รีไฟแนนซ์ รูปแบบสินเชื่อที่แบงค์ไม่ค่อยชอบ ลูกหนี้เงินกู้บ้านไม่ค่อยรู้ แต่ได้ประโยชน์เพียบ

ไม่น่าเชื่อว่าคนไทยจำนวนมากที่กู้เงินซื้อบ้าน ไม่รู้จักการรีไฟแนนซ์!

การรีไฟแนนซ์ พูดง่ายๆ คือ การขอสินเชื่อบ้านใหม่ทุก 3 ปีเพื่อลดดอกเบี้ย ซึ่งเท่ากับลดภาระการผ่อนชำระต่อเดือน เมื่อดอกเบี้ยลด จำนวนเงินทั้งหมดที่ต้องจ่ายให้ธนาคารก็ลดลง

นั่นคือเหตุผลว่า ทำไมธนาคารถึงไม่ค่อยโปรโมทเรื่องรีไฟแนนซ์มากนัก เพราะถ้าคนทำรีไฟแนนซ์มากๆ ธนาคารจะมีรายได้จากดอกเบี้ยเงินกู้ลดลง ประกอบกับขั้นตอนการยื่นขอรีไฟแนนซ์ มีความยุ่งยาก ใช้เวลานานประมาณ 3 เดือน

Refinn เป็นสตาร์ทอัพ FinTech มองเห็น pain point ตรงนี้ และนำเทคโนโลยีมาช่วยให้ ลูกหนี้ กับ ธนาคาร มาเจอกันง่ายขึ้น ซึ่ง Refinn ไม่ได้ปล่อยสินเชื่อเอง ไม่ได้แข่งกับธนาคาร แต่มาช่วยให้ทุกคนเจอกันง่ายขึ้น

8 เดือน รีไฟแนนซ์ 600 ครัวเรือน 1,320 ล้าน

กรณ์ จาติกวณิช ประธาน บริษัท รีฟินน์ อินเตอร์เนชั่นแนล ดอทคอม จำกัด หรือ Refinn บอกว่า มูลค่าการขอรีไฟแนนซ์บ้านทั้งตลาดต่อปีอยู่ที่ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท มีสัดส่วนประมาณ 10% ของสินเชื่อบ้านใหม่ 6 แสนล้านบาท ถือเป็นสัดส่วนที่ยังน้อย เมื่อเทียบว่ามีบ้านใหม่เพิ่มขึ้นแต่มีการรีไฟแนนซ์ที่น้อยมาก ทั้งที่ตามความจริง ทุกๆ 3 ปี ควรต้องทำรีไฟแนนซ์ นี่คือจุดที่ Refinn เข้ามาให้บริการเมื่อปีที่แล้ว

โดย 8 เดือนที่ผ่านมา มีผู้สนใจรีไฟแนนซ์ผ่าน Refinn เป็นมูลค่า 3.2 หมื่นล้านบาท หรือครึ่งหนึ่งของตลาดรีไฟแนนซ์ ถือว่าเป็นการตอบรับที่ดี โดยมีการรีไฟแนนซ์สำเร็จไปแล้วมูลค่า 1,320 ล้านบาทจาก 600 ครัวเรือน ลดภาระการผ่อนชำระต่อเดือน เฉลี่ย 6,000 บาท และคาดว่าในสิ้นปีนี้จะมียอดอนุมัติรีไฟแนนซ์เพิ่มเป็น 3,400 ล้านบาท

ยอมรับว่า การรีไฟแนนซ์ยังน้อย และที่ยื่นขออนุมัติสำเร็จก็ยังไม่มาก แต่แนวโน้มเห็นชัดเจนว่า ถ้าลูกหนี้รู้จักการรีไฟแนนซ์มากขึ้น การใช้บริการรีไฟแนนซ์จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต

3 กลยุทธ์ Refinn ลุยตลาดต่อเนื่อง

พรพิมล ปฐมศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ Refinn บอกว่า ที่ผ่านมา Refinn สามารถลดขั้นตอนการอนุมัติรีไฟแนนซ์เหลือประมาณ 39 วัน และพยายามลดระยะเวลาลงอีก จากปกติเฉลี่ยใช้เวลาประมาณ 118 วัน ประเด็นสำคัญคือ ยิ่งได้รับอนุมัติรีไฟแนนซ์เร็วเท่าไร ก็ลดภาระดอกเบี้ยได้เร็วขึ้นเท่านั้น

สำหรับแนวทางการให้บริการลูกหนี้บ้านในการทำรีไฟแนนซ์ ทาง Refinn มี 3 กลยุทธ์หลัก คือ

  1. Product หรือ บริการ ซึ่งปัจจุบัน 100% เป็นเรื่องรีไฟแนนซ์ เช็คดอกเบี้ยที่ดีที่สุด โดยแบ่งเป็น สินเชื่อลดภาระหนี้ในการผ่อนชำระบ้าน และ Home for Cash บ้านแลกเงิน นำเงินไปใช้อย่างอื่น และในอนาคตจะขยายบริการอื่นๆ นอกเหนือ รีไฟแนนซ์ เช่น สินเชื่อบ้านใหม่, สินเชื่อบ้านมือสอง เป็นต้น
  2. Partner หรือ พันธมิตร ซึ่งปัจจุบันมีพันธมิตรหลักคือ ธนาคาร ซึ่ง Refinn จะนำข้อมูลและความต้องการของลูกค้า มาช่วยธนาคารในการคิดโปรแกรมรีไฟแนนซ์ที่เหมาะสม จับคู่ให้ตรงกับความต้องการ และอนาคตจะขยายพันธมิตรไปที่สถาบันการเงินมากขึ้น
  3. Technology พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสามารถให้บริการได้ง่าย ฉลาด รวดเร็ว แม่นยำและมีประสิทธิภาพ โดยปัจจุบันมีการนำระบบ AI มาช่วยในการประเมินความเสี่ยงและเสนอโปรแกรมที่เหมาะสมกับลูกหนี้ ก่อนเจ้าหน้าที่จะเข้ามาให้คำปรึกษา ใช้ระบบ Big Data ในการวิเคราะห์ข้อมูลและพฤติกรรม เพื่อนำเสนอบริการได้โดนใจ

อนาคตสู่การแข่งขันที่สมบูรณ์มากขึ้น ไม่จำกัดแค่ธนาคาร

กรณ์ บอกว่า รูปแบบการแข่งขันในตลาดสินเชื่อบ้าน ยังจำกัดอยู่กับธนาคารเป็นหลัก โดยในกลุ่มธนาคารพาณิชย์อาจแบ่งได้เป็น ธนาคารขนาดใหญ่, ธนาคารขนาดรอง, ธนาคารต่างประเทศ ซึ่งแต่ละแบบมีต้นทุนที่แตกต่างกันไป ทำให้เกิดการแข่งขันขึ้น แต่ในอนาคตจะมีผู้ให้บริการ non-bank เข้ามาเพื่อสร้างการแข่งขันที่สมบูรณ์ขึ้น ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์

“ตัวอย่างการให้สินเชื่อบ้าน เช่น P2P หรือการให้กู้ยืมโดยตรงผ่าน FinTech ซึ่งเป็นเครื่องมือสร้างความน่าเชื่อถือระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้ เพราะบ้านเป็นหลักประกันที่แน่นอน มั่นคงเมื่อเทียบกับหลักประกันอื่น มีความเสี่ยงน้อย อนาคตมีความเป็นไปได้ที่จะมีลักษณะ P2P มาใช้ แต่ยังไม่ใช่ในเร็วๆ นี้”

สุดท้ายถ้าเกิดการแข่งขันในตลาดสินเชื่อมากขึ้น ผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์จากโปรแกรมและข้อเสนอที่ตรงกับความต้องการ

สรุป

ความแตกต่างอย่างหนึ่งของ Refinn คือ เป็นกลุ่มสตาร์ทอัพ ที่ผู้ก่อตั้งถอยไปทำระบบเป็นหลัก และจ้างมืออาชีพมาเป็นผู้บริหาร เพราะรู้ว่าการติดต่อประสานงานกับธนาคาร การบริหารคนบริหารงานไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องการคนมีประสบการณ์ที่รู้จริง การมีขุนพลระดับพระกาฬ ทำให้ได้รับความน่าเชื่อถือจากผู้บริโภคมากขึ้น และหาพันธมิตรสถาบันการเงินได้ดีขึ้น

สำหรับคู่แข่งในตลาด คือ FinStreet เป็นสตาร์ทอัพให้บริการแบบเดียวกัน แต่เน้นที่เทคโนโลยี Chatbot ซึ่งทั้งสองราย ช่วยกระตุ้นให้เกิดการรีไฟแนนซ์เพิ่มขึ้นทั้งคู่

คำถามว่าทำไมต้องใช้บริการสตาร์ทอัพในการทำรีไฟแนนซ์ คำตอบคือ ช่วยลดขั้นตอน ลดเวลาในการดำเนินการ มีเครื่องมือช่วยเปรียบเทียบข้อเสนอที่เป็นเรื่องของตัวเลขดอกเบี้ย ซึ่งมีความซับซ้อนมาก ช่วยประเมินความเสี่ยงนำไปสู่การได้รับอนุมัติรีไฟแนนซ์นั่นเอง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา