Uniqlo เปิดตัว Re.Uniqlo แจ็คเก็ตขนสัตว์กันหนาว ที่ผลิตจากเสื้อผ้าเก่ารีไซเคิล 100%

ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่หลายๆ ฝ่ายให้ความสนใจ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่มีส่วนในการสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม

ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมแฟชัน ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยจากสถิติพบว่าในปี 2014 ผู้คนทั่วโลกซื้อเสื้อผ้าแฟชันเพิ่มขึ้นกว่า 60% เมื่อเทียบกับปี 2000 และในแต่ละปีเสื้อผ้าแฟชันกว่า 85% ถูกทิ้งไปในแต่ละปี นอกจากนี้อุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าแฟชัน เป็นต้นเหตุการปล่อย Carbon Footprint กว่า 10% ในแต่ละปี ส่วนกระบวนการซักเสื้อผ้าแฟชันในบางประเภท ก็กลายเป็นการสร้างขยะพลาสติกปล่อยลงสู่ทะเล

Uniqlo ก็นับว่าเป็นหนึ่งในแบรนด์เสื้อผ้ารายใหญ่จากประเทศญี่ปุ่น ที่แม้จะไม่ได้เป็น Fast Fashion แบบแบรนด์อื่นๆ แต่ด้วยราคาที่ไม่แพงมากนัก ทำให้บางครั้งเสื้อผ้าของ Uniqlo ถูกทิ้งได้ง่ายๆ เช่นเดียวกัน ซึ่งแน่นอนว่าเสื้อผ้า Uniqlo ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างขยะ และการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เช่นกัน

Uniqlo จึงได้เปิดตัวโครงการ Re.Uniqlo เพื่อจูงใจให้ลูกค้านำเสื้อผ้า Uniqlo เก่าของตัวเอง มาส่งคืนให้กับ Uniqlo เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล โดยเสื้อผ้าจากโครงการ Re.Uniqlo ตัวแรกคือ เสื้อแจ็คเก็ตกันหนาวที่ทำจากขนเป็ด

โดยโครงการ Re.Uniqlo มีอยู่ด้วยกัน 3 ขั้นตอนสำคัญคือ

    • กระบวนการเก็บเสื้อผ้า Uniqlo เก่าที่ไม่ใช้แล้ว ที่ลูกค้านำมาคืนภายในร้าน Uniqlo
    • กระบวนการคัดเลือกเสื้อผ้า แบ่งเป็นเสื้อผ้าที่จะนำไปใช้ซ้ำ และเสื้อผ้าที่จะเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล โดยจะแบ่งเสื้อผ้าออกเป็น 18 ประเภท ตามฤดู เพศ ขนาด อายุ วัฒนธรรม และศาสนาของผู้สวมใส่ ตามความต้องการของเสื้อผ้าที่จะนำไปส่งถึงมือผู้รับบริจาคที่มีความจำเป็น
    • กระบวนการรีไซเคิล ซึ่งเป็นกระบวนการรีไซเคิลขนสัตว์ ที่จะช่วยลดการใช้เชื้อเพลิง และการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ จากกระบวนการผลิตเสื้อผ้าใหม่

ซึ่งในปัจจุบัน Uniqlo ได้รับเสื้อผ้าที่ลูกค้าส่งคืนมากแล้วกว่า 650,000 ตัว นับตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว ซึ่งเสื้อผ้าเหล่านี้จะได้รับการคัดแยก ทำความสะอาด และกลายเป็นเสื้อแจ็คเก็ตกันหนาว Bomber-esque รุ่นใหม่ ที่ออกแบบโดยทีม Uniqlo U

นอกจากนี้แล้ว Uniqlo ในบางประเทศ ยังเปิดโอกาสให้ลูกค้านำเสื้อผ้า Uniqlo เก่า ที่ขาดหรือชำรุด นำมาคืนให้กับ Uniqlo เพื่อแลกกับส่วนลด 10 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 302 บาท

ที่มา – Fastcompany, Business Insider

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา