รัชดา – นิวไชน่าทาวน์หรืออาณานิคมใหม่จีน? เมื่อธุรกิจจีนยึดห้วยขวาง ดูดเงินคนจีนและส่งกลับจีน ไทยได้อะไร?

บทความโดยวรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

เมื่อพูดถึงไชน่าทาวน์ พื้นที่เก่าแก่และอยู่ในการรับรู้ทันทีย่อมเป็นเยาวราช แต่ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาพื้นที่ในโซนห้วยขวาง รัชดาก็เริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะเดอะนิวไชน่าทาวน์ เพราะเมื่อก้าวเท้าขึ้นจากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีห้วยขวาง นอกเหนือจากวินมอเตอร์ไซค์ที่คิวยาวเหยียดแล้ว ภาพร้านรวงทอดยาวบนถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญกลับเต็มไปด้วยป้ายภาษาจีนก็กลายเป็นจุดเด่นของพื้นที่แห่งนี้

แม้ตะวันจะลับฟ้าแต่ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญยังคงจอแจด้วยรถยนต์และรถจักรยานยนต์วิ่งแหวกความสว่างของป้ายไฟหลากหลายที่มีตัวอักษรภาษาจีน

เมื่อย่างเท้าเข้าสู่พื้นที่ไชน่าทาวน์แห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพฯ จะพบทันทีว่าไม่ใช่แค่ป้ายรายรอบที่เป็นภาษาจีน แต่เสียงที่ได้ยินจากผู้คนที่เดินผ่านไปมา ก็เป็นภาษาจีน สลับกับภาษาไทยอย่างชัดเจน พร้อมๆ กับการที่กลิ่นของเครื่องเทศแบบจีน โดยเฉพาะหม่าล่าที่อบอวลไปตามถนน เพราะที่แห่งนี้ ล้วนเต็มไปด้วยร้านอาหารจีน แบบจีนแท้ๆ

แม้ถนนจะเล็กแคบ แต่ยวดยานที่วิ่งผ่านไปผ่านมากลับแน่นขนัดและจอแจตลอดทั้งวัน ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ส่วนบุคคล รถประจำทางสีแดงขนาดใหญ่ ไปจนถึงจักรยานยนต์ทั้งส่วนตัวและรับจ้าง ซึ่งล้วนแต่ทำให้ถนนเส้นนี้ยากแก่การข้าม

แต่ไม่ใช่แค่ร้านอาหาร และร้านค้าต่างๆ ที่มีลักษณะจีนแท้ๆ เท่านั้น แต่เรายังสามารถสังเกตเห็นเดลิเวิรี่สัญชาติจีน ที่วิ่งส่งอาหารไปมาตามถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสื้อสีเหลืองล้วน พร้อมกระเป๋าอาหารสีเหลืองโทนเด่นเตะตา เดลิเวอรี่นี้ใช้ชื่อว่า โกคูซึ่งในช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมาก็ถูกพูดถึงผ่านการโพสต์ของ นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย ที่เล่าประสบการณ์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ในการพบเจอกับร้านอาหารจีนที่ล้วนมีแต่ภาษาจีนตั้งแต่เจ้าของ พนักงาน ใบเสร็จ ไปจนถึงแอพลิเคชั่นส่งอาหารที่เป็นภาษาจีน

แอพลิเคชั่นส่งอาหารนามโกคูนี้ เมื่อเปิดใช้บริการจะเต็มไปด้วยภาษาจีน แม้ภายในจะมีฟังชั่นให้เปลี่ยนเป็นภาษาไทยและอังกฤษก็ตาม แต่เมนูหลักๆ ก็ยังคงเป็นภาษาจีน และหากท่านคิดว่านี่อาจเป็นเพียงธุรกิจไทยที่อยากเจาะกลุ่มคนจีน ก็อาจจะต้องผิดหวัง เพราะเมื่อสืบค้นข้อมูลการจดทะเบียนแล้ว โกคู เป็นแอพลิเคชั่นสายเลือดจีนแท้ๆ

ชุดสีเหลืองสะดุดตา พร้อมตัวอักษรภาษาจีนขนาดใหญ่ และหมวกกันน็อคสีเดียวกัน คือเครื่องแบบของไรเดอร์ แอพลิเคชั่นโกคู

โกคู ดำเนินการโดยบริษัท โกคูออนไลน์ จำกัด และข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ระบุว่า มีชื่อกรรมการ 1 คน คือ นายหวัง เจียน จดทะเบียนจัดตั้ง 21 ก.ย. 2563 ทุนจดทะเบียน 29,000,000 บาท การถือหุ้นแบ่งเป็น คนไทย 1 คน จำนวน 14.79 ล้านบาท และคนจีน 2 คน จำนวน 14.21 ล้านบาท หรือตีเป็น คนไทย 51% คนจีน 49% ซึ่งอยู่ในขอบข่ายที่กฎหมายกำหนด

ข้อมูลอื่นๆ ระบุว่า บริษัท โกคูออนไลน์ จำกัด จดทะเบียนไว้เพื่อประกอบกิจการให้บริการทำความสะอาด บริการจัดส่ง บริการนวด กิจการซูเปอร์มาร์เก็ต ประกอบกิจการให้บริการ ผลิต ออกแบบ ซ่อมบำรุง ดูแลพัฒนา จำหน่าย โปรแกรม โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เว็บไซต์ 

ข้อมูลทางการเงินจากเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ยังระบุอีกว่า ในปี 2564 โกคู มีรายได้รวมราว 16 ล้านบาท แต่ยังคงมีรายจ่ายอยู่ที่ 35 ล้านบาท และยังขาดทุนเกือบ 19 ล้านบาท

ความน่าสนใจเพิ่มเติมคือ………ชื่อ โกคู ไม่ได้มีแค่บริษัทเดียว

เพราะเมื่อสืบค้นเพิ่มเติม พบว่าในประเทศไทยมีการจดทะเบียนโดยใช้ชื่อบริษัทประกอบด้วยคำว่า โกคู ราว 10 บริษัท ซึ่งมีอีก 3 บริษัทที่เกี่ยวโยงกันกับบริษัท โกคูออนไลน์ จำกัด ผ่านการมีกรรมการบริษัทเพียงคนเดียว และเป็นคนเดียวกัน หรือคือนายหวัง เจียน

อีก 3 บริษัทประกอบด้วย

บริษัท โกคู แคปปิตอล จำกัด

จดทะเบียนว่าประกอบกิจการบริการที่ปรึกษาธุรกิจการเงินและธุรกิจเงินร่วมลงทุนและให้กู้ยืมเงิน

จดทะเบียนจัดตั้ง 27 พ.ย. 2563 ทุนจดทะเบียน 4,000,000 บาท ผู้ถือหุ้นเป็นคนจีน 1 ราย ถือหุ้นทั้งหมด โดยในปี 2563 และ 2564 ผู้ถือหุ้นยังคงเป็นคนไทย 51% ก่อนในปี 2565 จะปรับเปลี่ยนเป็นคนจีนเป็นผู้ถือหุ้น 100% เต็ม

สำนักงานอยู่ที่ 90/41 หมู่ที่ 5 ต.แพรกษาใหม่ อ.เมืองสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ

บริษัท โกคู อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

จดทะเบียนว่าให้บริการด้านเทคนิค และบริการสนับสนุนแก่บริษัทในเครือ ดำเนินการวิจัย พัฒนา และขยายความสามารถทางเทคโนโลยี จดทะเบียนจัดตั้ง 13 ธ.ค. 2565 ทุนจดทะเบียน 10,000,000 บาท โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นแบ่งเป็น คนจีน 4 ราย 3 แสนบาท คนสิงคโปร์ 1 ราย 9.7 ล้านบาท

สำนักงานอยู่ที่ 61/71 ซอยลาดพร้าว 31 แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร

บริษัท โกคู พร๊อพเพอร์ตี้ เมเนจเม้นท์ จำกัด

จดทะเบียนว่าเป็นกลุ่มธุรกิจด้านอาหาร/ภัตตาการ มีวัตถุประสงค์การจัดตั้งเพื่อการบริการ ประกอบกิจการรับจัดงานเลี้ยง ให้บริการโฆษณาทางวัฒนธรรมความบันเทิง

จดทะเบียนจัดตั้ง 27 พ.ย. 2563 ทุนจดทะเบียน 4,000,000 บาท ผู้ถือหุ้นเป็นคนจีน 5 ราย โดยในปี 2563 และ 2564 ผู้ถือหุ้นยังคงเป็นคนไทย 51% ก่อนในปี 2565 จะปรับเปลี่ยนเป็นคนจีนเป็นผู้ถือหุ้น 100% เต็ม 

มีสำนักงานอยู่ที่ 90/41 หมู่ที่ 5 ต.แพรกษาใหม่ อ.เมืองสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ

โดยเมื่อตรวจสอบจากข้อมูลของภาครัฐ พบว่าการที่ชาวต่างชาติจะถือหุ้นในบริษัทได้เกิน 49% ต้องเป็นธุรกิจที่ขอสนับสนุนจาก BOI หรือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งกำหนดว่าธุรกิจที่สามารถขอรับการสนับสนุนได้ แบ่งดังนี้

  1. อุตสาหกรรมการเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ
  2. อุตสาหกรรมการแพทย์อุตสาหกรรมเครื่องจักรและยานยนต์
  3. อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
  4. อุตสาหกรรมโลหะและวัสดุ
  5. อุตสาหกรรมเคมีและปิโตรเคมี
  6. สาธารณูปโภค
  7. อุตสาหกรรมดิจิทัล
  8. อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 
  9. บริการที่มีมูลค่าสูง

ซึ่งจากข้อมูลที่เปิดเผยเป็นการทั่วไป มีแนวโน้มว่าบริษัท โกคู พร๊อพเพอร์ตี้ เมเนจเม้นท์ จำกัด อาจไม่เข้าข่ายธุรกิจที่ได้รับการสนับสนุนจาก BOI ในเงื่อนไขประเภทการประกอบธุรกิจ

มีความเป็นไปได้ว่ากลุ่มบริษัท “โกคู” ที่นำโดยนายหวัง เจียน จะดำเนินธุรกิจต่อเนื่องไปถึงธุรกิจบริการที่มีมูลค่าสูง โดยตั้งเป้าเป็น “‘ซูเปอร์แพลตฟอร์ม’ ที่เติมเต็มพลังและเสริมองค์ประกอบใหม่ๆ ให้กับวัฒนธรรมจีน ซึ่งจะเข้ามาเติมเต็มสุนทรียะของคนรุ่นใหม่ เปิดประสบการณ์ใหม่ ไปพร้อมกับการรักษาจุดสมดุลระหว่างสิ่งดั้งเดิมและนวัตกรรมเข้าไว้ด้วยกัน”
อ้างอิงจากผู้จัดการออนไลน์ (https://mgronline.com/business/detail/9650000010553)

ทั้งนี้ธุรกิจที่ได้รับการสนับสนุนจาก BOI ของชาวต่างชาติจะได้รับสิทธิ์พิเศษได้แก่ อัตราส่วนพนักงานไทยต่อชาวต่างชาติสามารถต่อรองได้ อัตราภาษีนิติบุคคล 0% อนุญาตให้เป็นชาวต่างชาติเจ้าของได้ 100% และไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าเครื่องจักร

หากย้อนกลับไปที่ธุรกิจส่งอาหารของโกคู การดำรงอยู่ของแอพส่งอาหาร จะไม่อาจยืนระยะได้ยาวนานนัก หากปราศจากแขนขาสำคัญคือ ไรเดอร์ และจากการเฝ้าสังเกตไรเดอร์ชุดสีเหลือง พร้อมกระเป๋าสีเหลืองเด่นตา พบว่ามีการประชาสัมพันธ์การร่วมงานกับ โกคู บนกระเป๋าใส่อาหาร ระบุว่า รับสมัครไรเดอร์ เงินเดือนเริ่มต้น 20,000 บาท เงินเดือนสามารถเพิ่มได้ไม่จำกัด ซึ่งน่าจะเป็นข้อความที่จูงใจไม่มากก็น้อย

นอกจากแอพลิเคชั่นส่งอาหารแบบจีนแท้ๆ แล้ว ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญยังมีธุรกิจอื่นที่เพิ่มบรรยากาศความเป็นนิวไชน่าทาวน์มากกว่าแค่ร้านอาหาร หรือ ร้านขายของแบบจีน ซึ่งก็คือ บริษัทรับฝากขาย/เช่า ที่ดิน บ้าน คอนโดมีเนียม ซึ่งป้ายหน้าร้านเต็มไปด้วยภาษาจีน ดำเนินการโดยบริษัท หัว เหยิน จือ เจีย อินเตอร์เนชั่นแนล เทรดดิ้ง จำกัด

โดยมีข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ระบุว่า มีกรรมการ 2 คน ได้แก่ นายเติ้ง เหว่ยจิ้ง และ นางสาวจารุวรรณ ลีลือสาย เป็นธุรกิจประเภทตัวแทนและนายหน้าอสังหาริมทรัพย์โดยได้รับ ค่าตอบแทนหรือตามสัญญาจ้าง จดทะเบียนจัดตั้ง 25 พ.ย. 2563 ทุนจดทะเบียน 5,000,000 บาท เป็นคนไทยถือหุ้น 2 ราย เป็นเงิน 2.55 ล้านบาท หรือ 51% คนจีน 1 ราย 2.45 ล้านบาท หรือ 49% ซึ่งอยู่ในปริมาณที่กฎหมายกำหนด

บริษัท หัว เหยิน จือ เจีย อินเตอร์เนชั่นแนล เทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจประเภทตัวแทนและนายหน้าอสังหาริมทรัพย์

ความเฟื่องฟูในย่านจีนใหม่ได้สะท้อนภาพหลากหลาย ทั้งความคึกคักในการลงทุนของชาวจีนในประเทศไทย ไปจนถึงข้อกังวลเรื่องการผูกขาดหารายได้แบบ จีน-จีน ที่หลายคนมองเทียบว่าอาจคล้ายกับกรณี ทัวร์ศูนย์เหรียญ กล่าวคือ มีเงินตกถึงคนท้องถิ่นเป็นปริมาณที่น้อย เมื่อเทียบกับการหมุนเวียนเม็ดเงินของคนจีนในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม การกำกับหรือดูแลประเด็นเหล่านี้ให้เป็นไปภายใต้กรอบกฎหมาย เป็นอำนาจที่ภาครัฐต้องดูแลกวดขัน

ร้านอาหารจีนหลานเจียนเซียงจื่อในถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ
ร้านอาหารจีนหัว ทิน เกิ๊ตในถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ
ร้านขายบะหมี่เส้นสดสูตรเมืองฉางซาตั้งเคียงคู่กับร้านบริการซักอบผ้า

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา