ความเคลื่อนไหวของวงการยานยนต์โลกที่น่าจับตาที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา ถ้าไม่นับเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าที่ Tesla เรียกความสนใจตามหน้าสื่อได้อย่างต่อเนื่องแล้ว ย่อมหนีไม่พ้นการผนึกกำลังเป็นพันธมิตรของ 3 ค่ายรถยักษ์ใหญ่ Renault-Nissan-Mitsubishi
ขั้วของ Renault–Nissan Alliance ผนึกกำลังกันมาหลายปีแล้ว ภายใต้การนำของ Carlos Ghosn ซีอีโอเชื้อสายบราซิล-ฝรั่งเศสที่พลิกฟื้นกิจการของกลุ่มพันธมิตรจากเกือบล้มละลาย ให้กลับมาได้อย่างยิ่งใหญ่ และงานสำคัญชิ้นต่อมาของ Ghosn คือการเข้าซื้อหุ้น 34% ของ Mitsubishi Motors คู่แข่งเพื่อนร่วมชาติของ Nissan Motors กลายเป็นขุมพลังสามประสานในที่สุด (อ่านรายละเอียดในบทความ Carlos Ghosn ลงจากตำแหน่งซีอีโอ Nissan หันไปโฟกัสพันธมิตร Renault)
การรวมพลังของ Renault-Nissan-Mitsubishi ทำให้ตอนนี้ทางกลุ่มมียอดขายรถยนต์ปี 2016 รวมกันที่ 9.96 ล้านคัน ถือเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจาก Volkswagen Group, Toyota และ GM แถมยอดขายในปี 2017 ครึ่งแรกก็ยังโดดเด่น ขายได้ 5.2 ล้านคัน นำหน้าคู่แข่งทุกรายแล้ว
ล่าสุดท่านประธาน Ghosn ออกมาแถลงแผนการทำงานของกลุ่มพันธมิตรในระยะ 6 ปี (2018-2022) โดยเรียกแผนการนี้ว่า Alliance 2022
ภายใต้แผนงานนี้กำหนดเป้าหมายว่า ยอดขายรถยนต์ของกลุ่มจะต้องเติบโตแตะหลักปีละ 14 ล้านคันในปี 2022 และมีรายได้รวมกัน 240 ล้านดอลลาร์ต่อปี
แบรนด์รถยนต์ภายในเครือทุกแบรนด์จะต้องผลิตอยู่บน “แพลตฟอร์ม” เดียวกัน โดยแบ่งออกเป็น 4 แพลตฟอร์มหลักตามประเภทของรถยนต์ ทางกลุ่มยังจะพัฒนาระบบส่งกำลังรถยนต์ (powertrain หมายถึงเครื่องยนต์ เกียร์ สายพาน) ตัวใหม่ที่ใช้งานในรถยนต์ 75% ของกลุ่มพันธมิตรด้วย
ในฝั่งของเทคโนโลยี กลุ่มพันธมิตรจะวางขายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั้งหมด 12 รุ่นบนแพลตฟอร์ม EV ตัวใหม่เดียวกัน และจะนำเทคโนโลยีช่วยขับขี่อัตโนมัติ (autonomous drive ในที่นี้อาจไม่อัตโนมัติทั้งหมด 100% แต่ช่วยขับขี่ได้บางส่วน) มาใช้กับรถยนต์ 40 รุ่น
สุดท้าย กลุ่มพันธมิตรยังประกาศว่าจะเข้าสู่ธุรกิจบริการเรียกรถยนต์ (ride-hailing แบบ Uber) ที่เป็นรถยนต์ไร้คนขับด้วย
ประเด็นเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า EV เป็นสิ่งที่น่าจับตา เพราะนิสสันเองถือเป็นเจ้าตลาดรถยนต์ไฟฟ้า จากยอดขาย Nissan Leaf เกือบ 300,000 คันทั่วโลก ถือเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ขายดีที่สุดในตอนนี้ (แม้ความดังตามหน้าสื่อจะสู้ Tesla ไม่ได้แต่ขายดีกว่ากันมาก) ส่วนค่าย Renault ก็มีรถยนต์ไฟฟ้าหลายรุ่น เช่น Zoe วางขายในยุโรปและมียอดขายรวม 125,000 คัน
ด้วยฐานลูกค้าและประสบการณ์ด้าน EV ของกลุ่มพันธมิตร Alliance 2022 จึงน่าสนใจว่า การผลักดันรถยนต์ EV ใหม่จำนวน 12 รุ่นในอีก 6 ปีข้างหน้า จะสามารถเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมรถยนต์ได้แค่ไหน เพราะรถยนต์ 70% ของที่จะเปิดตัวจะอยู่บนแพลตฟอร์มการผลิตเดียวกัน การแชร์เทคโนโลยีระหว่างแบรนด์น่าจะทำได้ง่ายขึ้น และวัดจากปริมาณรถยนต์ที่จะวางขายแล้ว การจัดซื้อชิ้นส่วนหรือการควบคุมต้นทุนก็น่าจะทำได้ดีกว่าคู่แข่งด้วย
ต้องบอกว่าการรวมกลุ่มเป็นพันธมิตรของค่ายรถยนต์ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่การรวมกลุ่มของพันธมิตร Alliance 2022 ที่มีรถยนต์แบรนด์ใหญ่ๆ ถึง 3 ค่าย บวกกับยอดขายจำนวนมหาศาล และข้อได้เปรียบเรื่องเทคโนโลยีที่เดินหน้ามานาน ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด น่าจะทำให้กลุ่ม Alliance 2022 ขึ้นมาเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลก (อาจจะไม่ถึงขั้นเบอร์ 1 ถาวร แต่อย่างน้อยก็น่าจะ Top 3) ได้สำเร็จตามเป้า
ที่มา – Alliance 2022
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา