การดูแลสุขภาพ ทั้งการออกกำลังกาย การควบคุมอาหาร รวมถึงการดูแลการใช้ชีวิตประจำวันของตัวเอง กลายเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน
จากกระแสการดูแลสุขภาพ ทำให้อุปกรณ์อัจฉริยะที่ใช้ในการตรวจจับการใช้ชีวิตประจำวันได้รับความนิยมมากขึ้น เฉพาะนาฬิกา Apple Watch เพียงเจ้าเดียว สามารถทำยอดขายไปได้กว่า 30.7 ล้านเรือน เมื่อปี 2019 (สถิติจาก Strategy Analytics) เช่น การใช้แอปพลิเคชัน และนาฬิกาสมาร์ทวอช เพื่อตรวจจับการออกกำลังกาย วัดชีพจร การนอนหลับ รวมถึงติดตามการรับประทานอาหารเพื่อคำนวนปริมาณพลังงานที่ได้รับ ซึ่งแน่นอนว่าอุปกรณ์เหล่านี้มีประโยชน์ในการช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์ข้อมูลของร่างกายได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น
แต่ในความจริงแล้วเหรียญมีสองด้านเสมอ การใช้งานอุปกรณ์เพื่อตรวจจับการใช้ชีวิตอาจไม่ได้มีแต่ข้อดีเพียงอย่างเดียวเสมอไป เพราะผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตจาก YoungMinds ซึ่งเป็นหน่วยงานการกุศลเกี่ยวกับสุขภาพจิตในเด็ก พบว่า การเชื่อข้อมูลบนอุปกรณ์ Fitness Tracking มากเกินไป อาจมีผลเสียต่อสุขภาพจิต จากการออกกำลังกายที่ขาดความพอดี รวมถึงการควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัดมากเกินไป
ยิ่งรวมกับปัญหาการเข้าถึงข้อมูลทางการแพทย์แบบผิดๆ บนอินเตอร์เน็ต ยิ่งสร้างความเครียด เพิ่มความกังวลในการใช้ชีวิต โดยเฉพาะการค้นหาอาการป่วยที่เป็น บางครั้งอาจพบว่าตัวเองกลายเป็นโรคร้ายแรง เช่น มะเร็ง แทนที่เจออาการป่วยที่เป็นจริงๆ
Emma Rich นักวิจัยจาก University of Bath เคยทำการศึกษาพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ตของวัยรุ่นอายุ 13-18 ปี จำนวน 1,019 คน พบว่า ผู้เข้าร่วมวิจัยหลายคนใช้อุปกรณ์และแอปพลิเคชันเพื่อติดตามการนอนหลับ การทานอาหาร อัตราการเต้นของหัวใจ รวมถึงรอบประจำเดือน แต่ผู้เข้าร่วมวิจัยเหล่านี้กลับไม่ได้รู้สึกถึงความต้องการของร่างกายอย่างแท้จริง แม้จะมีข้อมูลที่ได้จากอุปกรณ์ต่างๆ ก็ตาม
Emma Rich แสดงความกังวลว่า คนส่วนใหญ่ถูกดึงดูดให้ใช้อุปกรณ์ Finess Tracking เพราะอุปกรณ์เหล่านี้มักทำแอปพลิเคชันออกมาในรูปแบบของเกม เพื่อสร้างความน่าสนใจ ให้ผู้ใช้งานตั้งเป้าหมายการออกกำลังกาย และแชร์ให้เพื่อนๆ คนอื่นรับรู้ด้วย Rich แนะนำว่า ในหลักสูตรการศึกษานอกจากจะต้องสอนเรื่องความรู้เท่าทันการใช้งานอินเตอร์เน็ตแล้ว ควรสอนเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพด้วยเช่นกัน
ที่มา – bbc, Strategy Analytics
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา