คุณรู้จักธนาคารไร้สาขา หรือ Virtual Bank ไหม? มันคือช่องทางให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ ที่นอกจากจะมีฟังก์ชันเหมือนธนาคารทั่วไปแล้ว ยังเชื่อว่าสามารถลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการทำให้ทุกชนชั้นเข้าถึงธนาคารง่ายขึ้น
หลายๆ ประเทศเริ่มจัดตั้ง Virtual Bank กันไปเรียบร้อย โดยเฉพาะฮ่องกงที่มีมากถึง 8 แพลตฟอร์ม ได้แก่
- ZA Bank
- Mox
- WeLab Bank
- AirStar
- Ant Bank
- PingAn OneConnect Bank
- Fusion
- Livi
ซึ่งผู้เล่นตัวหลักๆ ก็คือแบรนด์และองค์กรชั้นนำ เช่น Xiaomi, ธนาคารแห่งประเทศจีน, ธนาคารอุตสาหกรรมและการพาณิชย์แห่งประเทศจีน, Ant Group และ Standard Chartered
Virtual Bank คือโครงการส่วนหนึ่งของ ‘องค์การเงินตราฮ่องกง’ (HKMA) เพื่อหวังจะนำประเทศเข้าสู่ยุคแห่งการธนาคารอัจฉริยะ ซึ่งในปี 2023 มีผู้ฝากเงินในธนาคารไร้สาขามากถึง 2.2 ล้านคน นับเป็น 8.8% ของกลุ่มเป้าหมายในตลาดธนาคารเพื่อลูกค้ารายย่อยทั้งหมด
ทั้งนี้ แม้ว่าธนาคารไร้สาขาในฮ่องกงจะจัดตั้งมา 4 ปีแล้ว กลับไม่มีแพลตฟอร์มไหนสร้างกำไรได้เลย
กำไรติดลบแต่ยังมั่นใจ
ในครึ่งปีแรกของ 2024 ธนาคารไร้สาขาทั้ง 8 เจ้าในฮ่องกงล้วนขาดทุนทั้งสิ้น โดยยอดขาดทุนรวมคือ 5.3 พันล้านบาท
แม้ตัวเลขจะยังติดลบ แต่มองอีกแง่คือสถานการณ์อาจจะดีขึ้นบ้างแล้ว เนื่องจากในปี 2023 ธนาคารไร้สาขาทั่วฮ่องกงขาดทุนถึง 6.1 พันล้านบาท และหลายๆ เจ้าก็เริ่มแสดงความมั่นใจว่าตนเองจะสามารถคืนทุนได้ เช่น
- ZA Bank โดย ZhongAn Online P&C
ในครึ่งปี 2024 ZA Bank ขาดทุนประมาณ 471 ล้านบาท แต่ข่าวดีคือเมื่อเดือนกรกฎาคม ธนาคารสามารถสร้างกำไรได้ และรายรับในครึ่งปีแรกยังเพิ่มถึง 84% จาก 2023 ซึ่งทาง ZA Bank เองก็เชื่อว่าบริษัทจะสามารถรักษาผลประกอบการให้ยั่งยืนต่อไป
- WeLab Bank โดย CK Hutchison’s TOM Group และ Sequoia Capital
ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา WeLab Bank ขาดทุนไปกว่า 500 ล้านบาท แต่รายรับจากดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมดันเพิ่มขึ้นราวๆ 68.4% กับ 77.8% ตามลำดับ โดยทางธนาคารมั่นใจมากว่าจะสามารถคืนทุนได้ภายในปี 2025 แน่นอน
- Mox โดย StanChart
ในบรรดาธนาคารไร้สาขาทั้ง 8 เจ้า Mox เป็นธนาคารที่ขาดทุนหนักที่สุด โดยมีกำไรติดลบกว่า 1.8 พันล้านบาท ทั้งนี้ Mox ก็ยังยืนยันว่าจะคืนทุนภายในปี 2024
ทุกเจ้ารู้ดี ทำแรกๆ ไม่มีกำไร แต่ทำไมยังฝืน?
สาเหตุหลักที่ธนาคารไร้สาขาทั่วฮ่องกงขาดกำไรคือ มีต้นทุนในการได้มาซึ่งลูกค้าสูง (Customer’s Acquisition Cost หรือ CAC) เนื่องจาก
- คู่แข่งในตลาดเยอะ
- เป็นธนาคารน้องใหม่ ทำให้ดึงดูดลูกค้ายาก
- มีแพลตฟอร์มออนไลน์เพียงช่องทางเดียวในการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า
ทั้งนี้ ธุรกิจธนาคารทุกเจ้าทราบดีว่า ต่อให้ CAC จะสูงแค่ไหน แต่กำไรก็บานในระยะยาวเช่นกัน โดยหลักการทำงานของธนาคารคือ นำเงินฝากอัตราดอกเบี้ยต่ำของลูกค้ามาเป็นทุนเพื่อปล่อยกู้ แล้วสร้างรายได้จากดอกเบี้ยเงินกู้แพงๆ แทน
นอกจากผลประโยชน์ด้านตัวเลขที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ธนาคารไร้สาขายังมีจุดแข็งที่ธนาคารทั่วไปไม่มี ได้แก่
- ประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะไม่ต้องเสียค่าก่อสร้าง ทำนุบำรุง หรือจ้างพนักงานเข้าสาขา
- มีโครงสร้างพื้นฐานที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ล้ำหน้าที่สุด
- ไม่ต้องกังวลเรื่องการถ่ายโอนข้อมูลจากระบบเดิมๆ เข้าสู่ระบบที่ทันสมัยขึ้น
อย่างไรก็ตาม การจะวัดว่าธนาคารประสบความสำเร็จจริงหรือไม่ ต้องดูที่สัดส่วนการครองตลาดของมัน ซึ่งปัจจุบัน ธนาคารปกติเขาเอาลูกค้าไปเยอะแล้ว และถ้า Virtual Bank อยากสู้ ก็ต้องทำตัวให้แตกต่างอย่างที่หลายๆ เจ้าเริ่มทำ เช่น
- WeLab Bank มีบริการให้คำแนะนำด้านการจัดการเงินกับลูกค้าทั่วไป
- ZA Bank เปิดให้บริการทางการเงินแก่บริษัท Web3 โดยเฉพาะ ตามคำขอของรัฐบาล
- PingAn OneConnect Bank เลือกเจาะกลุ่มลูกค้าไปยังตลาดธุรกิจ SME
ยิ่งไปกว่านั้น เนื่องจากรัฐบาลฮ่องกงอยากให้ประชาชนมีตัวเลือกทางการเงินมากขึ้น ธนาคารไร้สาขาจึงได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐเต็มที่ ผ่านการยกเลิกข้อบังคับต่างๆ ที่อาจเป็นอุปสรรคในการจัดตั้งและดำเนินงาน
อยู่ในช่วงฝุ่นตลบ แต่ในท้ายที่สุดจะเหลือไม่กี่เจ้า…ที่อยู่รอด
ปัจจุบัน Virtual Bank ในฮ่องกงหลายๆ แห่งได้เพิ่มความหลากหลาย ด้วยการเปิดให้บริการกับบริษัทคริปโตและบล็อกเชนต่างๆ รวมถึงดูแลเรื่องการเทรดคริปโตให้กับลูกค้าทั่วไป
นอกจากนี้ องค์การเงินตราฮ่องกงยังต้องการให้ Virtual Bank รองรับผู้ใช้งานต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าการตัดสินใจครั้งนี้จะเพิ่มกำไรให้ธนาคารไร้สาขาได้ไหม เพราะตามกฎหมายแล้ว คนจีนยังไม่สามารถเทรดคริปโตหรือใช้บริการที่ใกล้เคียงผ่านธนาคารไร้สาขาได้
ส่วนประเด็นการเพิ่มจำนวนธนาคารไร้สาขา ทางองค์การเงินตราฮ่องกงก็พูดตรงๆ ว่าพวกเขายังไม่เห็นปัจจัยหรือสาเหตุอะไรที่ทำให้ประเทศต้องมี Virtual Bank เยอะกว่านี้ เพราะลำพังแค่แพลตฟอร์มในปัจจุบัน ยังไม่สามารถสร้างกำไรได้เลย
Paul McSheaffrey พาร์ทเนอร์การธนาคารระดับอาวุโสของบริษัท KPMG ให้ความเห็นว่า “ธนาคารไร้สาขามันไม่หายไปไหนหรอก แต่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า คงมีจำนวนน้อยกว่านี้แน่ๆ”
ที่มา: Nikkei Asia / Medium
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา