Re-skill และ Upskill อนาคตของแรงงานในยุค AI ครองอุตสาหกรรม

ปีนี้เศรษฐกิจไม่ดี สถานการณ์โดยรวมสำหรับคนทำงานก็ไม่ดีนัก แล้วแบบนี้ “แรงงาน” ควรจะพัฒนาตัวเองอย่างไร องค์กรควรจะปรับเปลี่ยนไปในทิศทางไหน เพื่อให้อยู่รอดและพร้อมสำหรับการเติบโตในอนาคต

ศิริยุพา รุ่งเริงสุข ที่ปรึกษาบริหารบำรุงราษฎร์อะคาเดมี ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล ชวนคุยเรื่องทักษะของแรงงานในยุคที่ AI และ Technology กำลังครองอุตสาหกรรม ภาพรวมของภูมิภาคอาเซียน และประเทศไทย เป็นอย่างไรบ้าง มีอะไรที่น่าเป็นห่วง ซึ่งแรงงานอย่างเราๆ ควรรู้ไว้

ศิริยุพา รุ่งเริงสุข ที่ปรึกษาบริหารบำรุงราษฎร์อะคาเดมี ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล

แรงานอาเซียนรวมถึงไทยต้องพัฒนาทักษะด่วน

ภาพรวมในอาเซียนและไทยเวลานี้ มีลักษณะคล้ายและไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือมีปัญหาเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะ การศึกษา และการสาธารณสุข และต้องลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจโดยเร่งด่วน ซึ่งว่ากันตามข้อมูลแล้ว อาเซียนมีแรงงานมากเป็นอันดับ 3 ของโลก กว่า 350 ล้านคน (ไทย 39 ล้านคน) รองจากจีนและอินเดีย แต่ปัญหาที่พบ มีดังนี้

  • สิงคโปร์ ต้องพึ่งพิงแรงงานต่างชาติเป็นหลัก
  • มาเลเซียและไทย ขาดแรงงานที่มีทักษะระดับสูง โดยเฉพาะด้านวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์
  • อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ มีแรงงานจำนวนมาก แต่ขาดทักษะและความรู้
  • บรูไน พึ่งพาน้ำมันเป็นหลัก แต่ขาดการวิจัยและพัฒนา ที่จะก้าวไปสู่แรงงานด้านอื่นๆ
  • กลุ่มประเทศ​ CLMV ขาดการศึกษา ทำให้ขาดการพัฒนาทักษะทางวิชาชีพเฉพาะทาง

Klaus Schwab นักเศรษฐศาสตร์ ประธาน WEF กล่าวในการประชุม WEF 2016 ว่า ในปี 2022 แรงงานทั่วโลกอย่างน้อย 54% หรือครึ่งหนึ่งต้องการ Re-skill และ Up-sklill เพราะจะมีงานจำนวนมากหากไป ถูกแทนที่โดยเทคโนโลยี และ AI

กลุ่มสาขาที่จะถูก Disruption ได้แก่ Media, Education, Energy และ Healthcare โดยจะแทนที่โดย Digital Media, Ed Tech, Sustainable Energy และ Biotechnology

ภาพจาก Shutterstock

IBM, McKinsey และ CNBC แนะทางออกสำหรับแรงงานยุคใหม่

IBM ได้ทำรายงานเกี่ยวกับแรงงาน โดยระบุว่า แรงงานทั่วโลกกว่า 120 ล้านคนต้องพัฒนาทักษะการทำงานใหม่ๆ นอกจากนี้ต้องพัฒนาความสามารถในการปรับตัว การบริหารจัดการเวลา และความสามารถในการทำงานร่วมกันเป็นทีม

ขณะที่ McKinsey ระบุว่า ต้องพัฒนาทักษะทางเทคโนโลยี, ทักษะทางสังคม (การสื่อสาร, ความเห็นอกเห็นใจ) และทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ เพื่อให้แรงงานทำให้สิ่งที่ AI ทำไม่ได้

ปิดท้ายด้วย CNBC บอกว่า แรงงานต้องมีความยืดหยุ่นทำงานได้หลากหลาย สามารถทำงานเป็นทีม หรือ Agile สามารถคิดวิเคราะห์ มีทักษะทางภาษา และเทคโนโลยี ซึ่งทั้งหมดจะเห็นได้ว่า แนะนำไปในทิศทางเดียวกัน

ภาพจาก Shutterstock

5 ทักษะสำคัญช่วยให้แรงงานต่างวัยทำงานร่วมกันได้

ศิริยุพา บอกว่า ปัจจุบันแรงงานมีปัจจัยเรื่องความแตกต่างของวัยมากขึ้น แต่ทุกวัยต้องมีการทักษะในลักษณะเดียวกัน โดย 5 ทักษะสำคัญในการทำงานยุคใหม่ คือ ภาษา การใช้คอมพิวเตอร์ การคำนวณวิเคราะห์ และการสื่อสารปฏิสัมพันธ์ แต่ยังมีทักษะรองที่จำเป็นต้องด้วย

เช่น มีทัศนคติเชิงบวก ปรับตัวเร็ว ประเมินจุดเด่นจุดด้อยของตัวเอง พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่เสมอ และสำหรับผู้สูงวัยต้องรักษาสุขภาพตัวเองให้แข็งแรงเพื่อพร้อมรับการทำงานหลังเกษียณ โดยอาชีพเสริมที่น่าสนใจ เช่น เป็นพนักงานขาย, รับจ้างดูแลคนป่วย คนชรา, สอนพิเศษ, ขับรถนอกเวลางาน, พนักงานเสิร์ฟอาหาร, Gig Workers

แรงงานไทยน่าห่วง ปรับตัวช้า ไม่ชอบการเปลี่ยน รอรับการช่วยเหลือ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาของคนไทยประการหนึ่งคือ คนไทยไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงเข้มข้นกว่าชาติอื่นๆ ภาษาอังกฤษไม่ได้ ข้าราชการทำงานช้าและไม่เคยเปลี่ยนแปลง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ทัศนคติ (Attitude) ของคนไทยนั้นเปลี่ยนแปลงยากมาก และชอบที่จะรอรับการช่วยเหลือมากกว่า พึ่งพาตนเองเป็นหลัก

ดังนั้น สิ่งที่ตามมาคือ แรงงานไทย Up-skill และ Re-skill ไม่ทันกับความต้องการของตลาด ภาครัฐช่วยอะไรไม่ได้ ทำให้มีโอกาสพึ่งพาแรงงานต่างชาติมากขึ้น ทำให้ต้นทุนสูง และสุดท้ายองค์กรต่างๆ ต้องสร้างอะคาเดมีของตัวเอง เพราะแรงงานไม่เพียงพอ ไม่ตรงกับความต้องการ หรือ ใช้งานไม่ได้

ภาพจาก Shutterstock

สำรวจดูความต้องการแรงงาน งานไหนรอด งานไหนร่วง

ในภาพรวมจนถึงปี 2564 ความต้องการแรงงานจะลดลงโดยเฉลี่ย 2% อาจฟังดูน้อย แต่แท้จริงแล้ว มีงานส่วนที่เพิ่มขึ้น แต่แรงงานคนทำไม่ได้ หรือไม่จำเป็น แรงงานที่อายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปและขาดทักษะเฉพาะด้านมีความเสี่ยงสูงที่จะตกงาน สถาบันการเงิน, แรงงานภาคค้าปลีก, งานด้านธุรการพื้นฐาน มีความต้องการลดลง

แต่งานที่ยังมีความต้องการของตลาด เช่น แรงงานด้านไอที มีแนวโน้มเพิ่มจำนวนแรงงาน 11% แต่ยังขาดแคลนและหาไม่ได้ งานที่ใช้ทักษะด้านการสื่อสาร งานวิศวกร งานเกี่ยวกับหุ่นยนต์เอไอ รวมถึง งานด้านทรัพยากรบุคคลยุคใหม่ ยังมีความต้องการเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ งานและธุรกิจที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ ก็มีความต้องการมากขึ้นเพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัยที่กำลังเกิดขึ้น

ภาพจาก Shutterstock

4 ปัจจัยสร้างความพอใจ 3 ปัจจัยจูงใจให้อยากทำงาน

ศิริยุพา บอกว่า สุดท้ายเรายังคงต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพ และสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นกับสังคม ดังนั้น 4 ปัจจัยนี้จะสร้างความพึงพอใจในการทำงาน ได้แก่

  • สร้างสมดุลในชีวิตและการทำงาน
  • ได้รับค่าตอบแทนที่เพียงพอ และได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหาร
  • มีการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะ
  • ได้รับโอกาสใหม่

แต่นอกจากพึงพอใจในการทำงานแล้ว ก็ต้องมี 3 ปัจจัยที่จูงใจให้อยากทำงานด้วย ได้แก่

  • ความก้าวหน้าในอาชีพการงาน
  • ปรับเพิ่มเงินเดือนและสวัสดิการที่ดี
  • ความสมดุลในการทำงานที่ดีกว่าเดิม

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าในปี 2563 จะมีแรงงานเข้าสู่ตลาดแรงงานประมาณ 524,893 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ประมาณ 9.27% โดยอยู่บนปัจจัยที่ว่า ระบบการศึกษาสร้างแรงงานไม่ตรงกับความต้องการและใช้งานจริงไม่ได้ โดยแรงงานกลุ่มนี้มีตั้งแต่ผู้ที่จบปริญญาตรี ปวส. ปวช. และระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6

ปัญหาคือ แนวโน้มของภาคส่งออก, ภาคการผลิต, ภาคการก่อสร้าง, ภาคบริการ อยู่ในช่วงชะลอตัว ลดรับแรงงาน และมีการปรับไปใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ดังนั้นโอกาสตกงานหรือไม่มีงานทำจึงสูงขึ้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา