นี่ก็จะจบปี 2559 หรือปีวอกกันแล้ว และคงไม่แปลกที่คนในวงการธุรกิจจะโล่งใจ เพราะปีนี้เศรษฐกิจค่อนข้างซบเซา ดังนั้นอย่ารอช้า มาทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในปีนี้กัน ผ่านสายตาของทีมงาน Brand Inside โดยเริ่มต้นที่วงการอสังหาริมทรัพย์กันก่อน
กระตุ้นกำลังซื้อผ่านมาตรการภาษีโอน
เรียกว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญของคนซื้อบ้าน และคอนโดมิเนียมกันเลยทีเดียว เพราะตั้งแต่วนที่ 30 ต.ค. 2558 – 29 เม.ย. 2559 รัฐบาลได้ประกาศนโยบายลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนและจำนองอสังหาริมทรัพย์ เหลือ 0.01% จากเดิมอยู่ที่ 2% และ 1% ตามลำดับ ทำให้ช่วงต้นปี เจ้าของโครงการทั้งบ้าน และคอนโดมิเนียมต่างเร่งระบายสต๊อกที่คงค้างอยู่ บ้างก็เปิดตัวโครงการใหม่รับดีมานด์ และเรียกว่ากระตุ้นกำลังซื้อฝั่งอสังหาริมทรัพย์ให้กลับมาคึกคักอีกครั้งก็ว่าได้ เพราะช่วงนั้นเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวมากนัก ประกอบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังไม่กลับมาอย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตามเมื่อทุกอย่างกลับมาสู่ภาวะปกติ ภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ไทยกลับไม่ได้เติบโตมากนัก เพราะช่วงครึ่งปีหลังแรงซื้อกลุ่มคอนโดมีเนียมระดับเริ่มต้นเริ่มชะลอตัว ส่งผลให้ทั้งตลาดจำหน่ายแค่คอนโดมีเนียมระดับกลาง ถึงบนเท่านั้น ส่วนบ้านเดี่ยวก็มีแนวโน้มทรงตัว โดย สัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ย้ำว่า การขายที่อยู่อาศัยในปี 2559 ต่ำที่สุดในรอบ 7 ปี ผ่านยอดขายทั้งหมด 94,000 หน่วย ลดลงจากปีก่อน 10 – 15% แต่ในปี 2560 มีโอกาสกลับมาเติบโตเหมือนเดิม ผ่านปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจฟื้นตัว
สายสีม่วงฉุดความฝันนักพัฒนาโครงการ
ขณะเดียวกัน การไม่เติบโตของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้ ยังมาจากปัจจัยเรื่องรถไฟฟ้าสายสีม่วง ที่ไม่สามารถเชื่อมต่อกับสายหลักได้ ทำให้ผู้บริโภคที่ซื้อคอนโดมิเนียมย่านนั้นไปแล้วต้องเซ็งไปตามๆ กัน ส่วนฝั่งนักพัฒนาโครงการก็คงไม่รู้ว่าจะทำตลาดกันต่อไปอย่างไร เพราะปัจจัยเรื่องรถไฟฟ้าไม่สามารถดึงคนเข้ามาใช้บริการได้แล้ว จน กิตติพล ปราโมช ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บมจ.สัมมากร บอกว่า พอไม่สามารถเชื่อมต่อสายสีม่วงกับสายอื่นๆ ได้ ยอดขายก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นการเปิดโครงการคอนโดมิเนียมหลังจากนี้ จะพิจารณาจากโลเคชั่นรถไฟฟ้าสีสร้างเสร็จแล้วด้วย
แต่แล้วทางรัฐบาลคสช. ก็ใช้อำนาจม.44 ปลดล็อคเรื่องรถไฟฟ้าสีม่วงได้สำเร็จ ผ่านการเชื่อมต่อกับสายสีน้ำเงินภายในกลางถึงปลายปี 2560 ดังนั้นปัญหาระยะทาง 1 กม.ที่หายไปก็น่าจะบรรเทาลงได้โดยเร็ว และคอนโดมิเนียมที่อยู่แนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงก็คงจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง
ต่างชาติคืออีกทางเลือกเมื่อตลาดไทยซบ
อีกเรื่องที่เห็นไดัชัดคือ ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ไทยเริ่มทำตลาดกับชาวต่างชาติมากขึ้น โดยเฉพาะชาวจีน เพราะคนที่นั่นยังมีกำลังซื้อ ประกอบกับชอบลงทุนเรื่องอสังหาริมทรัพย์ เพราะผลตอบแทนค่อนข้างสูง ที่สำคัญราคาอสังหาริมทรัพย์ทำเลทองของไทย เมื่อเทียบกับพื้นที่ลักษณะเดียวกันในประเทศจีนถือว่าต่ำกว่าเยอะ ดังนั้นไม่ใช่แค่ซื้อเพื่อลงทุน แต่ชาวจีนบางกลุ่มยังซื้อเพื่ออยู่อาศัยด้วย โดยที่เห็นชัดๆ จะมี แสนสิริ ที่ปีนี้ปิดยอดขายจากต่างชาติได้ถึง 5,600 ล้านบาท และทำการเปิดขาย Pre-Sale พร้อมกันในประเทศไทย และจีน, ไต้หวัน, สิงคโปร์ และฮ่องกงด้วย
Property Tech คือกระแสใหม่ที่ปฏิวัติวงการ
สุดท้ายคือเรื่อง Property Tech ที่หลายบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เริ่มชูจุดเด่นเรื่องเทคโนโลยีที่พักอาศัย เพื่อขายคอนโดมิเนียม และบ้านเดี่ยวได้ง่ายขึ้น ที่เห็นตอนนี้ก็มีทั้ง อนันดา, เอพี และ แสนสิริ เนื่องจากตอนนี้ทุกคนมี Smart Device ทั้ง Smartphone และ Tablet ติดตัวกันเกือบทุกคน ดังนั้นการควบคุมบ้านแบบอัจฉริยะก็น่าจะตอบโจทย์การตัดสินใจซื้อบ้านของผู้บริโภคได้ นอกจากปัจจัยเรื่องวัสดุ และดีไซน์การก่อสร้างแล้ว และไม่แน่ว่าปีหน้าอาจเห็นเทคโนโลยีที่มากกว่าการสั่งปิดไฟ หรือเปิดประตูผ่าน Application ก็เป้นได้
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา