ศึกษาตลาด Fast Fit ในไทยผ่านมุมมอง Quick Lane ที่ชูการเป็นบริษัทลูกของ Ford เป็นจุดขาย

Fast Fit หรือศูนย์บริการรถยนต์ทั่วไปประเภทเร่งด่วน อยู่คู่คนไทยมานาน และหัวใจของธุรกิจนี้ก็คือความเร็ว กับความเชื่อใจ แล้ว Quick Lane ที่มี Ford อยู่เบื้องหลัง และเริ่มในไทยมา 1 ปีจะต่างจากคู่แข่งรายอื่นอย่างไร

quick lane

ตลาดซ่อมบำรุง 1.4 แสนล้านที่ไม่ง่าย

ในปี 2563 มีการคาดการณ์ว่า ภาพรวมตลาดการซ่อมบำรุงรักษารถยนต์ที่ประกอบด้วยศูนย์บริการมาตรฐาน, Fast Fit และร้านรายย่อย จะมีมูลค่าถึง 1.4 แสนล้านบาท และภายใน 5 ปีข้างหน้ามูลค่าตลาดจะเพิ่มเป็น 1.8 แสนล้านบาท โดยตลาดนี้เติบโตตามการจำหน่ายรถยนต์ และมูลค่าครึ่งหนึ่งมาจากการจำหน่ายยางรถยนต์

ถึงตลาดรถยนต์ในไทยจะเริ่มเติบโตแบบช้าๆ แต่ด้วยจำนวนรถยนต์นั่งส่วนบุคคล, รถกระบะ และรถอเนกประสงค์ในปี 2563 รวมกันกว่า 18 ล้านคัน ทำให้ผู้ใช้จะขับรถเข้าไปซ่อมบำรุงรักษาที่ศูนย์บริการมาตรฐานอย่างเดียวก็คงไม่ได้ เพราะไม่มีพื้นที่รองรับขนาดนั้น และจะให้ไปร้านรายย่อยก็ไว้ใจไม่ได้ Fast Fit ในไทยจึงยังมีโอกาสอีกมาก

quick lane
สันติ จิตพิชิตชัย ผู้อำนวยการ ควิกเลน ประเทศไทย

“คนไทยใช้รถยนต์ 7-9 ปีเป็นเรื่องปกติ และส่วนใหญ่รถยนต์ก็ประกันแค่ 3 ปี มันจึงเป็นโอกาสของ Fast Fit แต่มันก็ไม่ได้ง่ายไปทั้งหมด เพราะ Fast Fit ก็มีผู้เล่นเยอะ และทุกรายก็ชูความสะดวก และความมั่นใจ Quick Lane จึงต้องสร้างความแตกต่างให้ได้มากที่สุด” สันติ จิตพิชิตชัย ผู้อำนวยการ ควิกเลน ประเทศไทย กล่าว

มี Ford เป็นเบื้องหลังช่วยสร้าวความได้เปรียบ

สำหรับประวัติของ Quick Lane นั้นเริ่มราว 20 ปีก่อน เนื่องจาก Ford ต้องการขยายธุรกิจซ่อมรถยนต์ ผ่านความต้องการลูกค้าในสหรัฐอเมริกาที่ต้องการซ่อมรถยนต์นอกศูนย์บริการมาตรฐาน และถึงตอนนี้ก็มีกว่า 800 สาขาในสหรัฐอเมริกา กับยอดขาย 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 62,000 ล้านบาท) ในปี 2562

quick lane

จากนั้นเมื่อ 2 ปีก่อน Quick Lane เริ่มขยายออกไปนอกสหรัฐอเมริกา โดยไปที่อเมริกาใต้, ยุโรป, ตะวันออกกลาง และล่าสุดคือเอเชีย-โอเชียเนีย ผ่านการเข้าไปที่ออสเตรเลีย, จีน, กัมพูชา, ลาว, สิงคโปร์ และไทย ซึ่งไทยได้เปิดให้บริการมา 1 ปี และประเทศยุทธศาสตร์ของ Quick Lane ด้วย

“ถึงตอนนี้ Quick Lane มีสาขากว่า 1,000 แห่งทั่วโลก ส่วนในไทยมีอยู่ 10 สาขา และเราเป็น Fast Fit รายแรกในไทยที่เจ้าของเป็นแบรนด์รถยนต์ ทำให้ Quick Lane ได้เปรียบเรื่องราคาชิ้นส่วนซ่อมบำรุงต่างๆ ผ่านการสั่งซื้อไปพร้อมกับ Ford ประเทศไทย และประสบการณ์ในอุตสาหกรรมรถยนต์ของ Ford ก็ทำให้ช่างของเราเก่งเช่นกัน”

Omnicraft
อะไหล่เทียบ Omnicraft

Omnicraft กับท่าไม้ต่ายที่คู่แข่งทำได้ยาก

ทั้งนี้ Quick Lane มีการจำหน่ายสินค้าซ่อมบำรุงรถยนต์ในแบรนด์ Omnicraft ประกอบด้วยไส้กรองน้ำมันเครื่อง, กรองอากาศ, หัวเทียน, เบรก และอื่นๆ ถือเป็นไม่กี่แบรนด์ Fast Fit ในประเทศไทยที่จำหน่ายสินค้าของตัวเอง และบริษัทก็มีแผนทำตลาด Omnicraft ในลักษณะขายส่งให้กับร้านรายย่อยด้วย

ขณะเดียวกัน Quick Lane จะเน้นให้บริการแค่ 14 แบบเท่านั้น เช่นการเช็คระยะ, เปลี่ยนยาง, แบตเตอรี่, เบรก และอื่นๆ โดยจะไม่ยุ่งกับเครื่องยนต์ และระบบส่งกำลัง ส่วนรูปแบบธุรกิจนั้นจะเน้นขยายสาขาแบบเฟรนไชส์ แต่ในปี 2563 จะเปิดสาขาต้นแบบที่บริษัทจะเป็นผู้บริหารจัดการสาขานี้เอง

quick lane

“ไม่ว่าจะมีทุนแต่ไม่รู้เรื่องรถยนต์, ทำอู่อยู่แล้ว หรือทำธุรกิจเกี่ยวกับรถยนต์ Quick Lane ก็เปิดกว้าง โดยผู้ลงทุนเฟรนไชส์จะต้องรับผิดชอบค่าสถานที่, ค่าโครงสร้าง และค่าอุปกรณ์ ที่สำคัญ Quick Lane มีระบบบริหารจัดการร้าน และอบรมช่างเพื่อรักษามาตรฐานของทุกสาขาให้เหมือนกัน”

ขยายอีก 19 สาขา-รถยนต์ไฟฟ้ามาก็พร้อมซ่อม

ส่วนเป้าหมายของ Quick Lane ประเทศไทยในปีนี้จะเปิดเพิ่มอีก 19 สาขา เป็นทั้งหมด 29 สาขา เน้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลก่อน นอกจากนี้ยังเน้นสร้างแบรนด์ และขยายจำนวนสินค้า กับอะไหล่ต่างๆ ให้ครองคลุมรถยนต์ที่ใช้งานในประเทศไทยมากขึ้นเช่นกัน

quick lane

“ระยะสั้นอาจแค่ 29 สาขาก่อน แต่เราก็วางเป้าหมายระยะยาวเอาไว้คือในปี 2567 ต้องมีไม่น้อยกว่า 125 สาขา ครอบคลุมทั่วประเทศไทย และ Quick Lane ก็อยากเป็นที่ 1 ในตลาด Fast Fit แต่ยังไม่ระบุช่วงเวลา ซึ่งถ้าเราก้าวไปถึง 125 สาขาทั่วประเทศ โอกาสที่จะไปถึงจุดนั้นก็ใกล้กว่าตอนนี้”

สุดท้าย “สันติ” ย้ำว่า Fast Fit จะไม่ถูกกระทบจากความนิยมของรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตมากนัก เพราะรถยนต์ไฟฟ้าก็ต้องเช็คระยะ, เปลี่ยนที่ปัดน้ำฝน, เครื่องปรับอากาศ และยาง ยิ่ง Quick Lane ที่มี Ford อยู่เบื้องหลัง และ Ford ก็ลงทุนจำนวนมากเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า มันก็ยิ่งสร้างความได้เปรียบให้กับ Quick Lane ด้วย

สรุป

ธุรกิจ Fast Fit ตอนนี้ถ้าไม่ใช่รายใหญ่ที่มีสาขาจำนวนมาก ก็จะเป็นผู้เล่นรายย่อยที่มีไม่กี่สาขาไปเลย ดังนั้นการที่ Quick Lane เข้ามาเป็นผู้เล่นรายใหม่ และเร่งขยายสาขา ก็น่าจะยังเหลือช่องว่างในตลาดอยู่ ส่วนความได้เปรียบเรื่อง Ford จะช่วยดึงดูดลูกค้าขนาดไหน อันนี้ต้องคอยติดตามกันยาวๆ ครับ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา