ปี 2022 ที่ผ่านมา เรารู้จักกับ “Quiet Quitting” เทรนด์การทำงานแบบใหม่ที่หมายถึงความพยายามรักษาสุขภาพที่ดีในการทำงาน แทนที่จะทุ่มหมดตัวกับงานจนเกิดสภาวะหมดไฟหรือขาดแรงจูงใจไม่อยากทำงาน เมื่อพนักงานยังมีเทรนด์ มาดูเทรนด์ใหม่ทางฝั่งนายจ้างที่จะมาแรงในปีนี้กันบ้าง
สำหรับปี 2023 นี้ เทรนด์ที่มาแรงกลับเป็นเทรนด์ “Quiet Hiring” ซึ่งมาจากทางฝั่งบริษัทและนายจ้างบ้าง Emily Rose McRae ผู้นำทีมวิจัยของ Gartner อธิบายว่า Quiet Hiring หมายถึงการที่บริษัทเพิ่มความสามารถและทักษะขององค์กรโดยไม่จ้างงานพนักงาน Full-Time เพิ่มแต่เปลี่ยนมาเน้นที่วิธีการจัดสรรพนักงานของฝ่ายทรัพยากรบุคคลแทน
วิธีของฝ่ายบุคคลก็มีหลากหลาย อาจจะเป็นการจ้างงานพนักงานสัญญาจ้างชั่วคราว หรือการโยกย้ายพนักงานเข้าไปทำงานตำแหน่งใหม่ภายในบริษัทเดิม โดยมีสาเหตุมาจากการที่บริษัทต้องพยายามรัดเข็มขัดประหยัดงบประมาณเพื่อรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจถดถอยที่คาดว่าจะยิ่งแย่ลงในปีนี้ วิธีนี้จึงเป็นทางเลือกหากบริษัทไม่อยากหยุดการจ้างงานและปลดพนักงานออกแต่ก็ถือเป็นความท้าทายเพราะบริษัทอยากได้พนักงานที่มีความสามารถขณะที่ต้องพยายามไม่จ้างพนักงานเพิ่มขึ้น
แนวคิดของ Quiet Hiring มาจากการพยายามจัดลำดับความสำคัญของตำแหน่งและหน้าที่ต่าง ๆ ภายใน Emily Rose McRae แบ่งวิธีนี้เป็น 2 แบบ ได้แก่
- Internal Quiet Hiring หมายถึงการที่บริษัทชะลอการจ้างงานด้วยการสลับสับเปลี่ยนตำแหน่งของพนักงานไปทำหน้าที่ที่สำคัญกับบริษัทมากกว่าในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ อย่างการที่สายการบินสัญชาติออสเตรเลียอย่าง Qantas จัดการกับปัญหาพนักงานขาดแคลนด้วยการโยกย้ายคนไปทำหน้าที่จัดการสัมภาระของผู้โดยสาร
- External Quiet Hiring หมายถึงการที่บริษัทจ้างพนักงานสัญญาจ้างชั่วคราวเข้ามาทำหน้าที่ในตำแหน่งที่มีความสำคัญหรือเร่งด่วนในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม Internal Quiet Hiring มีข้อที่ทางบริษัทและฝ่ายบุคคลควรให้ความสำคัญ คือ พนักงานที่ถูกย้ายตำแหน่งอาจตั้งคำถามว่าตำแหน่งเดิมของตนเองไม่มีความสำคัญกับบริษัทหรือไม่ซึ่งจะนำไปสู่ความรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่ากับองค์กร และอาจมองหางานในบริษัทใหม่ในที่สุด หัวหน้างานอาจป้องกันปัญหานี้ด้วยการอธิบายให้ชัดเจนว่าทำไมตำแหน่งใหม่ถึงสำคัญกับบริษัท
แม้ว่า Quiet Hiring จะเป็นวิธีที่บริษัทใช้ในการเตรียมความพร้อมกับสภาพเศรษฐกิจในปี 2023 แต่วิธีนี้กลับมีข้อดีต่อฝั่งพนักงานด้วยเช่นกัน เพราะการย้ายตำแหน่งสามารถสร้างความก้าวหน้าทางด้านการทำงานได้ ซึ่งจุดนี้ก็เป็นหน้าที่ของบริษัทที่จะต้องสื่อสารให้ชัดเจนว่าหากพนักงานย้ายมาทำงานตำแหน่งใหม่ จะส่งเสริมความก้าวหน้าทางอาชีพได้อย่างไรบ้าง เพราะคนส่วนใหญ่มักจะไม่อยากถูกย้ายตำแหน่งโดยไม่มีเหตุผลอยู่แล้ว การสื่อสารระหว่างนายจ้างและพนักงานจึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างแรก ๆ
ในไทยยังไม่ค่อยเห็นการปลดพนักงานเหมือนในสหรัฐอเมริกาเท่าไรนัก แต่ไม่แน่ว่าเทรนด์ Quiet Hiring ก็อาจจะเข้ามาในไทยในไม่ช้า เพราะภาวะเศรษฐกิจถดถอยไม่ได้เลือกเกิดแค่ที่สหรัฐอเมริกาแต่มีผลกระทบไปทั่วโลก ดังนั้น ทั้งบริษัทและพนักงานอาจต้องเตรียมตัวรับมือไว้ก่อน
ที่มา – CNBC
อ่านเพิ่มเติม
- อวสานงานในฝัน พอแล้วชีวิต เลิก Bunout คนรุ่นใหม่พร้อมใจ Quiet Quitting
- Microsoft มาแล้ว! ตั้งกฎปฏิรูปองค์กรใหม่ ให้พนักงานลางานได้ไม่จำกัดวัน!!
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา