ผลสำรวจความคิดเห็ฯของเยาวชนไทยโดยไมโครซอฟท์ ได้จัดอันดับให้ AI และ IoT เป็นนวัตกรรมที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุด และจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ทำให้เยาวชนไทยเล็งเห็นถึง ปัญหาจากบทบาทที่เพิ่มมากขึ้นของเทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน ได้แก่ โอกาสด้านอาชีพการงานที่ลดลง ความห่างเหินกันระหว่างผู้คน และความปลอดภัยหรือความเป็นส่วนตัวที่ลดน้อยลงในโลกยุคดิจิทัล
ไมโครซอฟท์ได้เปิดเผยผลการสำรวจหัวข้อ อนาคตด้านดิจิทัลในเอเชีย (Microsoft Asia Digital Future Survey) ในกลุ่มคนอายุ 18-24 ปี จำนวน 1,400 คนทั่วเอเชียแปซิฟิก เช่นน ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวันและเวียดนาม ซึ่งมีตัวแทน 100 คนจากประเทศไทย
AI และ IoT เทคโนโลยีเปลี่ยนชีวิตประจำวัน
เยาวชนไทยจัดให้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Internet of Thing (IoT) เป็นเทคโนโลยีอันดับต้นๆ ที่จะเข้ามามีอิทธิพลเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตผู้คน เพราะไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ได้เกิดอุปกรณ์ล้ำสมัยใหม่ๆ รวมทั้งคลาวด์และโลกข้อมูลที่ประสานพลังกันทำให้วิสัยทัศน์ที่มองอนาคตว่า AI และ IoT จะก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตแบบดิจิทัลของมนุษย์อย่างแยกไม่ออก มีความชัดเจนมากขึ้น
AI ยังเกี่ยวข้องกับการสร้างจักรกลอัจฉริยะ หรืองานบริการที่ตอบโต้เหมือนมนุษย์ – ฟีเจอร์ที่เริ่มพบได้ในแทบทุกอย่างตั้งแต่การแปลภาษา ไปจนถึงผู้ช่วยเสมือนหรือวิดีโอเกมส์ การนำเอาศักยภาพของ AI เข้ามาทำงานซ้ำๆ เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมาก การจดจำคำพูด การแก้ปัญหาจะช่วยให้ผู้คนบรรลุเป้าหมายได้มากขึ้นในขณะที่ทำงานน้อยลง หรือการเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่งานนั่นเอง
IoT หมายถึง เครือข่ายของวัตถุที่เชื่อมต่อเข้ากับอินเทอร์เน็ต ที่สามารถสื่อสารระหว่างกัน ระหว่างอุปกรณ์ และข้ามระบบได้ ซึ่งกำลังเติบโตขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่เซนเซอร์บนท้องถนน เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน อุปกรณ์สวมใส่ และยานพาหนะ
เทคโนโลยีใหม่ จะสร้างให้เกิดอะไรใหม่บ้าง
การสำรวจได้ถามเจาะลึกไปอีกถึงการจัดอันดับ 3 สถานการณ์ที่ใช้เทคโนโลยี AI ซึ่งคนกลุ่มนี้คาดว่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงยิ่งใหญ่ที่สุดต่อการดำเนินชีวิตของพวกเขาในอนาคต
- รถยนต์ที่ติอต่อกันได้และไม่ต้องมีคนขับ (46%)
- ซอฟท์แวร์บอทที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน (25%)
- หุ่นยนต์ (20%)
ในขณะเดียวกัน กลุ่มคนเจเนอเรชั่นใหม่นี้ยังคาดว่า IoT จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตใน 3 เรื่อง
- สมาร์ทโฮม บ้านแสนฉลาดที่อุปกรณ์ไฟฟ้าสามารถ “พูดคุย” กันเองได้ (42%)
- ระบบจัดการจราจรที่สามารถช่วยย้ายถ่ายเทรถยนต์ไปยังท้องถนนที่โล่งกว่าได้อย่างเรียลไทม์ (24%)
- อาคารชาญฉลาดที่สามารถปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานในอาคารได้ตามสภาวะอากาศและจำนวนผู้อยู่อาศัย (24%)
VR/MR/AR สิ่งที่จะตามมาเป็นระลอกถัดไป
เทคโนโลยีความจริงเสริม คือการนำเอาโลกเสมือนไปวางอยู่ในโลกแห่งความจริง ขณะที่ความจริงเสมือน คือการสร้างความรู้สึกแบบโลกแห่งความจริงมาไว้ข้างในโลกเสมือน ส่วนความจริงผสมรวบรวมเอาทั้งสองส่วนประกอบเข้าด้วยกัน โดยขณะที่ผู้ใช้กำลังท่องไปในโลกความจริงก็จะสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับวัตถุเสมือนได้ เห็นและสัมผัสมันได้ โดยจำลองความรู้สึกในมิติต่างๆ เช่น การสัมผัสได้ถึงความลึกของวัตถุเสมือน เป็นต้น
การสำรวจยังค้นพบอีกว่า กลุ่มคนเจเนอเรชั่นนี้มองหาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยเหลือพวกเขาเพื่อ
- อำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อพวกเขาเข้ากับเพื่อนร่วมงาน
- ช่วยยกระดับสุขภาพทางร่างกายและจิตใจ
- ช่วยเสริมความสามารถ เพิ่มโอกาสการจ้างงานมากขึ้น
เตรียมพร้อมเพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลง
ศิริพร พัชรวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย ของ ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) บอกว่า เยาวชนมากกว่า 60% ของทั้งโลกอยู่ในโซนเอเชียแปซิฟิก ซึ่งจะเป็นภูมิภาคที่ขับเคลื่อนการปฏิวัติดิจิทัลให้กับโลก จึงเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นที่จะได้ทำความเข้าใจกับความคิดอ่านของกลุ่มคนไทยเจเนอเรชั่นใหม่กลุ่มนี้ว่าพวกเขามีมุมมองต่อนวัตกรรมในอนาคตอย่างไรบ้าง
แม้ว่ากว่า 70% ของเยาวชนไทยที่เข้าร่วมทำการสำรวจนี้จะรู้สึกว่าประเทศไทยมีความพร้อมต่อการเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะพลิกรูปแบบการดำเนินชีวิต แต่พวกเขาก็ยังมีข้อกังวลใหญ่ๆ อยู่จำนวนหนึ่ง ได้แก่
- ความเป็นไปได้ที่อาจตกงาน (30%)
- ความสัมพันธ์ระหว่างคนกลายเป็นเรื่องผิวเผิน ห่างเหิน (29%)
- ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว (17%)
คนจำนวนมากมีความกังวลถึงเรื่องที่อาจจะตกงานหรือไม่สามารถแข่งขันในตลาดแรงงานได้ สะท้อนว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนสำหรับทั่วโลกที่จะต้องให้ความรู้และพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลเพื่อการทำงานในยุคศตวรรษที่ 21
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ เรื่องของความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว ซึ่งถือเป็นปัญหาที่ทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ในยุคดิจิทัล เนื่องจากมีอุปกรณ์จำนวนมหาศาลรอบตัวเราที่เชื่อมต่อถึงกัน จึงทำให้ช่องโหว่หรือความเสี่ยงเพียงจุดเดียวสามารถสร้างความเสียหายได้อย่างใหญ่หลวง ดังนั้น ทุกภาคส่วนในสังคม นับตั้งแต่นักวิจัยและนักพัฒนาไปจนถึงผู้ใช้งานทั่วไป จะต้องร่วมแรงร่วมใจกันและประพฤติตนอย่างรับผิดชอบ เพื่อรักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของทุกคน
เมื่อถามถึงชีวิตในวันข้างหน้า เยาวชนไทยเชื่อว่าการจะประสบความสำเร็จในอนาคตได้นั้น จะต้องอาศัยสถาบันการศึกษาที่สามารถสร้างความพร้อมให้นักเรียนมีทักษะที่ทันยุคสมัย เพื่อนำเอานวัตกรรมในอนาคตมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (57%) ตามด้วยการทำให้เทคโนโลยีในอนาคตมีราคาไม่แพงและสามารถเข้าถึงได้ (17%) และการสร้างสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้อต่อสตาร์ทอัพ (13%)
นอกจากนั้นแล้วกลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านี้ยังแสดงความเชื่อมั่นว่าความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (49%) จะมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการพลักดันนวัตกรรมใหม่ๆ มากกว่าการที่รัฐบาลเดินหน้าอยู่เพียงฝ่ายเดียว (20%) หรือภาคเอกชนทำเพียงลำพัง (16%)
source: ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย)
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา