เจาะปรากฏการณ์เพลงแร็พกับ Rap is Now ผู้รันวงการให้เพลงแร็พกลับมามีสีสัน

พูดคุยกับทีมงาน Rap is Now คอมมูนิตี้สำหรับแร็ปเปอร์สายพันธุ์ใหม่ ในวันที่กระแสเพลงแร็พกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง พร้อมกับสร้างปรากฎการณ์รายการวาไรตี้ในจอทีวี แย่งเรตติ้งกันสนั่น

แร็ปเปอร์เลือดใหม่ ปลุกเพลงแร็พให้เกิดอีกครั้ง

ถ้าพูดถึงแนวเพลงฮิปฮอป หรือเรียกอีกชื่อว่าเพลงแร็พ ในอดีตคงจะนึกถึงไม่กี่รายอย่างแร็ปเปอร์ยุค 90 โจอี้ บอย, ไทเทเนียม หรือถ้าใต้ดินหน่อยก็จะเป็นดาจิม ซึ่งแนวเพลงนี้ถือว่ามีคนฟังค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม ยังไม่แมสเท่าที่ควร ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มใต้ดินมากกว่า

ในยุคปัจจุบันต้องบอกว่าเพลงแร็พได้กลับมาคืนชีพอีกครั้ง พร้อมกับศิลปินหน้าใหม่ที่แจ้งเกิดจากกลุ่มเล็กๆ จนตอนนี้ต้องเรียกว่าเป็นปรากฎการณ์ทั้งในวงการเพลงที่เพลงแร็พเป็นที่นิยมมากขึ้น เห็นได้จากยอดวิวใน YouTube ของเพลงแร็พต่างสูงลิบ รวมทั้งแร็ปเปอร์กลายเป็นกิมมิกที่ศิลปินวงใหญ่ๆ ต่างเชิญไปร่วม Featuring ในเพลง

ที่สำคัญคือได้เห็นกระแสของเพลงแร็พเป็นอคนเทนต์ในรายการทีวีทั้งรายการ The Rapper ทางช่อง Workpoint และ Show Me The Money ทางช่อง True4U ทั้งคู่ต่างสร้างกระแสบนโลกออนไลน์ได้อย่างดี

จึงพามาเจาะกระแสของเพลงแร็พกับ Rap is Now คอมมูนิตี้ขนาดใหญ่ของกลุ่มแร็ปเปอร์ที่มีคนรู้จักมากที่สุด มีคอนเทนต์จัดการแข่งขันแร็พสด มีศิลปินดังๆ ที่แจ้งเกิดจาก Rap is Now ไม่น้อยเลยทีเดียว

หลายคนรู้จัก Rap is Now ในฐานะรายการแข่งขันแร็พ จริงๆ แล้วเรียกว่าคอมมูนิตี้ที่รวบรวมคนที่มีใจรักในการแร็พ เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2000 ตอนแรกอยู่ในเว็บบอร์ดสยามฮิปฮอป เน้นเพลงใต้ดินเป็นเฉพาะกลุ่ม เริ่มจากชอบแร็พ ชอบเขียน

ต้าร์-สักกพิช มากคุณ หรือ aka ARTISTRYX ปัจจุบันเป็น Producer รายการของ Rap is Now ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นว่า

“ในช่วงแรกเริ่มมีทีมงานอยู่ 4 คน ปัจจุบันมี 10 คนแล้ว ทำเป็นคอมมูนิตี้ก่อน จากนั้นเริ่มจัดปาร์ตี้ในปี 2009 เพราะช่วงนั้นกระแสของเพลงฮิปฮอปได้ซาลงไป เหมือนจัดปาร์ตี้เพื่อเป็นการรียูเนียนให้คนในวงการมาเจอกัน ก็มีคนมา 300 คน ทำให้เห็นได้ว่าคนยังสนใจเพลงฮิปฮอปอยู่ เลยมีการจัดอยู่เรื่อยๆ”

จากปาร์ตี้สู่แร็พแบทเทิล

จนถึงปี 2012 ได้เกิดไอเดียในการทำ “แร็พแบทเทิล” จึงทำให้ Rap is Now กลับมาเป็นที่รู้จักมากขึ้น แร็พแบทเทิลในขณะนั้น เป็นรูปแบบของการ Audio Battle ซึ่งการแข่งขันที่เกิดขึ้นก็คือ Knock ’em Out ในรอบสุดท้ายได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ คือการให้คู่ชิงออกมาแบทเทิลกันสด ๆ เจอหน้ากันบนเวที

เมื่อการแข่งขันได้รับความสนใจจากพี่น้องในวงการ จึงทำให้เกิดการแข่งขันอื่นตามมา จนถึงรายการใหญ่ The War is On ที่จัดขึ้นในปี 2014 มีผู้สมัครเข้ามามากมาย จึงเกิดการคัดเลือกด้วยคลิป Audition และเรียกตัวสู่การแบทเทิลแบบพบกันจริง ๆ ตั้งแต่รอบแรก ซึ่งมีการจัดมาเรื่อยจนปัจจุบันจะเข้าสู่ซีซั่นที่ 4 แล้ว

“พอปี 2012 เริ่มทำเพจในเฟซบุ๊ก และทำ Rap Battle ลงในเฟซบุ๊ก พอถึงรอบชิงก็ได้จัดปาร์ตี้ให้คนเข้ามาดูสดๆ แล้วเอาคลิปลง YouTube ตอนนั้นครั้งแรกมีคนเข้าร่วม 70-80 คน จนปัจจุบันทำมา 3 ซีซั่นแล้ว มีการเปิดขายบัตรเป็นเรื่องเป็นราวเลย”

เพลงแร็พเริ่มนิยม เข้าสู่กระแสหลัก

จะสังเกตได้ว่าเพลงแร็พเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เริ่มต้นจากได้เห็นศิลปินดังอย่าง ปู่จ๋านลองไมค์, UrboyTJ, ILLSLICK, Twopee Southside มีเพลงฮิตติดตลาดมากมาย รวมถึงได้เห็นศิลปินหน้าใหม่ที่เป็นแร็ปเปอร์แจ้งเกิดอย่างมาก เช่น Youngohm หรือ Miyarap เป็นศิลปินที่แจ้งเกิดจาก Rap is Now ทั้งสิ้น

“เพลงแร็พเริ่มกลับมานิยมมากขึ้นที่พีคมากๆ เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา คนฟังเพลงแร็พเยอะขึ้น เป็นกระแสมาคู่กับ Rap is Now เหมือนเป็นเวทีฉายสปอร์ตไลท์ให้คนรู้จักแร็ปเปอร์มากขึ้น จากนั้นก็ไปทำเพลงกันต่อเอง”

ปัจจัยหลักที่ทำให้เพลงแร็พเป็นที่นิยมมากขึ้นเพราะคนเริ่มเบื่อเพลงป็อปสไตล์เดิมๆ หรือเพลงในกระแส กลายเป็นว่าเพลงแร็พนิยมมากขึ้น เป็นอีกทางเลือกให้คนฟัง ทีนี้พอเพลงแร็พเป็นที่นิยมทีวีก็กล้าเอามาทำคอนเทนต์เป็นรายการทีวีอย่างจริงจัง

ซึ่งทางทีมงาน Rap is Now ก็ได้ทำรายการร่วมกับ The Rapper ทำคู่กับทีมโต๊ะกลม จะดูเรื่องครีเอทีฟ และช่วยคัดเลือกคนสมัคร เพราะมีประสบการณ์ในการจัดรายการมาก่อน โดยผู้สมัคร 70% เคยเห็นหน้าผ่านใน Rap is Now มาแล้วทั้งสิ้น แต่ก็ตื่นเต้นที่มีผู้สมัครหน้าใหม่ๆ เข้ามาเช่นกัน

ต้าร์ได้มองเห็นวิวัฒนาการของวงการเพลงแร็พว่าคนสนใจมากขึ้น มีรายการมากขึ้น รวมถึงกลุ่มคนฟังก็ขยายมากขึ้น แต่ก่อนคนฟัง หรือดูรายการจะอายุ 40 ปีขึ้นไปที่ชอบดู ตอนนี้ขยายฐานกลุ่มใหม่ๆ มากขึ้น ส่วนใหญ่อายุ 18-24 ปี

อยากเห็นเพลงแร็พเป็นเมนสตรีม

แต่อย่างที่ทราบกันดีว่าวงการเพลงในประเทศไทยมีขึ้นมีลง ขึ้นอยู่กับว่าในช่วงนั้นกระแสเพลงอะไรเป็นที่นิยม เพลงแร็พที่ยังนิยมในวันนี้ วันข้างหน้าอาจจะซาๆ ลงก็ได้เหมือนในช่วงหลายปีก่อน ซึ่งในความคิดของต้าร์ก็มีความตั้งใจอยากให้เพลงแร็พอยู่ในกระแสในนานๆ เช่นกัน

“จริงๆ อยากให้เพลงแร็พเป็นเมนสตรีมเหมือนกัน แต่ก็เป็นวัฎจักรของเพลงอยู่ที่คุณภาพของศิลปินว่าจะไปต่อได้แค่ไหน ต่อจากนี้ Rap is Now จะทำเป็นธุรกิจจริงจังมากขึ้น จากเดิมที่มีการปาร์ตี้จัดอยู่แล้ว ก็จะจัดต่อไปเรื่อยๆ ในอนาคตอยากทำค่ายเพลง โดยดูโมเดลจากค่ายเพลงเกาหลี”

แต่ก็เห็นได้ว่าศิลปินที่เป็นแร็ปเปอร์ในปัจจุบันมีคิวงานที่แน่นกันหมด ส่วนศิลปินหน้าใหม่ก็มีการทัวร์คอนเสิร์ต เป็นสัญญาณที่ดีว่าวงการนี้ประสบความสำเร็จ

Passion คือได้พูดอย่างไม่มีกรอบ

ปิดท้ายด้วย Passion ของการเป็นแร็ปเปอร์ของต้าร์นั้นก้คือ “ได้พูดในสิ่งที่อยากพูด ไม่มีกรอบ” ไม่ต้องถูกกำหนดภาษา ส่วน Passion ของการทำ Rap is Now คือ การให้โอกาสคน ส่งเสริมให้คนปล่อยของ เพราะเยาวชนขาดเวทีในการแสดงฝีมือ ทำให้เห็นว่าสามารถต่อยอดให้เป็นอาชีพได้

จุดเด่นของเพลงแร็พ หรือการแร็พ คือ เนื้อหาตรง เจาะดีเทลได้ดี บางคนเป็นการถ่ายทอดชีวิตผ่านไรห์ม และทำให้รู้ไหวพริบของแต่ละคนในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ไหวพริบในการแบทเทิลกับคู่ต่อสู้

แต่ส่วนใหญ่ที่เห็นการแร็พจะเต้มไปด้วยคำหยาบคายเต็มไปหมด ถ้าถามว่าจำเป็นต้องหยาบคายขนาดนั้นหรือไม่ ต้าร์บอกว่าจริงๆ ไม่จำเป็นต้องหยาบก็ได้ แต่เป็นอาวุธที่ใช้แข่งขันมากกว่า พอเข้ารอบลึกๆ ก็ไม่ได้ใช้คำหยาบเท่าไหร่ ใช้เป็นคำพูดเชือดเฉือนกันมากกว่า แต่ที่ใช้คำหยาบเพราะให้มันเป็นอรรถรส เป็น Mood ของ Underground วัดความครีเอทีฟของแต่ละคน มีหมัดฮุก หมัดเด็ดส่งกันไป

สรุป

  • กระแสของเพลงแร็พยังคงเป็นที่นิยมอยู่ในตอนนี้ เห็นได้จากยอดวิวใน YouTube ที่ขึ้นหลัก 10 ล้านวิวทั้งสิ้น ทำให้เห็นได้ว่ากระแสนี้ยังคงไปต่อได้ ถ้ามีการต่อยอดที่ดี เพราะจริตคนไทยชอบอะไรที่ตรงไปตรงมาอยู่แล้ว

ภาพจากเพจ Rap is Now

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา