ทำไมไอติมราเมนถึงดัง? วิเคราะห์ปรากฎการณ์เมนูแปลก ด้วย Data โดย WISESIGHT

ทำไมไอติมราเมนดังเป็นพลุแตกในไทย? ลองมาดูในมุมของ Data ผ่านบทวิเคราะห์ของ WISESIGHT ว่ากระแสนี้มีที่มาอย่างไร มีอะไรที่น่าสนใจจากข้อมูลที่รวมได้จากโซเชียล

ในช่วง 1 ถึง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดกระแสการทำเมนูแปลก อย่าง “ไอติมราเมน” จนเพจไลฟ์สไตล์ เพจแบรนด์สายอาหาร ไปจนถึง Youtuber สายรีวิวอาหารหยิบไปทำคอนเทนต์เป็นจำนวนมากบนโลกออกไลน์

WISESIGHT ผู้ให้บริการวิเคราะห์ Big Data ชั้นนำในไทย ได้วิเคราะห์ปรากฎการณ์แปลกใหม่ดังกล่าว รวบรวมข้อมูลการพูดถึงไอติมราเมนจากโซเชียลมีเดีย 7 ช่องทาง ทั้ง Facebook, Twitter, Instagram, Youtube, Pantip, เว็บข่าว, และบล็อก และวิเคราะห์ออกมาเป็นเทรนด์ที่น่าสนใจ

ถ้าจะถามว่าเทรนด์นี้ใหญ่แค่ไหน WISESIGHT วิเคราะห์เอาไว้ว่าในช่วง 1-15 มกราคม มีการพูดถึงเมนูนี้ 816 ข้อความ บน Facebook และ Twitter เป็นหลัก แต่แม้จะมีข้อความไม่ถึง 1,000 ข้อความ แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือมี Engagement บนโซเชียลกว่า 3 แสนครั้ง

วาฟุซุป ราเมน อีกเมนูซีซั่นนอลของชาบูตง // ภาพจากเฟสบุ๊ก Chabuton Thailand

กระแสไอติมราเมนในโซเชียลแบ่งออกได้เป็น 3 Wave ด้วยกันจากการวิเคราะห์ข้อมูลของ WISESIGHT ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้น เราลองมาดูไปพร้อมๆ กัน

Wave 1: เกิดในญี่ปุ่น เพจสายไลฟ์สไตล์ญี่ปุ่นเริ่มแชร์

เมนูนี้เริ่มเป็นที่พูดถึงตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม บนโลก Twitter ของชาวญี่ปุ่น และในวันที่ 6 เพจสายไลฟ์สไตล์ญี่ปุ่นทั้งใน Facebook และ Twitter เช่น Tonari ญี่ปุ่น และ อัพเดทญี่ปุ่น โดย ต้มยำวาซาบิ เริ่มเอาภาพเมนูนี้มาแชร์ต่อทำให้เมนูนี้เริ่มเป็นที่สนใจในไทย โดยมี Engagement กับโพสต์ถึง 15,000 Engagement

และในวันที่ 7 เพจ Tonari ญี่ปุ่น ลองทำเมนู DIY ก๋วยเตี๋ยวต้มยำใส่ไอศกรีมเพราะมีคมเข้ามาถามเรื่องรสชาติเป็นจำนวนมาก

Wave 2: จุดเปลี่ยน! เพจแบรนด์เริ่มเกาะกระแส

WISESIGHT ระบุว่า โพสต์ที่เป็นไฮไลท์จะทำให้เกิดไวรัลไอติมราเมนคือโพสต์ในวันที่ 8 ของเพจ รีวิวของดี Shopee & Lazada ที่เพจได้ Mix & Match ลองซื้อไอศกรีมจาก KFC ทานคู่กับราเมนจากฮะจิบัง ราเมน

Mention Timeline and Movement ระหว่างวันที่ 1-15 ม.ค. 65 โดย WISESIGHT

คอนเทนต์นี้มีคนกดแชร์ กด Reaction และคอมเมนต์เป็นจำนวนมาก บ้างก็อย่างลองชิม บ้างก็มองว่าแปลกเกินไป แต่ที่น่าสนใจคือ แอดมินเพจ KFC ที่ขึ้นชื่อเรื่องการมีส่วนร่วมเรื่องกระแสต่างๆ ในโลกโซเชียลก็ได้เข้ามาคอมเมนต์ตอบภายในวันเดียวกันด้วยว่า “ลองดูไอติมแล้ว ลองไก่กับราเม็งดูสักหน่อยไหมจ๊ะ”

และแน่นอน ด้วยความที่ “แบรนด์” ได้เข้ามาเกี่ยวข้องเป็นที่เรียบร้อย หลังจากนี้เพจแบรนด์ต่างๆ จึงเริ่มเกาะกระแส โพสต์เกี่ยวกับไอติมราเมนและ Tie-in สินค้า (และบริการ) ของตัวเองไปในตัว

แบรนด์ที่จับกระแสและทำคอนเทนต์ออกมาไวที่สุด คือ Dairy Queen โพสต์ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. วันเดียวกันกับที่มีการรีวิวครั้งแรกจากเพจ รีวิวของดี Shopee & Lazada แต่ผลตอบรับยังไม่สูงมากนัก 

จนกระทั่ง Burger King ทำคอนเทนต์โพสต์ในวันที่ 11 ม.ค. ได้รับการตอบรับล้นหลาม เกิด Engagement สูงกว่า 9,000 ครั้ง จาก 5,500 Reactions, 951 คอมเมนต์ และ 3,300 แชร์ และยังมีเพจด้านการตลาดนำคอนเทนต์นี้มาเผยแพร่ต่อด้วย 

แน่นอนว่าแบรนด์ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งเรียลไทม์คอนเทนต์อย่าง Tops ก็เข้ามาเล่นกับเขาด้วย โดยยังคงคอนเซปต์เดิมคือนำสินค้าที่มีขายใน Tops ที่เกี่ยวข้องมาสร้างเป็น Tie-in คอนเทนต์  และยังมีแบรนด์อื่นๆ เช่น Donki, LINE MAN ไปจนถึง Shopee Pay เข้ามาเล่นกับกระแสนี้ 

Wave 3: จากเพจแบรนด์ สู่อินฟลูเอ็นเซอร์สายรีวิวอาหารทุกช่องทาง

ในฝั่งของอินฟลูเอ็นเซอร์สายรีวิวอาหาร ส่วนมากเน้นทำคอนเทนต์ลองกินเมนูนี้ดูและรีวิวบนหลายแพลตฟอร์ม Facebook, Instagram, Twitter ไปจนถึง Youtube โดยในฝั่ง YouTuber ก็มีการทำคอนเทนต์แนว Reaction ต่อเมนูนี้ออกมาด้วย

รูปโพสต์ของแบรนด์อื่นๆ ระหว่างวันที่ 8-15 ม.ค. 65 โดย WISESIGHT

ที่มา – WISESIGHT

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน