ร้านอาหารแบกต้นทุนเพิ่ม 9-12% จากวิกฤติของแพง แม้การเงินยังเปราะบาง จากโควิด-19 หลายรอบ

ร้านอาหารอาจต้องแบกต้นทุนเพิ่ม 9-12% ของรายได้ จากวิกฤติของแพง ที่น่าเป็นห่วงสุดคือร้านอาหาร SME กว่า 3 แสนราย เพราะต้องแบกรับภาระเพิ่มแม้เปราะบางทางการเงิน

ร้านอาหาร แบกรับต้นทุนเพิ่ม 9-12% ของรายได้

จากปัญหาราคาสินค้าทะยานอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ในปี 2565 ร้านอาหารจะต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มกว่า 9-12% ของรายได้ จากคาดการณ์ของศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจธนาคารทีเอ็มบีธนชาติ (ttb analytics)

ttb analytics ประเมินผลกระทบจากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนและรายได้ โดยการวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนด้วยตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Out table) และแนวโน้มราคาสินค้าที่ได้รับผลกระทบปัญหา Supply Shock รวมถึงทิศทางราคาวัตถุดิบอยู่ในระดับสูงในช่วงครึ่งแรกของปี 2565  

โดยพบว่าต้นทุนกลุ่ม SMEs ร้านอาหารอยู่ที่ 67.3% และมีกำไรขั้นต้นที่ 32.8% ทั้งนี้ ปัญหาราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาทำให้ต้นทุนการขายเพิ่มสูงขึ้นเป็น 76.0 – 78.6% ส่งผลให้กำไรลดลงเหลือเพียง 21.2% – 23.9%

รายย่อยรายได้ต่ำ เปราะบาง แต่ต้องแบกภาระเพิ่ม

กลุ่มที่น่าเป็นห่วงจากเรื่องนี้คือผู้ประกอบการร้านอาหาร SME ที่มีอยู่กว่า 335,758 ราย โดยเฉพาะร้านรายย่อย (Micro) เพราะต้องแบกรับภาระจากวัตถุดิบที่แพงขึ้นหลายอย่าง ทั้งๆ ที่มีรายได้ไม่สูงและเปราะบางทางการเงิน

ttb analytics ชี้ว่าตอนนี้ ร้านอาหารรายย่อยที่มีฐานรายได้ไม่สูงเริ่มได้ผลกระทบชัดเจน จึงมีความจำเป็นต้องขึ้นราคาอาหาร เพื่อรักษากำไรให้ใกล้เคียงกับก่อนเกิดวิกฤติต้นทุนสินค้าแพงในปัจจุบัน 

นอกจากนี้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ระบุว่า ร้านอาหารรายย่อยที่มีฐานรายได้ไม่ถึง 41,500 บาท/เดือน กว่า 3 แสนราย ต้องเจอกับปัญหา กำไรไม่เพียงพอกับค่าครองชีพ มีความจำเป็นต้องทยอยปรับราคาสินค้า รองรับต้นทุนที่สูงขึ้น

ภาครัฐต้องเร่งดูแล ไม่ซ้ำเติมประชาชน

โดยทาง ttb analytics ตั้งประเด็นเอาไว้ว่าราคาวัตถุดิบและอาหารที่สูงขึ้น ยิ่งเพิ่มเติมภาระกับภาคประชาชนที่ยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 หลายระลอก และผู้บริโภครายได้น้อยที่ถูกลดทอนกำลังซื้อจากปัญหาค่าครองชีพสูง

ดังนั้น จึงได้เสนอ 3 แนวทางรับมือภาวะต้นทุนแพงที่ภาครัฐสามารถเข้าไปช่วยเหลือ SMEs ดังนี้

  1. โครงการช่วยเหลือของภาครัฐที่ตอบโจทย์ปัญหา โดยสามารถเร่งรัดโครงการช่วยเหลือไปยังกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น นโยบายคนละครึ่งเฟส 4 เนื่องจากเงินอุดหนุนในโครงการนี้ นอกจากเป็นการช่วยภาระค่าใช้จ่ายภาคประชาชนแล้ว ยังสามารถส่งผ่านไปยังผู้ประกอบการได้โดยตรง
  2. นโยบายดูแลควบคุมราคาสินค้าวัตถุดิบให้สอดคล้องกับอุปสงค์และอุปทานของตลาด ภาครัฐอาจขอความร่วมมือผู้ประกอบการรายกลางและรายใหญ่ในการตรึงราคาชั่วคราว เนื่องจากผู้ประกอบการสองกลุ่มดังกล่าวมีฐานรายได้ที่สูงจึงยังสร้างกำไรสุทธิที่เพียงพอสำหรับกิจการ รวมถึงรัฐควรมีนโยบายเพื่อจัดการปัญหาต้นทุนแพงเพื่อรองรับสถานการณ์หลังเม็ดเงินจากนโยบายช่วยเหลือหมดลง เช่น การตรึงราคาวัตถุดิบอื่นที่ไม่มีปัญหาเรื่องอุปทานสินค้า เช่น ข้าวสาร ไข่ไก่ หรือ เครื่องปรุงแต่งอาหาร นอกจากนี้ การรณรงค์การบริโภคกลุ่มเนื้อสัตว์ที่มีระยะเลี้ยงสั้น เพื่อเป็นสินค้าทดแทนในช่วงการขึ้นของราคาวัตถุดิบ
  3. การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล ผู้บริโภคควรเริ่มจัดการบริหารค่าใช้จ่ายให้มากขึ้น เช่น ครอบครัวใหญ่อาจเริ่มหันมาประกอบอาหารเองเพื่อลดต้นทุน รวมถึง เลือกใช้วัตถุดิบทดแทนที่ราคายังไม่ปรับตัวสูง เพื่อเป็นการลดรายจ่าย ส่วนผู้ประกอบการสามารถปรับลดสัดส่วนวัตถุดิบราคาแพง แล้วหันไปใช้วัตถุดิบทดแทนเพิ่มขึ้น เพื่อลดต้นทุนเฉลี่ย ซึ่งหากมีการเลือกใช้วัตถุดิบทดแทน อาจทำให้สินค้าที่ปรับราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในขณะนี้ มีแนวโน้มปรับขึ้นช้าลงหรืออาจปรับลดในระยะเวลาอันใกล้นี้ที่สั้นลง

ที่มา – ttb analytics

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน