อสังหาฯ ส่งสัญญาณฟื้นตัว: ลูกค้าคนจีนอันดับ 1 ตามด้วยรัสเซีย โอนกรรมสิทธิ์ชลบุรีอันดับ 1 ตามด้วยกรุงเทพฯ

อสังหาฯ เริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัว

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ รายงานสถานการณ์การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติในไตรมาส 2 ปี 2566 เพิ่มขึ้น 53.4% และในช่วง 6 เดือน เพิ่มขึ้น 65.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาของปี 2565 ที่ผ่านมา

ส่งผลให้ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยชาวต่างชาติที่มีการทำสัญญาซื้อขายก่อนหน้าสามารถกลับมารับโอนกรรมสิทธิ์ได้เพิ่มขึ้น และยังมีชาวต่างชาติอีกส่วนหนึ่งที่ซื้อห้องชุดที่สร้างเสร็จจากผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งสัดส่วนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดต่างชาติในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 14.7% จาก 10.8% ในปี 2565 และสัดส่วนมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดต่างชาติก็เพิ่มขึ้นเป็น 24.5% จาก 20.5% ในปี 2565

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เผยว่า สถานการณ์การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติทั่วประเทศในช่วง 6 เดือนแรก ปี 2566 (มกราคม-มิถุนายน) คนต่างชาติมีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด ดังนี้

อันดับ 1 ชลบุรี มีสัดส่วน 43.4%
อันดับ 2 กรุงเทพมหานคร 37.7%

การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติ ทั้ง 2 จังหวัดมีสัดส่วนจำนวนหน่วยและมูลค่ารวมกันสูงถึง 81.1% ซึ่งแตกต่างจากช่วงที่ผ่านมา หรือระหว่างปี 2561-2565 ที่กรุงเทพมหานครมียอดโอนกรรมสิทธิ์ของคนต่างชาติมาเป็นอันดับ 1 มีสัดส่วน 48.8% ชลบุรีอันดับ 2 ที่มีสัดส่วนเฉลี่ย 30.8% โดยช่วง 6 เดือนแรก ปี 2566 ทั้ง 2 จังหวัดมีสัดส่วนจำนวนหน่วยและมูลค่ารวมกันสูงถึง 81.1% และ 85.4% ของทั่วประเทศ ขณะที่ภูเก็ต มีสัดส่วนเป็นอันดับที่ 3 ที่ 6.3%

Condo Bangkok

ผู้ซื้อห้องชุดสัญชาติจีนมาแรงอันดับ 1 ตามด้วยสัญชาติรัสเซียอันดับ 2

โดยผู้ซื้อสัญชาติจีนยังเป็นกลุ่มที่มีหน่วยและมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดต่างชาติเป็นอันดับ 1 มีสัดส่วน 47.0% และ 48.3% ตามลำดับ ขณะที่อันดับ 2 เป็นสัญชาติรัสเซีย มีสัดส่วน 9.6% และ 7.3% ตามลำดับ นอกจากนี้ ในไตรมาสนี้ยังมีสัญชาติพม่ามีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดมีราคาเฉลี่ยต่อหน่วยสูงสุดที่ 7.0 ล้านบาท ในขณะที่สัญชาติอินเดีย มีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดขนาดเฉลี่ยใหญ่สุดอยู่ที่ 89.8 ตารางเมตร

ภาพรวมการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติ ไตรมาส 2 ปี 2566 พบว่า หน่วยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติทั่วประเทศมีจำนวน 3,563 หน่วย เพิ่มขึ้น 53.4% มีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติทั่วประเทศมีจำนวน 18,083 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยพื้นที่โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติทั่วประเทศมีจำนวน 166,303 ตารางเมตร เพิ่มขึ้น 52.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

เมื่อเทียบการโอนกรรมสิทธิ์ทุกประเภททั่วประเทศ หน่วยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติ มีสัดส่วน 13.6% ของการโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศ เพิ่มสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีสัดส่วน 9.3%

ขณะที่มูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติ มีสัดส่วน 24.6% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีสัดส่วน 18.7% ส่วนพื้นที่ห้องชุดที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ให้คนต่างชาติ มีสัดส่วน 18.3% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีสัดส่วน 12.7%

โดยสัดส่วนที่เกิดขึ้นในไตรมาส 2 ปี 2566 สูงกว่าสัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของ Covid-19 หรือระหว่าง 2561-2562 ที่มีสัดส่วนหน่วยและมูลค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 10.2% และ 16.0% ซึ่งข้อมูลที่ปรากฏเช่นนี้ ทำให้เห็นได้ว่า ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดที่เป็นชาวต่างชาติเป็นกลุ่มผู้ซื้อที่มีการซื้อห้องชุดที่มีราคาสูงขึ้นกว่าช่วงปีก่อนหน้า

สัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดใหม่และห้องชุดมือสอง

ขณะที่สัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ของห้องชุดใหม่และห้องชุดมือสอง พบว่า มีหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติเป็นห้องชุดใหม่ต่อห้องชุดมือสองเป็นอัตราส่วน 61.9 : 38.1

ในขณะที่มูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติเป็นห้องชุดใหม่ต่อห้องชุดมือสองเป็นอัตราส่วน 55.1 : 44.9 โดยสัดส่วนพื้นที่ห้องชุดมือสองมีการโอนกรรมสิทธิ์เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยห้องชุดมือสองมีสัดส่วนจำนวนหน่วยมูลค่าและพื้นที่การโอนกรรมสิทธิ์เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ระดับราคาห้องชุด

ระดับราคาห้องชุดที่เป็นที่นิยมของคนต่างชาติ มีการโอนกรรมสิทธิ์ให้คนต่างชาติมากที่สุด จะอยู่ในช่วงราคาไม่เกิน 3.00 ล้านบาท โดยมีการโอนจำนวน 1,586 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 44.5% ของจำนวนหน่วยทั้งหมด เป็นระดับราคาที่ชาวต่างชาติส่วนใหญ่นิยมโอนกรรมสิทธิ์มากที่สุดตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบัน

  • รองลงมาคือ ระดับราคา 3.01 – 5.00 ล้านบาท มีจำนวน 880 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 24.7%
  • ระดับราคา 5.01 – 7.50 ล้านบาท มีจำนวน 567 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 15.9%
  • ระดับราคามากกว่า 10.00 ล้านบาทขึ้นไป มีจำนวน 321 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 9.0%
  • ระดับราคา 7.51 – 10.00 ล้านบาท มีจำนวนน้อยที่สุดคือ 209 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 5.9% ตามลำดับ

ห้องชุดที่เป็นที่นิยมของคนต่างชาติ

ขนาดห้องชุดที่เป็นที่นิยมของคนต่างชาติ คือขนาดพื้นที่ 31-60 ตารางเมตร (ประเภท 1 – 2 ห้องนอน) มีจำนวนหน่วยที่โอนกรรมสิทธิ์ให้คนต่างชาติ จำนวน 1,909 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 53.6%

  • รองลงมือคือห้องชุดขนาดพื้นที่ไม่เกิน 30 ตารางเมตร (สตูดิโอ หรือ 1 ห้องนอน) มีจำนวนน 1,037 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 29.1%
  • ถัดมาคือ ห้องชุดขนาดพื้นที่ 61 – 100 ตารางเมตร (2 – 3 ห้องนอนขึ้นไป) จำนวน 379 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 10.6%
  • ห้องชุดขนาดพื้นที่มากกว่า 100 ตารางเมตร (3 ห้องนอนขึ้นไป) มีจำนวนน้อยที่สุดคือ 238 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 6.7%

เมื่อพิจารณาย้อนหลังไปถึงปี 2561 พบว่า ห้องชุดขนาดไม่เกิน 30 ตารางเมตร ขนาด 31 – 60 ตารางเมตร เป็นประเภทห้องชุดที่คนต่างชาตินิยมมากที่สุด โดยมีสัดส่วนจำนวนหน่วยที่โอนกรรมสิทธิ์รวมกันสูงกว่า 80% ในแต่ละไตรมาส

สรุป

ภาพรวมการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติช่วง 6 เดือนแรก ปี 2566 มีหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดคนต่างชาติรวม 7,338 หน่วย มูลค่า 35,211 ล้านบาท ในจำนวนดังกล่าว มีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้ชาวจีน มูลค่าสูงสุด 16,992 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 48.3% ของมูลค่าทั้งหมด

ส่วน 4 สัญชาติที่มีมูลค่าการโอนรองลงมาคือ รัสเซีย จำนวน 2,556 ล้านบาท สัดส่วน 7.3% ตามด้วยสหรัฐอเมริกา จำนวน 1,289 ล้านบาท สัดส่วน 3.7% สหราชอาณาจักร จำนวน 1,287 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.7% และพม่า จำนวน 1,274 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.6% ตามลำดับ

จังหวัดที่มีคนต่างชาติโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด ดังนี้ อันดับ 1 ชลบุรี 43.4% อันดับ 2 กรุงเทพฯ 37.7% ทั้งสองจังหวัดมีสัดส่วนจำนวนหน่วยและมูลค่ารวมกันสูงถึง 81.1% โดยจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดคนต่างชาติมากที่สุด 5 อันดับแรกคือ ชลบุรี กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ และประจวบคีรีขันธ์

ขณะที่มูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดคนต่างชาติมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ กรุงเทพฯ ชลบุรี ภูเก็ต เชียงใหม่ และประจวบคีรีขันธ์ ส่วนใหญ่อยู่ใน 2 จังหวัดแรก คือกรุงเทพฯ มีมูลค่า 20,233 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 57.5% และชลบุรี มูลค่า 9,840 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 27.9%

ที่มา – รัฐบาลไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา