ปี 2019 ตลาดกองทุนฯ อสังหาริมทรัพย์โต 22% บลจ.บัวหลวงเตรียมเปิด IPO อีก 2 กอง

ช่วงนี้หุ้นไทยปรับขึ้นมา 12% เข้าใกล้ดัชนีหุ้นไทยที่ 1,790 จุดไปทุกที หลายคนเลยกลัวว่าจะเกิดช่วง “ทุบ” หรือการเทขายหุ้นเพื่อทำกำไรตอนไหน เมื่อมีความไม่แน่นอนนักลงทุนเลยเลือกไปหาอย่างอื่นที่มีรายได้แน่นอนกว่า อย่างกองทุนรวมในธุรกิจอสังหาสริมทรัพย์

เพราะตอนนี้กองทุนรวมด้านอสังหาริมทรัพย์และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เติบโต 22% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ภาพจาก Unsplash

คนแห่ลงทุนซื้อกองทุนรวม อสังหา REIT Property fund  กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน

พรชลิต พลอยกระจ่าง รองกรรมการผู้จัดการ Head of Real Estate & Infrastructure Investment บลจ.บัวหลวง บอกว่า ในไทยการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ผ่านกองทุนรวมน่าสนใจยิ่งขึ้น เพราะปัจจุบันมูลค่าตลาดกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (PFPO), ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (IFF) เดือนมิ.ย.อยู่ที่ 790,000 ล้านบาท เติบโต 22% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือว่าเติบโตกว่าดัชนี SET ของไทยที่โตราว 12%

“ช่วงอัตราดอกเบี้ยต่ำ นักลงทุนก็มองหาผลตอบแทนมากขึ้นเลยเลือกมาลงทุนใน PFPO, REIT และ IFF ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 6-7% และถ้าดูอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ตั้งแต่ปี 2557-2562 อยู่ที่ 12% ต่อปี”

ทั้งนี้ในประเทศไทยกองทุนรวมกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ 55% เป็น PFPO, REIT และอีก 45% เป็น IFF ซึ่งปีหน้าสัดส่วนจะเพิ่มขึ้นจากโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐจะออกมาเพิ่มเติม เช่น มอเตอร์เวย์ ฯลฯ แต่ตอนยอมรับว่ากองทุนรวมหมวดอสังหาริมทรัพย์ยังมีสัดส่วน 4% ของมูลค่าตลาดหุ้นไทยโดยรวม

ข้อดีของกองทุนรวมด้านอสังหาริมทรัพย์

  • กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับภาษีรายได้ส่วนบุคคลจากเงินปันผลที่ได้รับเป็นเวลา 10 ปี นับจากวันที่จัดตั้งกองทุน
  • นโยบายการจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 90% ของกำไรจากการดำเนินการหลังการปรับปรุงแล้ว
  • รายได้มีความสม่ำเสมอ เพราะเป้นรายได้จากค่าเช่า
  • โอกาสได้รับผลกำไรส่วนต่างจากราคาหลักทรัพย์
  • การลงทุนขั้นต้นใช้เงินลงทุนน้อยกว่า เมื่อเทียบกับการถือครองอสังหาริมทรัพย์
ภาพจาก Shutterstock

บลจ.บัวหลวงเตรียมออก 2 กองใหม่ Yieldl สูง

ปัจจุบัน บลจ.บัวหลวง มีกองทุนรวมด้านอสังหาริมทรัพย์มีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 20% ของตลาดรวม ทั้งนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อเปิดกองทุนรวมด้านอสังหาริมทรัพย์อีก 2 กองทุน ได้แก่

  • กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี (SUPEREIF) ซึ่งจะเปิดขาย IPO 22-26 ก.ค. ,30-31ก.ค. 2562 โดยอสังหาริมทรัพย์ที่เข้ากองมาคือ โรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จาก บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยีกรุ๊ป จำกัด
    ตั้งเป้าระดมทุนไม่เกิน 8,500 ล้านบาท (มาจากนักลงทุนรายย่อยประมาณ 5,000 ล้านบาทและกู้เงินจากธนาคารราว 3,000 ล้านบาท)
    รวมเงินที่คาดว่าจะจ่ายให้ผู้ถือหน่วยลงทุน (12 เดือนแรก) : 7.49% 
  • ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ บัวหลวง เค.อี. รีเทล (BKER) อยู่ระหว่างยื่นไฟล์ลิ่ง กับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ทั้งนี้ทรัพย์ในกองเป็น Leasehold (สิทธิการเช่า) จากธุรกิจ Retail เช่น เดอะ คริสตัล เอกมัย-รามอินทรา ฯลฯ
    มูลค่ากองทุนรวมคาดว่าจะอยู่ราว 11,300 ล้านบาท
    ด้านผลตอบแทนต้องรอความชัดเจนจากการยื่นไฟล์ลิ่ง

สรุป

ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง สำหรับกองทุนอสังหาริมทรัพย์ถ้ามีการจ่ายเงินปันผล (หรือจ่ายเงินคืนทุน) ออกมา AUM หรือทรัพย์สินในกองทุนนั้นก็ลดลงและอาจทำให้ NAV หรือราคากองทุนนั้นลดลงไปด้วย นอกจากนี้ยังต้องอ่านรายละเอียดทรัพย์แต่ละกองฯ ให้ดีเพราะมีทั้งแบบ Freehold Leasehold รวมถึงราคาช่วงที่เข้าซื้อว่าเหมาะสมกับกำไรที่จะได้มาไหม และที่ผ่านมาก็มีขกองทุนรวมฯ บางตัวที่จ่ายปันผลไม่ได้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา