ในช่วงที่สื่อดิจิทัลเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้แบรนด์สินค้าต่างๆ วิ่งหาดิจิทัลเอเจนซี่เพื่อหาผู้เชี่ยวชาญในการทำตลาดช่องทางดังกล่าว จนช่วง 4 – 5 ปีก่อนเกิดดิจิทัลเอเจนซี่ขึ้นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันเหลือรอดเพียงไม่กี่ราย ซึ่ง “แรบบิทส์ เทลล์” ก็เป็นหนึ่งในนั้น ผ่านอายุบริษัท 7 ปี แต่ถึงจะอยู่มานาน ก็เคยผ่านช่วงวิกฤติ
ผิดได้ แต่ต้องแก้ปัญหาให้เป็น
สโรจ เลาหศิริ ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์กลยุทธ์ บริษัท แรบบิทส์ เทลล์ จำกัด เล่าให้ฟังว่า ถึงรายได้ทั้งในปี 2558 และปี 2559 ที่ยังไม่จบปีจะเติบโต 100% แน่นอน แต่ระยะเวลาของบริษัทกว่า 7 ปีที่เริ่มต้นทำดิจิทัลเอเจนซี่มา ก็มีช่วงวิกฤติเช่นกัน ไล่ตั้งแต่การส่งข้อมูลผิด หรือลืมขึ้นชิ้นงานให้กับลูกค้า จนไปถึงการส่งงานออกไปแล้วทำได้ไม่เข้าเป้าตามที่ลูกค้าหวังไว้ ซึ่งปัญหาทั้งหมดนี้ทุกดิจิทัลเอเจนซี่เคยเจอมาเกือบทั้งหมด และบางรายก็แก้ปัญหาเหล่านี้ได้แค่ปลายเหตุ จนต้นตอปัญหาจริงๆ ยังคงอยู่ และสุดท้ายบริษัทเหล่านั้นก็ไม่ยั่งยืน
“เวลาเกิดปัญหาใดๆ ทั้งฝ่ายปฏิบัติการ และผู้บริหารจะช่วยกัน Define ปัญหาก่อน และถ้าปัญหาหนักจริงระดับผู้บริหารก็ต้องเข้าไป Tackle ลูกค้าด้วยตัวเอง พร้อมกับให้คำอธิบาย เช่นทำไมไม่เข้าเป้า หรือมันเกิดเหตุอะไรขึ้นบ้าง และย้อนกลับมาดูที่ทีมว่าทำไมถึงมีปัญหาเหล่านี้ขึ้นมา ผ่านขั้นตอน Evaluation Checklist เพื่อให้ผู้บริหาร และทีมรู้ว่าเราคิดผิดตรงไหน ซึ่งเราทำแบบนี้ไว้ตั้งแต่เริ่มต้นบริษัท และทำให้การบริหารจัดการวิกฤติต่างๆ ทำได้ดีขึ้น ไม่รวมกับเรื่องความคิดสร้างสรรค์แบบดิจิทัลที่เป็นจุดเด่นของเรา”
สร้าง Bible ประจำองค์กรเพื่อเช็คคุณภาพงาน
ดิจิทัลเอเจนซี่ที่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะไม่รู้ว่างานของตัวเองผิดผลาดตรงไหน ดังนั้นการกำหนดวิธีสร้างงานอย่างเป็นระบบผ่านแบบแผนที่ชัดเจน ซึ่งของบริษัทเรียกว่า Bible ของกระต่าย และจะใช้กำหนดรูปแบบนี้ตั้งแต่การรับบรีฟงาน, สร้างงาน จนถึงส่งแผนงานให้กับลูกค้า ซึ่งการมีแบบแผนชัดเจนทำให้เมื่อต้องบริหารจัดการขั้นตอนต่างๆ สามารถทำได้ราบรื่น นอกจากนี้การที่แบรนด์ให้ความสำคัญกับสื่อดิจิทัลมากขึ้น ทำให้ทางบริษัท ตัดสินใจยกระดับขึ้นเป็น “แรบบิท ดิจิทัล กรุ๊ป” ที่รวมการสื่อสารดิจิทัลรูปแบบต่างๆ ไว้
สำหรับ “แรบบิท ดิจิทัล กรุ๊ป” ปัจจุบันแบ่งเป็น 3 บริษัทย่อยคือ “แรบบิทส์ เทลล์” รับผิดชอบเรื่องงานดิจิทัล เอเจนซี่, “มูนช็อต” รับผิดชอบเรื่องงานดิจิทัล พีอาร์ และ “โค้ด แอนด์คราฟท์” รับผิดชอบเรื่องงานสร้างโปรดักต์ดิจิทัล ที่สำคัญยังได้กลุ่มบริษัท “ทีวายโอ” ดิจิทัลเอเจนซี่ระดับต้นๆ ของประเทศญี่ปุ่น มาร่วมลงทุนในบริษัทผ่านการเข้ามาถือหุ้น 25.1% และเป็นการเพิ่มทุนจดทะเบียน ทำให้กลุ่มบริษัทเตรียมตั้งเป้ารายได้เพิ่มอีก 100% ในปี 2560 เช่นเดิม แต่สัดส่วนรายจะเปลี่ยนไปเป็นส่วนอื่นมากขึ้น ไม่ได้มาจากเอเจนซี่อย่างเดียว
ดิจิทัลเอเจนซี่ยุคใหม่ต้องทำเป็นทุกด้าน
รุ่งโรจน์ ตันเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แรบบิท ดิจิทัล กรุ๊ป กล่าวว่า ในทางกลับกัน เมื่อดิจิทัลเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เอเจนซี่ต่างๆ ไม่สามารถเก่งแค่เรื่องเอเจนซี่ได้ แต่ต้องรับงานอื่นๆ ได้ครบวงจร หรือการเป็นตัวกลางในการขับเคลื่อนแผนการตลาดให้กับบริษัทต่างๆ นอกจากนี้ยังต้องนำเทคโนโลยีใหม่ เช่นบิ๊กดาต้า, ปัญญาประดิษฐ์ และแมชชีนเลิร์นนิ่ง เข้ามาพัฒนาธุรกิจ เพราะปัจจุบันมีข้อมูลจำนวนมากระจายอยู่ทุกพื้นที่ ดังนั้นใครนำข้อมูลเหล่านี้มาประมวลผลได้ก่อน รวมถึงสร้างระบบออโตเมชั่นได้ ก็จะเป็นผู้ชนะ
ทั้งนี้กลุ่มบริษัทมีการเตรียมแผนเข้าไปทำตลาดต่างประเทศ เน้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังมีแผนเพิ่มพนักงานจากเดิมที่มีอยู่ 100 คน ให้มีมากขึ้น เน้นไปที่กลุ่มวิเคราะห์ทัชพอยท์ต่างๆ เพราะตอนนี้ผู้บริโภคมีการคอมเมนต์, ไลค์ และแชร์ตามสื่อต่างๆ ลักษณะเหมือนเกมแห่งความคิด ประกอบกับการเข้ามาของลูกค้าเริ่มเป็นรูปแบบการลงทุน ไม่ใช่แค่ซื้อทีละแคมเปญ ทำให้การวางแผนสามารถทำได้แบบระยะยาว และกระจายไปยังกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายขึ้น
สรุป
ที่สุดแล้วเอเจนซี่ดั้งเดิม และดิจิทัลเอเจนซี่ จะกลืนกันทั้งหมด เพราะตัวสื่อเองก็เริ่มชัดเจนแล้วว่าผู้บริโภครับทั้งสื่อิจิทัล และสื่อดั้งเดิม ดังนั้นตัวเอเจนซี่เอง ถ้าไม่ปรับตัว โอกาสที่จะยืนหยัดในธุรกิจนี้ก็ยากขึ้น และการที่ “แรบบิทส์ เทลล์” ปรับตัวเป็น “แรบบิท ดิจิทัล กรุ๊ป” ก็เป็นอีกหนทางหนึ่งที่บริษัทจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดเช่นเดิม เพราะเมื่อมีความเชี่ยวชาญทุกด้าน ประกอบกับได้ทุนจากญี่ปุ่นเข้ามาช่วย กระต่ายตัวนี้น่าจะกระโดดได้อีกไกล
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา