How to ลาออกอย่างไรให้มั่นใจ พร้อมเริ่มงานใหม่แบบมืออาชีพ

ผลสำรวจของ Microsoft’s Work Trend Index เผยข้อมูลว่า ในปีนี้ คนทั่วโลกกว่า 41% อยากลาออกจากงานที่ทำอยู่

คำถามคือควรลาออกอย่างไรให้พร้อมเริ่มต้นงานใหม่อย่างสบายใจที่สุด?

ลาออก

Anthony Klotz รองศาสตราจารย์ด้านการจัดการที่ Texas A&M University ศึกษาเรื่องการลาออกของคนทำงานแล้วพบว่า ความเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างในสถานการณ์โควิด ทำให้คนจำนวนมากอยากลาออกจากงานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน 

อย่างไรก็ตาม Anthony Klotz แนะนำว่า คุณควรทำความเข้าใจแผนการในอนาคตของบริษัทปัจจุบันให้ดีก่อน อย่าคิดไปเองแล้วด่วนตัดสินใจลาออกจนทำให้เสียดายในภายหลัง

ลองทบทวนตัวเองอีกสัก 2 สัปดาห์

ลองให้เวลาตัวเองอีกสัก 2 สัปดาห์เพื่อดูว่าสภาพการทำงานต่างๆ มีโอกาสเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นไหม เพราะหลายๆ ครั้งคนเรามักคาดการณ์อนาคตไปในแง่ร้ายกว่าความเป็นจริง แต่ถ้าเวลาผ่านไปแล้วไม่มีอะไรดีขึ้น คุณก็ควรเตรียมส่งต่องานให้ละเอียดและเรียบร้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งการทำแบบนี้จะส่งผลให้เพื่อนร่วมงานมองว่าคุณเป็นคนมีความรับผิดชอบ พร้อมใส่ใจและคิดถึงคนอื่นๆ 

อย่าเพิ่งบอกเพื่อนร่วมงานว่าจะลาออก

Anthony Klotz แนะนำว่า อย่าเพิ่งบอกเพื่อนร่วมงานเรื่องลาออก แม้ว่าคุณจะอยากบอกแค่ไหนก็ตาม เพราะถ้าคุณยังไม่ได้เตรียมพูดคุยกับหัวหน้าอย่างเป็นกิจลักษณะ เพื่อนร่วมงานอาจนำเรื่องของคุณไปพูดต่อๆ กันจนหัวหน้าอาจมารู้ภายหลังด้วยข้อมูลที่บิดเบือนไปแล้ว ซึ่งนี่อาจสร้างความอับอายหรือความบาดหมางระหว่างคุณกับเพื่อนร่วมงานที่เก่าได้

คุยกับหัวหน้า
Attentive hr manager listening to candidate answering questions on job interview, serious focused recruiter holding cv, looking at applicant, sitting at desk in office, colleagues discussing project

หาเวลาพูดคุยกับหัวหน้าอย่างเป็นทางการ

คุณควรหาเวลานัดหมายเพื่อพูดคุยกับหัวหน้าแบบตัวต่อตัว โดยจะเป็นการนัดเจอหรือพูดคุยกันผ่านวิดีโอคอลก็ได้ทั้งนั้นเพื่อความเป็นมืออาชีพ สิ่งสำคัญคือหัวหน้าควรเป็นคนแรกที่รู้เรื่องนี้ก่อนเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ และอย่าลืมขอบคุณหัวหน้าที่ช่วยดูแลงานต่างๆ ที่ผ่านมา รวมถึงแสดงความรู้สึกออกไปว่าคุณได้เรียนรู้อะไรจากการทำงานที่นี่บ้าง เพียงเท่านี้หัวหน้าก็คงมีภาพจำที่ดีเกี่ยวกับคุณมากขึ้น

พยายามสื่อสารทุกอย่างออกไปในเชิงบวก

คุณควรสื่อสารเรื่องลาออกในเชิงบวกไม่ว่าจะพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้าผ่านช่องทางไหนก็ตาม ซึ่ง Anthony Klotz แนะนำว่า ถ้าคุณไม่รู้จะพูดอะไรดีๆ ออกไป คุณไม่จำเป็นต้องพูดอะไรก็ได้ หากเรื่องนั้นจะส่งผลร้ายในภายหลัง เพราะถ้าคนที่บริษัทเก่ามีภาพจำเกี่ยวกับคุณในแง่ดี พวกเขาจะสามารถแนะนำโอกาสการทำงานดีๆ ให้กับคุณในอนาคตได้ ที่สำคัญ คุณเองก็จะสามารถลาออกอย่างสบายใจโดยไม่ติดค้างเรื่องอะไรด้วย

เตรียมพักใจก่อนเริ่มงานใหม่

หลังลาออกแล้ว คุณควรพักทบทวนตัวเองสักนิด และทิ้งความรู้สึกลบๆ จากที่ทำงานเก่าไป รวมถึงพยายามทำความเข้าใจในเรื่องไม่ดีต่างๆ ที่อาจเคยเกิดขึ้นจนทำให้คุณตัดสินใจลาออก เพราะถ้าคุณแบกความรู้สึกลบเหล่านี้ไปที่ทำงานใหม่ก็คงเป็นการเริ่มต้นที่ไม่ดีเท่าไหร่นัก ทั้งกับเพื่อนร่วมงานและหัวหน้าคนใหม่ของคุณ ทั้งนี้ ถ้าคุณต้องเริ่มงานใหม่เลยโดยไม่มีเวลาทบทวนตัวเองเท่าไหร่ก็อย่าลืมเปิดใจให้กับอนาคตที่กำลังเข้ามา

โดยสรุป

การลาออกจะไม่ใช่เรื่องกวนใจอีกต่อไป ถ้าคุณลองทำตามทั้ง 5 เคล็ดลับข้างต้น ทั้งนี้ อย่าลืมคิดทบทวนให้ดีก่อนตัดสินใจ และวางแผนทำขั้นตอนต่างๆ อย่างมืออาชีพ เพียงเท่านี้คุณก็จะพร้อมเริ่มต้นงานใหม่อย่างมั่นใจมากขึ้น

ที่มาBloomberg , wsj

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา