เสื้อครอปตัวเล็กสีสันสดใส กางเกงเอวต่ำ เพลย์ลิสต์ที่เต็มไปด้วยเพลงของศิลปินอย่าง Madonna, Mariah Carey หรือ Elton John ขนมที่ตอนนี้เราเรียกว่าขนมโบราณ หรือซีรีส์ดังอย่าง Friends และ Gossip Girls กลายเป็นที่พูดถึงอีกครั้งเมื่อเราพูดกันถึงยุค ‘Y2K’ ที่กลายเป็นเทรนด์อยู่บนโซเชียลมีเดีย
เวลาพูดถึง Y2K ในปัจจุบัน มักจะถูกหมายถึงช่วง 1990-1999 (อันที่จริงๆ ก็อาจจะเหมารวมช่วง 2000 ต้นๆ ไปด้วย)ที่พอมองย้อนหลับไปจะพบว่ายุค Y2K เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่เต็มไปด้วยแฟชัน เพลง ไลฟ์สไตล์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว รวมถึงเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านและพัฒนาเทคโนโลยีจนกลายเป็นยุคดิจิทัลในปัจจุบัน
แล้วทำไมเทรนด์การระลึกถึงความหลังถึงได้รับการพูดถึงขึ้นมาอีกครั้ง และคนจำนวนมากที่โหยหาอดีตยุค Y2K เป็นคน Gen Z ที่เกิดไม่ทันยุคนั้นด้วยซ้ำ
รู้จัก Y2K
Y2K ย่อมาจากคำว่า Year 2 Kilo โดยคำว่า Kilo ในภาษาละตินหมายถึง 100 ดังนี้ Y2K จึงหมายถึงปี 2000
จริง ๆ Y2K เป็นกระแสในช่วงครึ่งหลังของช่วงปี 1990 ที่กำลังจะเข้าสู่ปี 2000 จนเกิดความหวั่นกลัวกันว่าการนับปีในระบบคอมพิวเตอร์ที่มักใช้เลข 2 หลักด้านหลัง เมื่อเข้าสู่ปี 2000 ระบบจะคิดว่ากลับไปเป็นปี 1900 จนทำให้ระบบสำคัญต่างๆ ล่ม
คำว่า Y2K ต่อมาจึงใช้อ้างอิงถึงช่วงเวลาในปี 1990-1999 และสภาพสังคมในช่วงนั้น
ทำไมเราถึงโหยหาอดีตยุค Y2K ?
เราจะเห็นว่าบนพื้นที่โซเชียลมีเดีย หากมีใครพูดถึงเรื่องราวในอดีตไม่ว่าจะเป็นแฟชัน สิ่งของ หรือวิถีชีวิตในสมัยนั้นก็จะมีคนเข้าร่วมพูดคุยกันเป็นจำนวนมาก
การพูดถึงเรื่องราวในอดีตจะย้อนกลับมาหาเราอยู่เป็นระยะ ๆ แม้ว่าจะเปลี่ยนรูปแบบไปหรือเปลี่ยนคำที่ใช้เรียก อย่างเมื่อหลายปีก่อน หลายคนจะภูมิใจกับการเรียกตัวเองว่าเป็น ‘เด็ก 90s’ ก่อนที่เทรนด์นี้จะดังขึ้นมาอีกครั้งในช่วงนี้แต่เปลี่ยนชื่อเรียกเป็น ‘Y2K’ แทน
ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หลายคนเผชิญกับภาวะเครียดและวิตกกังวลเพราะโรคระบาดและความไม่แน่นอนของอนาคต บวกกับการกักตัวออกจากผู้คนยิ่งทำให้เราพยายามหาสิ่งที่เชื่อมโยงเราเข้ากับคนอื่น ๆ การโหยหาถึงอดีตที่เรา ‘คิด’ ว่าเป็นช่วงเวลาที่มีแต่สิ่งที่ดี ๆ เกิดขึ้นจึงเป็นหนทางหลบหนีจากโลกความเป็นจริงเพื่อระลึกถึงประสบการณ์ที่เคยมีร่วมกันและมีความหวังว่าโลกจะเข้าสู่ภาวะปกติ
ความทรงจำเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องมโน ?
การนึกถึงอดีตทำให้เรามีความสุขและมีความหวัง เพราะอดีตที่เรานึกถึงไม่ใช่ความจริงทั้งหมด แต่เป็นการที่เราเลือกเอาแต่เหตุการณ์ดี ๆ มาปะติดปะต่อกัน โดยผ่านการกรองเอาอารมณ์ด้านลบและเหตุการณ์ที่เลวร้ายออก
เมื่อเรามองย้อนกลับไปในอดีต เราจะนึกถึงแต่เรื่องที่ทำให้มีความสุขและหลงลืมความทุกข์และความยากลำบากของชีวิตในยุคนั้น อย่างที่เรามักจะนึกถึงเสื้อผ้าและไลฟ์สไตล์วินเทจของยุค Y2K และคิดถึงกลิ่นอายของความเป็นยุคนั้น โดยที่หลงลืมความยากลำบากไปว่าก่อนที่เราจะมีอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน การติดต่อสื่อสารหรือแม้แต่การค้นหาข้อมูลเป็นไปได้ยากขนาดไหน หรือลืมคิดไปว่าในยุค Y2K การเดินทางยังไม่สะดวกเหมือนในสมัยนี้
ที่เราหลงลืมความลำบากในอดีต ก็เป็นเพราะว่าเมื่อเรานึกถึงอดีต สิ่งที่เรานึกถึงไม่ใช่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในอดีตอย่างแท้จริง แต่เป็นการนึกถึงความรู้สึกมีความสุขที่เรารู้สึกในช่วงเวลานั้น ๆ
การศึกษาที่มีชื่อว่า “Nostalgia: A Neuropsychiatric Understanding” ของ Alan R. Hirsh เผยว่า การคิดถึงอดีตคือการโหยหาอดีตในอุดมคติ โดยการนำความทรงจำหลาย ๆ เหตุการณ์มารวมกันโดยกรองอารมณ์ด้านลบออกไปหมดแล้ว
อย่างไรก็ตาม Daniel Schacter ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาของ Harvard University กล่าวว่าเราไม่ได้ตั้งใจบิดเบือนความทรงจำด้วยตัวเอง แต่เป็นที่กระบวนการเรียกคืนความจำที่มีแนวโน้มที่จะปะติดปะต่อและสร้างความทรงจำขึ้นมาให้ใหม่ที่เต็มไปด้วยอคติ
นักวิจัยสังเกตว่าความทรงจำที่มีอารมณ์ด้านลบเข้ามาเกี่ยวข้องจะหายไปอย่างรวดเร็วว่าความทรงจำที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ด้านบวกโดยเฉพาะเมื่อเรารู้สึกไม่พึงพอใจและไม่มีความสุขกับปัจจุบัน
Anne Wilson ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาของ Wilfrid Laurier University เผยว่า ถ้าเราคิดว่าชีวิตในอดีตดีกว่าปัจจุบัน เราจะใช้การนึกถึงเรื่องราวดี ๆ ที่เกิดขึ้นในอดีตเพื่อยืนยันว่าเราคิดถูก สิ่งนี้เรียกว่า “Mood Repair” ซึ่งเป็นกลไกที่ทำให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น นอกจากนี้ เรายังปรับเปลี่ยนและควบคุมความทรงจำเพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้ตัวเองและสร้างความรู้สึกดีต่อตัวเองอย่างที่หลายคนภูมิใจกับการเป็น ‘เด็กยุค 90s’
ดังนั้น ความทรงจำไม่ใช่เรื่องที่เรามโนขึ้นมาเองทั้งหมดแต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงผสมกับอคติของตัวเราเองจนเกิดเป็นภาพในอุดมคติ
การโหยหาอดีตทำให้หลงลืมปัจจุบันหรือไม่ ?
เราอาจะเคยได้ยินคำแนะนำว่าให้อยู่กับปัจจุบัน อย่าไปยิดตึดกับอดีต แล้วการโหยหาอดีตทำให้เราเสียเวลาในปัจจุบันไปหรือไม่
การนึกถึงอดีตไม่ได้ส่งผลให้เกิดผลเสียหากเราเข้าใจว่าความทรงจำทำงานอย่างไรและพยายามเรียนรู้จากอดีตและใช้ชีวิตกับปัจจุบัน
Ethan Kross นักจิตวิทยาและผู้อำนวยการของ University of Michigan Emotion and Self-Control Laboratory เรียกสิ่งนี้ว่า “Self-Distancing” หมายถึง การถอยหลังกลับไปมองตัวเองจากระยะไกลแทนที่จะหมกมุ่นอยู่กับปัญหาในปัจจุบัน การย้อนไปมองอดีตจะทำให้เข้าใจประสบการณ์ที่ตัวเองกำลังประสบพบเจออยู่ ช่วยลดความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า ช่วยในการตัดสินใจและควบคุมอารมณ์ด้วย
อย่างไรก็ตาม สมดุลระหว่างการโหยหาอดีตและการเห็นคุณค่ากับสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นสิ่งที่ต้องรักษาไว้ เพราะการตั้งใจใช้ชีวิตในปัจจุบันจะช่วยสร้างความทรงจำที่ดีในอนาคตเช่นเดียวกับที่เราชอบมองย้อนกลับไปในอดีตแล้วรู้สึกมีความสุข
กลไกการทำงานของความทรงจำเหมือนออกแบบมาเพื่อให้เราสามารถหลีกหนีจากความเป็นจริง การนึกถึงอดีตจึงทำให้เรานึกถึงแต่เรื่องดี ๆ แม้ว่าชีวิตในปัจจุบันจะต้องต่อสู้กับอุปสรรคมากมาย จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเรามีความสุขที่พูดถึงโทรศัพท์มือถือปุ่มกด หูฟังมีสาย ขนมโบราณ และสนุกทุกครั้งที่พูดถึงซีรีส์และละครเก่า ๆ อย่าง Friends หรือ Gossip Girls แต่หากให้เราย้อนกลับไปใช้ชีวิตในยุค Y2K จริง ๆ เราอาจจะรู้สึกว่าชีวิตในปี 2023 นี้มีความสุขมากกว่านั้นหลายเท่าก็ได้
อ้างอิง – U-Insight, NYT 1, NYT 2, Elite Daily, Investopedia
อ่านเพิ่มเติม
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา