ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เปิดเผยว่า โครงสร้างประชากรของไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบในอีก 1 – 2 ปีข้างหน้า (มีผู้สูงอายุกว่า 60 ปี ในสัดส่วน 20% ของประชากรไทย) และปี 2578 จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 28% ในปี 2578 แต่ในด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับผู้สูงอายุในปัจจุบันยังคงเติบโตช้า และไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้สูงอายุในปัจจุบัน
วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ในช่วง 5-6 ปีนี้โครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุขยายตัวขึ้นอย่างมาก แต่ยังกระจุกตัวในบางพื้นที่เท่านั้น
ทั้งนี้ จากปัจจุบันไทยมีจำนวนผู้สูงอายุ 12.9 ล้านคน ซึ่งคาดว่าจะมีผู้สูงอายุที่ต้องการที่อยู่อาศัยประมาณ 5% หรือประมาณ 650,000 คน แต่อาจมีผู้สูงอายุที่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุเพียง 1.0% (ประมาณ 130,000 คน) ขณะที่ในปัจจุบันมีที่อยู่อาศัยรองรับผู้สูงอายุได้เพียงไม่เกิน 20,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีจำนวน 435 แห่ง และรองรับได้ประมาณไม่เกิน 12,000 คน (สัดส่วนเกิน 50% ทั้งประเทศ)
นอกจากนี้ โครงการที่มีการพัฒนาขึ้นส่วนใหญ่เป็นการรองรับกลุ่มคนที่มีฐานะปานกลางค่อนข้างดีและฐานะดีขึ้นไป ทำให้กลุ่มผู้สูงอายุที่มีฐานะปานกลางและฐานะไม่ดีนักยังคงมีการขาดแคลนที่อยู่อาศัยในการรองรับอย่างมาก ดังจะเห็นได้ว่าที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุของรัฐที่จัดให้บางแห่งในปัจจุบันมีผู้ลงชื่อรอขอเข้าอยู่อาศัย 2,500 – 3,000 คน แต่ยังไม่มีหน่วยงานใดสามารถจัดที่อยู่อาศัยรองรับได้
ทั้งนี้ รายละเอียดผลสำรวจโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุทั่วประเทศไทยในปี 2566 นี้ มีอยู่ 758 แห่ง สามารถรองรับผู้สูงอายุได้รวม 19,490 คน มีอัตราการเข้าพัก 69.3% ซึ่งพบว่าเป็น
- ประเภทสถานบริบาลผู้สูงอายุ (Nursing Home) จำนวนถึง 708 แห่ง รองรับได้รวม 15,324 คนหรือ ร้อยละ 78.6% มีอัตราการเข้าพัก 63.7%
- ประเภท Residential หรือที่อยู่อาศัยซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับกลุ่มผู้สูงอายุแต่ยังสามารถดูแลตัวเองได้ ออกแบบโดยใช้หลักการ Universal Design จำนวน 19 แห่ง รองรับได้รวม 1,328 คน เช่น สวางคนิเวศ สภากาชาดไทย, โครงการเวลเนสซิตี้ และบุศยานิเวศน์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น มีอัตราการเข้าพัก 73.0%
- ประเภทสถานสงเคราะห์/มูลนิธิ 26 แห่ง รองรับได้รวม 2,681 คน มีอัตราการเข้าพัก 100.0%
- ประเภทโรงพยาบาล จำนวน 4 แห่ง รองรับได้รวม 155 คน และมีเข้าพัก 53.5% และประเภท Day Care จำนวน 1 แห่ง
10 จังหวัดที่มีโครงการที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุสุงสุดในไทย
ทั้งนี้ การกระจายตัวของโครงการที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุใน 10 จังหวัดแรก มีจำนวน 574 แห่ง หรือ 75.7% ของที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุทั้งหมด โดยกระจายในจังหวัด
- กรุงเทพฯ 257 แห่ง รองรับได้รวม 7,140 คน มีอัตราการเข้าพัก 68.2%
- นนทบุรี 78 แห่ง รองรับได้รวม 1,759 คน มีอัตราการเข้าพัก 68.3%
- เชียงใหม่ 54 แห่ง รองรับได้รวม 688 คน มีอัตราการเข้าพัก 81.8%
- ชลบุรี 42 แห่ง รองรับได้รวม 822 คน มีอัตราการเข้าพัก 64.6%
- ปทุมธานี 39 แห่ง รองรับได้รวม 877 คน มีอัตราการเข้าพัก 72.5%
- นครปฐม 30 แห่ง รองรับได้รวม 876 เข้าพัก มีอัตราการเข้าพัก 59.1%
- สมุทรปราการ 24 แห่ง รองรับได้รวม 1,206 คน มีอัตราการเข้าพัก 40.1%
- ขอนแก่น 19 แห่ง รองรับได้รวม 669 คน มีอัตราการเข้าพัก 88.9%
- ราชบุรี 16 แห่ง รองรับได้รวม 425 คน มีอัตราการเข้าพัก 39.1 %
- พิษณุโลก 15 แห่ง รองรับได้รวม 217 คน มีอัตราการเข้าพัก 79.1%
การสำรวจยังพบว่า สิทธิในการครอบครองที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่เป็นประเภทสิทธิแบบเช่ารายเดือน 699 แห่ง (คิดเป็น 92.5%) รองลงมาเป็นประเภทสิทธิแบบการอยู่อาศัยตลอดชีวิต 34 แห่ง (คิดเป็น 4.5%) สิทธิแบบมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย 14 แห่ง (คิดเป็น 1.9%) และสิทธิการเช่าระยะยาว 9 แห่ง (คิดเป็น 1.2%) ของโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยทั้งหมด
โครงการที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุมีลักษณะแบบไหน?
ผลการสำรวจในปี 2566 พบว่า ลักษณะโครงการที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุในไทยพบว่า ส่วนใหญ่กว่า 56.6% มีการใช้อาคารที่มีลักษณะอาคารแบบบ้านเดี่ยว รองลงมาอีก 33.3% เป็นประเภทอาคารพักอาศัยรวม
ขณะที่โครงการที่มีขนาดจำนวนเตียงไม่เกิน 20 เตียง เป็นสัดส่วน 54.8% และขนาดจำนวนเตียงเกินกว่า 20 เตียง 343 แห่ง เป็นสัดส่วน 45.2%
เจาะลึกตลาด Nursing Home ในไทย
สถานบริบาลผู้สูงอายุ (Nursing Home) เป็นประเภทที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุที่สัดส่วนสูง โดย ณ ไตรมาส 2 ปี 2566 มีจำนวน 708 แห่ง (จำนวน 15,324 เตียง ใน 55 จังหวัด) ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในจังหวัดหลักและจังหวัดหัวเมืองทางภูมิภาค เช่น กรุงเทพฯและปริมณฑล เชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ชลบุรี ระยอง นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี เป็นต้น
ทั้งนี้ Nursing Home มีการเติบโตอย่างมากในช่วง 5 – 6 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยปีละ 25.1% ในช่วงปี 2561–2566 และ คาดการณ์ว่า จะมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยปีละ 30.5% ในระหว่างปี 2567-2571 ด้วยขนาดธุรกิจไม่น้อยกว่า 9,500 ล้านบาทใน พ.ศ. 2571 และในช่วงปี 2572-2576 คาดว่าจะมีอัตราการขายตัวเฉลี่ยปีละ 15.0% และมูลค่าไม่น้อยกว่า 19,200 ล้านบาทในปี 2576
โดยช่วงราคา 10,000 บาทยังมีสัดส่วนเพียง 1.5% ของทั้งตลาด ซึ่ง Nursing Home ที่เข้าถึงได้ยังมีอยู่อย่างจำกัด
ในมิติด้านราคาที่ให้บริการ (ราคาเช่า) แบ่งเป็น
- ช่วงราคาไม่เกิน 10,000 บาท มีสัดส่วน 1.5%
- ช่วงราคา 10,001-20,000 บาท มีสัดส่วน 42.6%
- ช่วงราคา 20,001-30,000 บาท มีสัดส่วน 36.1%
- ช่วงราคา 30,001-50,000 บาท มีสัดส่วน 14.2%
- ช่วงราคา 50,000 บาทขึ้นไป มีสัดส่วน 5.7%
ทั้งนี้กรมกิจการผู้สูงอายุ เป้าหมายในแผนการปรับปรุงที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุในช่วงปี 2567-2579 ขั้นต่ำอยู่ที่ 400,000 หลัง สอดคล้องกับ 10 ปีข้างหน้า สัดส่วนผู้สูงอายุจะเพิ่มจากปัจจุบันที่ 20% ขึ้นสู่ระดับ 30% ดังนั้นกลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องการปรับปรุงที่อยู่อาศัยเดิม ซึ่งเป็นโอกาสทางธุรกิจที่มีโอกาสขยายตัวอีกมาก
ที่มา ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ธนาคารอาคารสงเคราะห์
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา