คนไทย 64% ไม่ยื่นภาษี เพราะไม่รู้ว่าเป็นหน้าที่พลเมือง บางส่วนมองว่าระบบยังไม่เป็นธรรมพอ

ในประเทศไทย มีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่มีรายรับถึงเกณฑ์แต่ไม่ยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไม่ใช่เพราะว่าพวกเขาตั้งใจหลีกเลี่ยง แต่ความจริงคือบางคนไม่มีความรู้เรื่องนี้มากพอเลยต่างหาก

ภาษี

‘สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ’ (สศช.) คาดว่า ปี 2564 มีแรงงานที่รายได้ถึงเกณฑ์ต้องยื่น ‘แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา’ กว่า 19 ล้านคน แต่กลับมีเพียง 10.7 ล้านคนเท่านั้นยื่นแบบฯ มา และเหลือผู้ที่มีรายได้สุทธิอยู่ในเกณฑ์ต้องเสียภาษีแค่ 4.2 ล้านคน

ยังไม่รวมกับข้อจำกัดในการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยที่มีปัญหาเรื่อง ครอบคลุม และ ครบถ้วน อยู่ เนื่องจากแรงงานไทยมากกว่า 50% เป็นแรงงานนอกระบบ ทำให้ตรวจสอบรายรับได้ยาก และกลายเป็นช่องโหว่ให้ประชาชนไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้

โดยไม่ใช่ทุกคนจะมีเจตนาเลี่ยงการยื่นแบบฯ แต่มีหลายคนที่ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเสียภาษีเท่านั้น Brand Inside สรุปข้อมูล ‘ทัศนคติของประชาชนต่อการยื่นแบบฯ และการจ่ายภาษี’ ที่ต้องการศึกษาถึงสาเหตุของการไม่ยื่นแบบฯ รวมถึงปัจจัยที่จะทำให้เกิดการยื่นในอนาคต ของ สศช. มาให้อ่านกัน

คนไทย 64% ไม่ยื่นภาษี เพราะไม่มีความรู้

จากข้อมูลในปี 2565 คนไทยราวๆ 64.3% ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดย 50.5% ของจำนวนนั้นเป็นผู้ที่อยู่ในเกณฑ์ต้องยื่น และ 13.8% ไม่เข้าข่ายต้องยื่นภาษี เนื่องจากประกอบอาชีพเกษตรกรรม ว่างงาน หรืออยู่ระหว่างการศึกษาที่ไม่มีรายได้

เมื่อลองพิจารณาข้อมูลดูแล้ว จะพบว่า 60% ของกลุ่มที่ยื่นแบบฯ คือประชาชนกลุ่ม Gen Y ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป และส่วนใหญ่มีเงินเดือนประจำ พร้อมรายได้เพียงพอต่อรายจ่าย

ในทางกลับกัน กลุ่มที่เข้าข่ายอยู่ในเกณฑ์ต้องยื่นแบบฯ แต่ไม่ยื่น จะกระจายตัวอยู่ในกลุ่ม Gen X, Gen Y และ Baby Boomer ที่ส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาไม่เกินมัธยมปลายหรือปวช. และเป็นแรงงานนอกระบบ ทั้งยังมีสถานะทางการเงินไม่มั่นคง

นอกจากนี้ งานวิจัยยังเผยอีกว่า 57.9% ของคนไทยมีความรู้เกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในระดับต่ำหรือไม่รู้ข้อมูลเลย ซึ่งส่วนใหญ่มักอยู่ในวัย Gen X หรือ Baby Boomer โดย 70% ของคนกลุ่มนี้เป็นแรงงานนอกระบบ และ 80% ของพวกเขาอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องยื่นแบบฯ

สิ่งที่น่าสนใจคือ ประชาชนบางส่วนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการยื่นแบบฯ และเสียภาษีเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของพลเมืองไทย โดย 

  • 65.6% ไม่ทราบว่าการยื่นแบบฯ ไม่ได้แปลว่าต้องเสียภาษี
  • 53.6% ไม่ทราบว่าหากมีเงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาทจะได้รับการยกเว้นภาษี
  • ส่วนใหญ่ไม่ทราบว่ารายได้ประเภทใดบ้างที่ต้องนำมายื่น

หนึ่งความเกี่ยวข้องที่เห็นในระดับความรู้ความเข้าใจด้านภาษี คือ ประสบการณ์ เพราะกลุ่มที่เคยยื่นแบบฯ จะมีความรู้ความเข้าใจมากกว่ากลุ่มอื่น แต่ยังอยู่ในระดับปานกลาง ในขณะที่ผู้ที่ต้องยื่นแต่ไม่ได้ยื่นนั้น อยู่ในระดับความรู้ที่น้อยที่สุด 

คนส่วนใหญ่มอง ‘ระบบภาษีไทย’ ไม่ค่อยเป็นธรรม

จากความเห็นของกลุ่มตัวอย่าง คนไทยส่วนใหญ่มองว่าระบบการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น มีความเป็นธรรมในระดับกลางค่อนข้างต่ำ และมีไม่ถึง 25% ด้วยซ้ำที่เห็นว่าระบบนี้ยุติธรรมมากที่สุดแล้ว

สำหรับผู้ที่เชื่อว่าระบบปัจจุบันไม่มีความเป็นธรรม ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มคนที่มีความรู้ด้านภาษีต่ำหรือไม่มีความรู้เลย และสาเหตุของความคิดนี้คือ

  • ระบบการตรวจสอบไม่ครอบคลุม ทำให้ผู้ที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ กลับไม่ต้องยื่นแบบฯ และเสียภาษี
  • ผู้มีรายได้สูงบางกลุ่มหลบเลี่ยงภาษี โดยอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมาย
  • เกณฑ์เงินได้ที่ต้องเสียภาษีต่ำเกินไป ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ

นอกจากนี้ ผลสำรวจพบว่า คนไทย 70.9% เต็มใจที่จะยื่นแบบฯ หากได้รับสวัสดิการที่ดีขึ้น ในขณะที่ 69.1% เต็มใจที่จะยื่นแบบฯ และเสียภาษี ถ้ามีรายได้ถึงเกณฑ์

เมื่อพิจารณาความเต็มใจตามประสบการณ์ความยื่นแบบฯ แล้ว จะเห็นได้ว่ากลุ่มที่เคยยื่นแบบฯ มีความสมัครใจในทุกเรื่องสูงกว่าผู้อื่น 

ในขณะเดียวกัน 65.9% ของผู้ที่ต้องยื่นแบบฯ แต่ไม่ได้ยื่น เผยว่าจะเต็มใจมากขึ้น หากสวัสดิการดีกว่าเดิม โดย 57.5% ของกลุ่มนี้ ยังไม่เชื่อว่าสวัสดิการปัจจุบันคุ้มค่ากับภาษีที่ต้องจ่ายเท่าไหร่นัก

นอกจากนี้ 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างไม่เห็นด้วยกับการกำหนดให้ทุกคนที่มีรายได้ต้องยื่นแบบฯ โดยปราศจากเกณฑ์ขั้นต่ำ ซึ่งสาเหตุอาจเป็นเพราะพวกเขามีรายได้ไม่มากนัก 

กลุ่มไม่ยื่นแบบมองต้องมีรายได้เพียงพอถึงจะยอมแสดงรายได้

ภาษี

จากภาพรวมแล้ว ปัจจัยที่อาจส่งผลให้มีการยื่นแบบฯ มากที่สุด ตามลำดับได้แก่

  1. ยื่นแล้วไม่เสียภาษีเพิ่ม
  2. ความสะดวกในการกรอกข้อมูล การไม่ขอข้อมูลเพิ่มเติม และการไม่ถูกตรวจสอบย้อนหลัง
  3. รับภาษีที่ชำระค้างไว้คืน

ในส่วนของ ปัจจัยที่สามารถจูงใจให้เสียภาษี ได้คือ

  1. การมีรายได้มากกว่ารายจ่าย
  2. รัฐจัดหาสวัสดิการได้อย่างทั่วถึง
  3. อัตราภาษีไม่สูงเกินไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อลองพิจารณ์กลุ่มตัวอย่างแต่ละประเภทตามประสบการณ์การยื่นแบบฯ จะพบว่า กลุ่มที่ไม่ได้ยื่นแบบฯ แม้มีรายได้ตามเกณฑ์ ให้ความสำคัญกับการไม่ถูกตรวจสอบข้อมูลภาษีย้อนหลัง รวมถึงไม่ขอเอกสารเพิ่มเติม ในขณะที่กลุ่มผู้เคยยื่นแบบฯ เห็นคุณค่าในความสะดวกของการกรอกข้อมูลมากที่สุด

เช่นเดียวกันกับปัจจัยการเสียภาษี ผู้ที่มีรายได้ถึงเกณฑ์แต่ไม่ยื่นแบบฯ มองว่า ความเพียงพอของรายได้ เป็นปัจจัยที่สามารถจูงใจได้มากที่สุด สอดคล้องกับรายรับที่ไม่สูงมากของคนกลุ่มนี้

ในทางกลับกัน ผู้ที่เคยยื่นแบบฯ จะให้ความสำคัญกับ สวัสดิการของรัฐ มากกว่า เนื่องจากเกือบ 70% ของพวกเขาประกอบอาชีพที่ถูกตรวจสอบได้ง่าย จึงอยากให้ภาษีที่จ่ายไปเกิดประโยชน์สูงสุด

อย่างไรก็ตาม 42.7% ของผู้ที่ไม่ได้ยื่นแบบฯ แม้จะอยู่ในเกณฑ์ต้องยื่น กล่าวว่า ไม่มีปัจจัยไหนเลยที่สามารถจูงใจให้พวกเขายื่นแบบฯ ได้ 

ไทยต้องให้ปลูกฝังเรื่อง ‘ภาษี’ ตั้งแต่วัยเด็ก

จากปัจจัยข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่ายังคงมีอีกหลายประเด็นที่สามารถปรับปรุง เพื่อพัฒนาการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยทางหน่วยงานวิจัยเสนอแนวทางการส่งเสริมไว้ดังนี้

1. สร้างความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ประชาชน

ความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีเงินได้ฯ นั้นค่อนข้างมีผลต่อพฤติกรรมการยื่นแบบฯ ดังนั้น ประเทศไทยอาจพิจารณานำองค์ความรู้ด้านนี้เข้าไปอยู่ในระบบการศึกษาตั้งแต่วัยเด็ก รวมถึงสร้างความคุ้นชิน และการตระหนักรู้ถึงหน้าที่พลเมืองในการจ่ายภาษี

นอกจากนี้ ยังควรมีการสื่อสารที่เข้าใจง่าย เพื่อสร้างความรู้ให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งเงื่อนไขหรือเกณฑ์ต่างๆ และบทลงโทษในกรณีที่ปฏิบัติไม่ถูกต้อง 

2. สร้างการรับรู้เกี่ยวกับการนำภาษีไปใช้ของรัฐ และประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการเสียภาษี

จากงานวิจัย จะเห็นได้ว่าคนบางกลุ่มไม่เต็มใจที่จะเสียภาษี เนื่องจากไม่เห็นถึงผลประโยชน์ ดังนั้น รัฐบาลควรประชาสัมพันธ์นโยบายและสวัสดิการต่างๆ ควบคู่ไปกับการชี้แจงการใช้จ่ายอย่างโปร่งใสด้วย

โดยนโยบายหรือสวัสดิการที่จัดหามาควรมีผลลัพธ์ออกมาเป็นรูปธรรม เพื่อป้องกันคำครหา และทำให้ประชาชนมั่นใจว่ารัฐบาลได้นำภาษีไปใช้อย่างเกิดประโยชน์จริงๆ 

3. มีแนวทางส่งเสริมการเข้าระบบภาษีโดยสมัครใจ

สาเหตุหนึ่งที่คนไทยไม่ยื่นแบบฯ คือกลัวโดนตรวจสอบย้อนหลัง แล้วอาจเสียค่าปรับหรือต้องโทษจำคุกได้ ฉะนั้น ประเทศไทยอาจพิจารณาการยกเว้นหรือลดบทลงโทษต่างๆ ให้เบาลง ละเว้นการตรวจสอบย้อนหลัง รวมถึงมีมาตรการจูงใจอื่นๆ เช่น ให้รางวัลแก่ผู้เสียภาษี เพื่อเป็นการส่งเสริมประชาชนให้เข้าสู่ระบบภาษีอย่างถูกต้อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการคลังในระยะยาว

4. ตรวจสอบและลงโทษผู้ที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องอย่างเข้มงวด

การที่ประชาชนบางส่วนเห็นผู้ที่มีรายได้ถึงเกณฑ์แต่ไม่ยื่นแบบฯ นั้น จะส่งผลให้เกิดความรู้สึกที่ไม่เป็นธรรมได้ และอาจกระทบต่อความเต็มใจในการเสียภาษี ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรพัฒนาระบบการตรวจสอบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

ยิ่งไปกว่านั้น อาจกำหนดบทลงโทษพิเศษสำหรับผู้ที่จงใจทำผิด เพื่อให้เกิดความเกรงกลัว และด้วยวิธีเช่นนี้ นอกจากจะช่วยให้การจัดเก็บภาษีรั่วไหลน้อยลงแล้ว ยังช่วยป้องกันพฤติกรรมเลียนแบบในอนาคตได้อีกด้วย

5. อำนวยความสะดวกแก่ผู้ยื่นแบบฯ

คนจำนวนมากรู้สึกว่าการกรอกข้อมูลในการยื่นแบบฯ มีความซับซ้อนยุ่งยาก โดยเฉพาะกับกลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำหรือมีรายได้หลายแหล่ง

หากประเทศไทยสามารถพัฒนาระบบให้ประมวลข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ได้มากขึ้น พร้อมกับมีบุคลากรคอยช่วยเหลือในทุกๆ กระบวนการ ประชาชนอาจรู้สึกว่าการยื่นแบบฯ ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป และจะเต็มใจยื่นมากขึ้น

นอกจากแนวทางดังกล่าวแล้ว รัฐบาลอาจต้องให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนมีรายได้ที่เพียงพอ เพื่อให้กลุ่มที่มีรายรับใกล้เคียงกับรายจ่าย มีความพร้อมและรู้สึกสบายใจจะยื่นภาษีมากขึ้น ทั้งยังเป็นการขยายฐานภาษี ซึ่งจะเป็นผลดีต่อประเทศชาติในอนาคต

แหล่งอ้างอิง: สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา