้น (เป็นรายการสินค้าควบคุมใหม่)

solution-pork-price-raise

ปัจจุบัน กระทรวงพาณิชย์ประกาศรายการสินค้าและบริการควบคุมแล้วรวมครั้งนี้จะเป็นจำนวนทั้งสิ้น 56 รายการ จากเดิม 51 รายการ เช่น ไข่ไก่ หมูและเนื้อหมู แชมพู ผงซักฟอก ข้าวสาร กระเทียม อาหารกึ่งสำเร็จรูป เครื่องแบบนักเรียน ค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น

ผู้เลี้ยงไก่และโรงชำแหละรวมทั้งโรงงานผลิตอาหารสัตว์ตามเกณฑ์ที่กำหนด ต้องแจ้งข้อมูลรัฐ โดยคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ กำหนดให้ผู้ประกอบการ ผู้ค้าและฟาร์มเลี้ยงไก่ต้องปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ดังนี้

  • ผู้เลี้ยงไก่ที่มีปริมาณการเลี้ยงตั้งแต่ 100,000 ตัวขึ้นไป และโรงชำแหละไก่ที่มีกำลังการผลิตมากกว่า 4,000 ตัวต่อวัน ต้องแจ้งปริมาณ สต็อก และต้นทุนราคาจำหน่ายทุกเดือน
  • โรงงานผลิตอาหารสัตว์ ที่มีอยู่ 55 โรง ต้องแจ้งต้นทุนราคาจำหน่าย ปริมาณการผลิต และสต็อก
  • การปรับราคาสินค้าจะต้องได้รับอนุญาตจากกรมการค้าภายในก่อน

มาตรการแก้ปัญหาเนื้อหมูราคาแพง

  1. งดส่งออกสุกรมีชีวิตเป็นเวลา 3 เดือน
  2. ช่วยเหลือราคาอาหารสัตว์แก่เกษตรกร
  3. สถาบันการเงินจัดสินเชื่อพิเศษเพื่อให้เกษตรกรกลับมาเลี้ยงใหม่
  4. ตรึงราคาจำหน่ายที่เหมาะสม สอดคล้องกับต้นทุน
  5. เพิ่มกำลังการผลิตแม่สุกรทดแทน
  6. ส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
  7. เร่งศึกษาวิจัยและสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคระบาด
  8. ยกระดับมาตรฐานฟาร์มเกษตรกรเพื่อป้องกันโรคระบาด
  9. ส่งเสริมให้ปรับปรุงเป็นฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรค
pig หมู
Photo by Lucia Macedo on Unsplash

จากข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันเข้าตรวจสต๊อกเนื้อสุกร หากพบการกักตุนหรือฉวยโอกาสขึ้นราคา จะถูกดำเนินคดีขั้นสูงสุด กรณีตรวจพบว่า มีการรายงานตัวเลขการครอบครองเนื้อสุกรไม่ตรงกับที่แจ้งพาณิชย์จังหวัด จะเข้าข่ายกักตุนหรือไม่นั้น เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบอย่างละเอียด

ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 กำหนดว่า กรณีที่ไม่แจ้งปริมาณสต๊อกถือว่ามีความผิด

  • มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี
  • ปรับไม่เกิน 20,000 บาท และ
  • ปรับอีกวันละ 2,000 บาทตลอดระยะเวลาฝ่าฝืน

กรณีแจ้งข้อมูลเป็นเท็จ จะมีความผิดอีก หากพบว่ากักตุนที่หมายถึงปฏิเสธการจำหน่าย ทั้งที่มีสินค้าและมีผู้ขอซื้อสินค้าเข้ามาแต่ไม่จำหน่าย

  • มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี
  • ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หากพบเห็นผู้กระทำผิดหรือสงสัยว่าเป็นการกระทำผิด สามารถแจ้งสายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225-6888 เพื่อให้จ้าหน้าที่ตรวจสอบและดำเนินการทันที

ที่มา – รัฐบาลไทย (1), (2)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา