ข้อมูลของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่า โรคที่พระสงฆ์และสามเณรอาพาธมาเข้ารับการรักษามากที่สุดคือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ได้แก่ โรคไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน รวมทั้งไตวายเรื้อรังและข้อเข่าเสื่อม
หนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้พระสงฆ์เกิดความเจ็บป่วยนั้น ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการได้รับอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ เป็นอาหารที่มีรสหวานจัด เค็มจัด และมีไขมันมากเกินไป ซึ่งเสี่ยงต่อการก่อโรค NCDs
ข้อมูลที่น่าสนใจพบว่า ปัจจุบันคนส่วนใหญ่นิยมเลือกซื้อหาอาหารใส่บาตรตามที่ตนสะดวก ด้วยไม่มีเวลาประกอบอาหารใส่บาตรด้วยตนเอง ร้านค้าที่ขายอาหารใส่บาตรจึงเป็นตัวเลือกที่สำคัญในการทำบุญใส่บาตร โดยจะพบเห็นได้ตามตลาดทั่วไป ที่มีพ่อค้าแม่ค้าตั้งร้านขายกับข้าวชุดใส่บาตร ราคาเริ่มตั้งแต่ 50 – 100 บาท
รายการอาหารที่พบได้จากกับข้าวชุดใส่บาตรส่วนใหญ่คือ ไข่พะโล้ แกงกะทิ ผัดผักมีน้ำมันเยิ้ม ต้มจืดที่มีปริมาณโปรตีนจากเนื้อสัตว์น้อยมาก และขนมหวานที่มีชื่อมงคล ส่วนใหญ่เป็นรายการอาหารซ้ำ ๆ กัน ทำให้ตัวเลือกในการเลือกซื้ออาหารที่เอื้อต่อสุขภาพพระสงฆ์มีข้อจำกัด พระสงฆ์จึงต้องพิจารณาการขบฉันจากอาหารที่ฆราวาสนำมาถวาย จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า คุณค่าด้านโภชนาการที่พระสงฆ์ได้รับจากอาหารที่ได้รับถวายนั้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อสุขภาพของพระสงฆ์ไม่มากก็น้อย ดังนั้น ทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการในตลาดอาหารสำหรับการทำบุญใส่บาตรจึงเป็นภาคส่วนสำคัญในการเกื้อหนุนสุขภาพพระสงฆ์
Brand Inside มีโอกาสได้พูดคุยกับ รองศาสตราจารย์ ดร. ฐิตินัน บุญภาพ คอมมอน อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการสงฆ์ไทยไกลโรค ซึ่งได้ให้ข้อมูลว่า สภาพสังคมที่พัฒนาสู่ความเป็นเมือง ส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตที่เร่งรีบ มีข้อจํากัดในการเลือกหาอาหารมาถวายใส่บาตร
จากข้อมูลการศึกษาวิจัยของโครงการสงฆ์ไทยไกลโรคพบว่า ประชาชนผู้บริโภคต้องเลือกอาหารใส่บาตรตามความสะดวกจากตัวเลือกอาหารเท่าที่มีให้เลือกซื้อหาในตลาด โดยพบข้อมูลที่น่ายินดีว่า ผู้ทําบุญใส่บาตรส่วนใหญ่พยายามเลือกซื้อหาอาหารด้วยการคํานึงถึงคุณค่าทางโภชนาการจากรายการอาหารตามที่ร้านค้ามีให้เลือก ผลการศึกษาวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคของโครงการสงฆ์ไทยไกลโรคยังชี้ว่า ผู้บริโภคยินดีจะจ่ายเงินหากราคานั้นเหมาะสมกับคุณภาพของอาหารที่นำมาใส่บาตรเพื่อสุขภาพของพระสงฆ์
ทั้งนี้ ผลการศึกษาของโครงการสงฆ์ไทยไกลโรคยังพบด้วยว่า ค่านิยมและความเชื่อที่ว่า “พระสงฆ์เป็นสะพานบุญ ”หรือ“ไปรษณีย์บุญ” นําพาอาหารที่ได้รับ จากญาติโยมส่งไปยังผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ยังคงเป็นความเชื่อที่ฝังรากลึกในสังคมไทย โดยประชาชนชาวไทยมีความเชื่อว่าอาหารที่ถวายแด่พระสงฆ์จะตกไปถึงบรรพบุรุษและญาติผู้ล่วงลับไปแล้วและมักเลือกถวาย อาหารตามความชอบของบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ
ดร. ฐิตินัน บอกว่า จากผลสำรวจข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับผู้บริโภค (Customer Insight) และพฤติกรรมผู้บริโภค (Customer Behaviour) ในงานวิจัย “ค่านิยมและพฤติกรรมการใส่บาตรของประชาชนชาวไทย” โดย โครงการสงฆ์ไทยไกลโรค พบว่า 54.07% ของประชาชนเลือกซื้ออาหารสําเร็จจาก ร้านที่ตนเองรับประทานเป็นประจํามาใส่บาตร และ 29.69% เลือกซื้ออาหารชุดตักบาตรตามจุดที่มีบริการ
ด้านปัจจัยหรือเหตุผลในการเลือกอาหารที่นํามาถวายใส่บาตรพบว่า 49.07% เลือกตามสะดวกหรือตามแต่ที่มีให้เลือก โดย 40.92% เลือกจากคุณค่าทางโภชนาการของอาหาร และ 38.53% เลือกอาหารที่บรรพบุรุษหรือผู้ที่ล่วงลับไปแล้วชอบ
เมื่อพิจารณาผลสำรวจเกี่ยวกับความเชื่อของประชาชนที่ว่าพระสงฆ์เป็นสะพานบุญหรือไปรษณีย์บุญ นำพาอาหารที่ได้รับไปยังผู้ล่วงลับไปแล้วนั้น พบว่ามีสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่ง คือ 47.14% ประชาชนส่วนใหญ่จึงมักเลือกถวายอาหารตามความชอบของบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ
โครงการสงฆ์ไทยไกลโรค มีจุดมุ่งหมายในการสื่อสารรณรงค์ให้สังคมเกิดความเข้าใจในการดูแล สุขภาพของพระสงฆ์ โดยต้องการสร้างความตระหนักว่า การทําบุญใส่บาตรของฆราวาสการเป็นสิ่งที่มีความ เชื่อมโยงกับสุขภาพของพระสงฆ์ เพราะตามหลักพระธรรมวินัยแล้วนั้น พระสงฆ์ไม่สามารถเรียกร้องหรือปฏิเสธ อาหารที่ญาติโยมนํามาถวายได้ ด้วยพระสงฆ์ต้องพึ่งพาอาหารที่ฆราวาสญาติโยมนํามาถวายใส่บาตร ดังนั้นสุขภาพ ของพระสงฆ์จึงเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับทั้งตัวของพระสงฆ์ท่านเองและฆราวาส
ทั้งนี้ ความเชื่อและความศรัทธาในการทำบุญใส่บาตรนับเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้พุทธศาสนิกชนที่มีจิตศรัทธาได้ถวายอาหารใส่บาตร สงฆ์ไทยไกลโรคจึงเชิญชวนประชาชนชาวไทย ร่วมใส่ใจใส่บาตร ถวายอาหารที่เอื้อต่อสุขภาพของพระสงฆ์ เพื่อเกิดเป็นบุญคุณภาพที่เกื้อหนุนต่อทั้งความเชื่อความศรัทธาและสุขภาพของพระสงฆ์และสามเณร
อ่านผลสำรวจ “ค่านิยมและพฤติกรรมการใส่บาตรของประชาชนชาวไทย” ฉบับเต็มได้ทางเฟซบุ๊ก สงฆ์ไทยไกลโรค official https://www.facebook.com/share/p/t3jrftsijvK9uBbN/?mibextid=Nif5oz
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา