5 บทเรียนจาก “ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา” ฝากถึงคนรุ่นใหม่

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

เมื่อช่วงบ่ายของวันศุกร์ที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา คุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา มาเป็นแขกรับเชิญในงาน WeShare ของวงใน (Wongnai)

คุณภิญโญคือเจ้าของสำนักพิมพ์ openbooks และเป็นผู้เขียนหนังสือ Future: ปัญญาอนาคต, Past: ปัญญาอดีต, One Millon: ปัญญาหนึ่งถึงร้อยหมื่น และล่าสุด Present: ปัญญาจักรวาล

ส่วน WeShare คืองานที่จะเชิญคนเก่งๆ เจ๋งๆ จากทั่วฟ้าเมืองไทยมาร่วมพูดคุย-แลกเปลี่ยนมุมมอง และแน่นอนครั้งนี้ หลายคนที่ได้ฟังคุณภิญโญ ได้รับ “ปัญญา” กันไปถ้วนหน้า

Brand Inside ร่วมอยู่ในงานและขอถอดสิ่งที่ได้ยิน-ได้ฟังออกมาเป็น 5 บทเรียนดังนี้

1. ถ้าเราไม่ฝากความหวังไว้กับคนรุ่นใหม่ ใครจะสร้างอนาคตให้ประเทศไทย

หนึ่งในคำตอบที่คุณภิญโญตอบไว้ได้ดีมากๆ คือการตอบคำถามถึงประเด็น “คนรุ่นใหม่”

  • คำถามคือ ทำไมทุกครั้งที่เห็นคุณภิญโญคิด เขียน หรือให้สัมภาษณ์ จะต้องมีคำว่า “คนรุ่นใหม่” ออกมาเสมอ ดูเหมือนว่าจะ “โปร” คนรุ่นใหม่เสียเหลือเกิน มันเป็นเพราะอะไร ทำไมจึงต้องโปรคนรุ่นใหม่ แล้วคนรุ่นเก่าอยู่ที่ไหนในสมการของอนาคต?

คุณภิญโญตอบว่า ที่ต้องโปรคนรุ่นใหม่ เพราะคนรุ่นเก่าโปรตัวเองกันเยอะไปแล้ว หลงใหลในความรุ่งเรืองในอดีตของตัวเองมากจนเกินไป คนรุ่นเก่ามีอำนาจอยู่ในมือเพราะว่าอยู่ที่นี่มานาน เมื่ออยู่มานานก็มีอำนาจเยอะ แล้วก็ไม่อยากสูญเสียอำนาจนั้นไป

“อำนาจในการตัดสินใจบงการชีวิตลูกหลาน อำนาจในการตัดสินใจบงการชีวิตอนาคตธุรกิจ อำนาจในการตัดสินใจบงการอนาคตการเมือง อำนาจในการกำหนดนโยบายอนาคตของประเทศ” คนรุ่นเก่าบงการไว้หมด

คุณภิญโญบอกว่า “คนรุ่นผมถือเป็นคนรุ่นเก่า จะมีประโยชน์อะไรที่จะมาชมเชยตัวเอง ถ้าเราทำดีไว้ในอดีตที่ผ่านมา เราคงไม่ต้องส่งมอบสังคมที่ทำให้ลูกหลานต้องลำบากแบบนี้ ถ้าเราใช้เวลา 20 ปีที่ผ่านมาทำงานอย่างเต็มที่มีประสิทธิภาพและทำในวิสัยทัศน์ที่ถูกต้อง เราจะส่งมอบสังคมที่น่าอยู่ ความขัดแย้งต่ำ แล้วทุกคนมองเห็นอนาคตร่วมกันได้ให้กับลูกหลาน ซึ่งก็คือทุกท่านที่นั่งอยู่ตรงนี้ แล้วลูกหลานจะไม่มีคำถามย้อนกลับมาที่เรา

“ผมว่าคนรุ่นผมต้องทำความผิดพลาดอะไรบางอย่าง หรือไม่ได้ทำบางอย่างให้ดี มันจึงไม่ได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องตามที่ควรจะเป็น นั่นคือเหตุผลที่เราต้องละวางอดีต ละวางคนรุ่นเก่าไว้ เพราะว่ามีอำนาจ แต่ไม่สามารถสร้างสรรค์สังคมที่มีคุณภาพเพียงพอที่จะให้คนรุ่นใหม่อยู่อาศัยและเดินทางต่อไปสู่อนาคตได้” คุณภิญโญกล่าว

คำถามคือ แล้วถ้าผมอยู่ตรงกลาง ผมควรที่จะไปยึดอดีต แล้วโปรคนมีอำนาจล้นฟ้าอยู่แล้ว มีทรัพยากรล้นฟ้าอยู่แล้ว หรือผมควรจะหันหน้ากลับมาสนทนากับคนรุ่นใหม่แล้วบอกว่านี่คือปัญหาที่คนรุ่นผมสร้างมา หรือว่าไม่ได้สร้างมาแต่เราล้มเหลว เราทำไม่สำเร็จ

ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย ผมขอฝากอนาคตไว้กับคนรุ่นใหม่ แล้วทำสิ่งที่มันดีขึ้นให้กับประเทศนี้ ไม่งั้นผมจะอยู่ในสังคมแบบนี้ต่อไปได้อย่างไร

คนรุ่นผมเหลือเวลาไม่มากในการมีชีวิตอยู่ ความหวังก็คือหวังว่าคนรุ่นใหม่จะสร้างสรรค์ สังคมที่ดีขึ้น กำลังเราเหลือน้อย ปัญญาเราเหลือน้อย เราจำเป็นต้องฝากชีวิตเราไว้อยู่ในมือคนรุ่นใหม่ทุกท่าน เราต้องให้ปัญญา ให้กำลัง ให้ทรัพยากร และให้กำลังใจคนรุ่นใหม่ที่จะร่วมสร้างสังคมที่ดี

เราจำเป็นต้องอยู่อาศัยในสังคมนี้ ถ้าคนรุ่นใหม่ทำไม่สำเร็จ เราจะไม่เหลือใครที่มีกำลังพอที่จะแบกรับอนาคตของประเทศชาตินี้ไว้ได้เลย ซึ่งจะเป็นเรื่องที่น่าขมขื่นมาก พูดแล้วน้ำตาจะไหล…

  • คุณภิญโญน้ำตาไหล เมื่อตอบคำถามมาถึงตรงนี้

นี่คืออารมณ์ของสังคมตอนนี้ ผมว่ามันเป็นอารมณ์ที่อัดอั้นอยู่ในหัวใจคนไทย ที่ผมพูดอย่างนี้น้ำตามันไหลออกมาเอง ไม่ได้ตั้งใจจะดราม่า แต่คำถามมันโดนใจ

ถ้าเราไม่ฝากความหวังกับคนรุ่นใหม่ ใครจะสร้างอนาคตให้ประเทศไทย ผมจึงพยายามกำลังสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ว่าช่วยมีความมั่นใจและสร้างอนาคต เดินทางต่อไปแม้ว่าจะเป็นเรื่องยาก อย่าใช้อำนาจเป็นตัวนำสังคม ให้ใช้ปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ ให้เขาได้มีโอกาสสร้างอนาคตให้กับประเทศในวันที่มันพอจะสร้างได้ เพราะในวันที่มันสร้างไม่ได้ เราเหลือกลยุทธ์เดียวคือเราต้องหนี อย่าให้คนรุ่นใหม่ อย่าให้เยาวชนต้องหนีจากประเทศนี้ไป

จงให้ประเทศวันนี้เป็นดินแดนแห่งความหวัง ให้ประเทศนี้เป็นดินแดนแห่งอนาคต ไม่ใช่เป็นดินแดนที่ถูกอดีตกดทับ แล้วเราต้องอยู่กับความทรงจำกับความรุ่งเรืองในอดีตที่จางหายไปแล้วแต่คุณยังไม่ตระหนัก

นี่คือเหตุผลที่ผมต้องโปรคนรุ่นใหม่ เพราะผมต้องอาศัยอยู่ในอนาคตที่คนรุ่นใหม่สร้าง ฉะนั้นไม่มีทางที่ผมจะปฏิเสธกำลัง ความคิด ความฝัน ของคนรุ่นใหม่ ผมมีหน้าที่ต้องให้เวลา พลังงาน ปัญญากับคนรุ่นใหม่ เพื่อให้เขาทำหน้าที่อย่างดีที่สุด

คนรุ่นเก่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องเปิดพื้นที่ให้กับคนรุ่นใหม่ในทุกมิติได้แล้ว หยุดการครอบงำสังคมโดยอคติและความทรงจำเดิมๆ และความสำเร็จในอดีตของเราเสียที

2. ไม่มีประโยชน์ที่เข้าใจโลก แต่ไม่เข้าใจตัวเอง

“แต่ถ้าไม่เข้าใจตัวเอง ก็ไม่เข้าใจโลก” คุณภิญโญกล่าว

ในชีวิตของเรา เราจำเป็นต้องคบหาสมาคมกับผู้คนที่หลากหลาย ทั้งคนที่อาวุโสกว่า มีประสบการณ์มากกว่า อายุมากกว่า

“ความแก่มันเป็นพร คุณอยากแก่วันนี้ คุณก็แก่ไม่ได้” ถ้าคุณอายุน้อย คุณจะเข้าใจคนอายุมากได้อย่างไร หนทางเดียวคือการพูดคุย เพราะมันคือการแลกเปลี่ยนปัญญา

ฉะนั้น กรุณาคบหาสมาคมหรือหาโอกาสสนทนากับผู้คนในช่วงต่างวัยต่างอายุเพื่อเรียนรู้จากเขา การเรียนรู้จากเขาไม่ได้หมายความว่าเรียนรู้จากผู้สูงอายุกว่าเท่านั้น กรุณาอ่อนน้อมถ่อมตนแล้วเรียนรู้จากเด็กให้มากขึ้น ถ้าคุณฟังเขาแล้วคุณจะไม่หลงยุค คุณจะเข้าใจอารมณ์ของยุคสมัย คุณจะเข้าใจคนรุ่นใหม่ที่ไม่ใช่คุณ

  • หลักการข้างบนนี้เรียกว่าคบคนแบบ “แนวตั้ง” คือคบคนให้หลากหลายช่วงอายุ แต่ทั้งนี้มันยังมีการคบคนแบบแนวนอนและแนวกลมด้วย

“แนวนอน” คืออย่าอยู่กันเองให้มากไป อย่าคบหาสมาคมแต่เพียงเฉพาะคนที่อยู่ในแวดวงของเราเท่านั้น กรุณาคบหาสมาคมและหาโอกาสไปสนทนากับคนในแวดวงอื่นๆ ให้มาก มันจะทำให้คุณจะได้เห็นว่ามีโลกทัศน์อื่นๆ ที่คนอื่นเขามองอยู่ มันไม่ใช่โลกทัศน์แบบที่เรามองแบบเพื่อนเรามองและคนทำงานกับเรามองเท่านั้น

จักรวาลไม่ได้แคบแค่นั้น โลกไม่ได้แคบเท่าที่เราเห็น กรุงเทพฯไม่ได้มีแค่ถนนสุขุมวิท จักรวาลไม่ได้อยู่บนเส้นรถไฟฟ้าเท่านั้น

ส่วน “แนวกลม” คือ จงเดินทางให้มากขึ้น จงออกไปเห็นโลกให้มากขึ้น แล้วคุณจะรู้ว่าโลกมันกว้างใหญ่กว่าที่ตาเห็น ไปเรียนรู้อารยธรรมคนอื่น ไปเรียนรู้วัฒนธรรมคนอื่นที่แตกต่างจากเรา จะได้ไม่อยู่ในโลกที่แคบ

และถึงที่สุดแล้ว การคบหาสมาคมกับผู้คนทั้งแนวตั้ง-แนวนอน-แนวกลม อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือต้องย้อนมาคุยกับตัวเองเพื่อเข้าใจตัวเอง เพราะไม่มีประโยชน์ที่เข้าใจโลกแต่ไม่เข้าใจตัวเอง แต่ถ้าไม่เข้าใจตัวเองย่อมไม่เข้าใจโลก

3. จะอยู่รอดในยุค AI ต้องใช้ความเป็นมนุษย์

ในโลกที่หุ่นยนต์ AI จะเข้ามาทำงานแทนเราได้หลายส่วนหรือทั้งหมด ซึ่งงานส่วนใหญ่ๆ AI มันจะทำแทบเราได้

“AI มันน่าจะชงกาแฟอร่อยกว่าด้วยซ้ำไปถ้าสัดส่วนถูกต้อง” คุณภิญโญกล่าวพร้อมบอกว่า “เราเป็นมนุษย์ เรารู้อยู่แล้วว่าแท้ที่สุด ลึกลงไปของหัวใจ มนุษย์อย่างพวกเราต้องการอะไร และสิ่งที่เราต้องการจริงๆ”

คุณภิญโญตั้งคำถามเชิงเปรียบเทียบระหว่างมนุษย์ vs. หุ่นยนต์ AI ว่า:

  • เอาเข้าจริงแล้ว ความต้องการลึกๆ ของเรา หุ่นยนต์ AI มอบให้เราได้ไหม?
  • คุณคิดว่า AI จะเคยหลั่งน้ำตาให้ใครได้ไหม?
  • คุณคิดว่า AI จะเคยเสียใจปลอบใจใครได้ไหม?
  • ในวันที่เราสูญเสียคนรัก สูญเสียมิตรภาพ ตกงาน คุณอยากมีเพื่อนดีๆ สักคนหนึ่ง อยากกอดใครสักคนหนึ่ง หรือคุณจะกอดเครื่องดูดฝุ่นอัจฉริยะที่บ้านไหม? คุณจะคุยกับ Siri หรือ?
  • ในวันที่บุพการีของคุณ หรือคนที่คุณรักกำลังจะจากไป คุณจะให้ AI อยู่ข้างเตียงแล้วคอยเปิดบทสวดมนต์กล่อมพ่อแม่คุณให้ไปสู่สุคติ หรือคุณอยากได้สมณะที่คุณนับถือและคุณเชื่อว่ามีการปฏิบัติภาวนาที่แก่กล้านำพาดวงวิญญาณของบุพการีคุณสู่สัมปรายภพ?
  • คุณจะเลือกนักร้องที่ดังที่สุดที่อยู่ใน AI มาเปิดข้างเตียงให้แม่คุณฟัง หรือคุณอยากจะหาคนที่คุณไว้วางใจที่สุด นุ่มนวลที่สุดในชีวิตเข้าไปจับมือประคองดวงวิญญาณของบุพการีไปสู่สรวงสวรรค์?
  • ในวันที่สำคัญที่สุดในชีวิตของคุณ คุณอยากจะอยู่กับหุ่นยนต์สักตัวหนึ่งแล้วดินเนอร์ด้วยกัน หรือว่าคุณอยากจะนั่งอยู่กับคนที่คุณรักแล้วจับมืออยู่ด้วยกัน?
  • คุณอยากกินซูชิที่อร่อยที่สุดจากมือหุ่นยนต์ หรือคุณอยากนั่งกินซูชิโดยมือของเชฟที่อายุ 90 ปีที่ผ่านการทำงานมาแล้ว 50 ปี?

มันมีบางเรื่องในชีวิตที่หุ่นยนต์กลไกทำงานแทนมนุษย์ไม่ได้ และนั่นคือคำถามว่า “มันคืออะไร” และถ้ารู้ว่ามันคืออะไร…มนุษย์ต้องห่วงแหนรักษาเอาไว้เพื่อไม่ให้หายไป เพราะนั่นคือสิ่งที่จะทำให้เราอยู่รอดได้

ถึงที่สุดแล้ว AI ก็เป็นมนุษย์ไม่ได้ ปัญหาคือมนุษย์สูญเสียความเป็นมนุษย์ต่างหากจึงกลัว AI

สิ่งที่มนุษย์ต้องรักษาไว้สูงสุดคือ “ความเป็นมนุษย์”

ถ้าเรารักษาความเป็นมนุษย์ไว้ไม่ได้ นั่นคือเหตุผลที่เราต้องกลัวหุ่นยนต์ให้มากที่สุด แต่ถ้าเรารักษาความเป็นมนุษย์ แล้วเรารู้ว่าคุณค่าสูงสุดของมนุษย์อยู่ที่ไหน เราไม่จำเป็นที่จะต้องกลัวความเปลี่ยนแปลง

AI จะ disrupt เราไม่ได้ ฉะนั้นจงหาให้เจอว่าคุณค่าที่แท้จริงที่สูงสุดของมนุษย์อยู่ตรงไหน

ถามว่าจะต้องไปค้นหาที่ไหนเหล่า ก็ต้องย้อนกลับเข้ามาข้างในตัวเรา เพราะใครจะเป็นมนุษย์และรู้จักมนุษย์ได้ดีเท่ากับตัวเราเอง ทุกคนล้วนเป็นแบบจำลองของมนุษย์ที่ทั้งสมบูรณ์แบบและไม่สมบูรณ์แบบอยู่ในตัว

ใน Present หนังสือเล่มล่าสุดที่ผมเขียน ผมขอให้ทุกคนย้อนกลับเข้ามาดูในตัวเรา มันเป็นศาสตร์ที่ยากและลึกซึ้ง ต้องใช้เวลาอ่านหลายปี อาจจะต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ 10 ปี 20 ปีแต่หวังว่าทุกคนจะเริ่มทำความเข้าใจ แล้วย้อนกลับมาดูข้างในว่าอะไรคือหัวใจสูงสุดของมนุษย์ที่ AI หุ่นยนต์กลไกมา disrupt เราไม่ได้ เพราะมันเป็นศาสตร์ที่ปลูกฝังไว้ในตัวเรามาเป็นพันปีแล้ว แล้วทำไมปราชญ์โบราณ-ศาสดาพยากรณ์โบราณเข้าใจเรื่องแบบนี้ทั้งหมด แล้วเราซึ่งคิดว่าตัวเองชาญฉลาดที่สุดในโลก อยู่ในยุคที่ทันสมัยด้วยเทคโนโลยี ทำไมเราไม่เข้าใจ ทำไมเรามองข้าม ทำไมเราปรามาสว่านี่เป็นปัญญาแต่อดีตกาล แล้วเราหลงลืมกันไป แล้วเราก็กลัวว่า AI จะมา disrupt เรา

ถ้าเราหาหัวใจเหล่านี้ไม่เจอ เราก็จะสูญเสียหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ไป และแน่นอนเราจะถูก disrupt แต่ถ้าเราเจอหัวใจของตัวเรา ยากที่หุ่นยนต์กลไกจะ disrupt เราได้

คำถามคือเราเจอหรือเปล่าว่าหัวใจที่แท้จริง จิตวิญญาณที่แท้ ความหมายที่แท้ของการเป็นมนุษย์ของเราอยู่ที่ไหน?

ขอให้ย้อนกลับไปข้างในนั้นแล้วจะเจอ ถ้าไม่เจอวันนี้พรุ่งนี้ อาจจะใช้เวลา 10 ปี 20 ปี หรือเราจะต้องค้นหาไปชั่วชีวิต แต่หวังว่าทุกท่านจะพบเจอคำตอบนี้

4. วิชาตัวเบา

“วิชาตัวเบา” คือวิชาที่จะไม่แบกความคาดหวังที่มีต่อตัวเอง และไม่แบกความคาดหวังของโลกที่มีต่อตัวเรา วิชาที่จะจัดการความทะเยอทะยานของเราให้อยู่ในพื้นที่สมดุลกับสิ่งที่มนุษย์ควรมีและพึงจะเป็น

โลกนี้มันหนักอยู่แล้ว การดำเนินชีวิตอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วย “ภาระ” และ “ความทะเยอทะยาน” มันทำให้เราต้องแบกโลก สั้นที่สุดของวิชาตัวเบาคือทำยังไงให้เราไม่แบกโลก และเดินอยู่บนโลกได้อย่าง “เบาตัว” และ “เบาใจ”

นั่นหมายความว่า:

  • คุณต้องจัดการความทะเยอทะยานของตนได้ดีพอสมควร
  • คุณต้องจัดการความปรารถนาพื้นฐานของตนได้ดีพอสมควร
  • คุณต้องรู้ว่าความสุขของคุณอยู่ที่ไหน
  • ถ้าคุณรู้ว่าความสุขของคุณอยู่ที่ไหน คุณควรจะใช้ชีวิตตรงไปสู่ความสุขนั้น ไม่ใช่ไปใช้ชีวิตเปรียบเทียบกับผู้อื่น

ถ้าคุณเปรียบเทียบกับคนอื่น เมื่อเห็นว่าเขามีสิ่งที่สวยกว่า ราคาแพงกว่า คุณก็จะหาซื้อสิ่งที่สวยกว่า แพงกว่าเขา

  • ถ้าเขามีรถ 4 ล้อคุณจะซื้อรถ 6 ล้อ เขาเอารุ่นนี้คุณจะเอารุ่นนั้น
  • ถ้าเขาบิน first class คุณอาจจะต้องซื้อ private jet
  • ถ้าเขามี private jet คุณต้องเรือยอร์ช 2 ลำ
  • ถ้าเขามีเรือยอร์ช 2 ลำ คุณต้องมีเรือรบ 1 ลำ
  • ถ้าเขามีเรือรบอยู่ คุณอาจจะต้องไปซื้อเรือดำน้ำ
  • ถ้าเขามีนาฬิกาปลุก คุณก็ต้องมีนาฬิกาข้อมือ

ความทะเยอทะยานที่ไปไม่สุดของคุณมันจะทำร้ายคุณไปเรื่อยๆ จนไม่รู้ว่าคุณจะหยุดที่ตรงไหน หัวใจสำคัญของชีวิตคือเรื่องเวลา ไม่ใช่เรื่องนาฬิกา ถ้าคุณเข้าใจว่าการมีนาฬิกามากทำให้คุณมีความสุข นาฬิกาจะเล่นงานคุณ ถ้าคุณไม่มีนาฬิกาแม้แต่หนึ่งเรือน แต่คุณมีเวลา คุณจะนอนหลับ ไม่มีใครตามว่าคุณไปยืมนาฬิกาใครมา

เพราะ:

  • การรวยที่สุด ไม่ได้หมายความว่าจะมีความสุขที่สุด
  • การมีอำนาจมากที่สุด ไม่ได้หมายความว่าคนจะรักมากที่สุด
  • การฉลาดมากที่สุด ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นมนุษย์ที่ดีที่สุด
  • การมีคนรู้จักมากที่สุด ไม่ได้หมายความว่าจะมีเพื่อนรู้ใจมากที่สุด
  • การใส่เสื้อผ้าแบรนด์เนม ไม่ได้หมายความว่าจะนำมาซึ่งสุขภาพร่างกายที่ดี
  • การกินอาหารร้านหรู ไม่ได้หมายความว่ากลับบ้านแล้วจะไม่ท้องเสีย

ฉะนั้นต้องแยกให้ออกระหว่างปัจจัยภายนอกกับความสำคัญที่อยู่ภายในจิตใจ ถ้าแยกออกก็จะเบา ถ้าแยกไม่ออกก็จะแบกหนัก

5. กรุณาเป็นคนคุณภาพ

บทเรียนข้อสุดท้ายที่ได้จากคุณภิญโญคือเรื่องการเลือก “คู่ชีวิต” ซึ่งหลักการที่ดีคือ “กรุณาเป็นคนคุณภาพ”

  • มีคำถามขึ้นมาว่า คุณภิญโญมีวิธีคิดยังไงในการเลือกคู่ชีวิต และที่สำคัญคนนั้นต้องมีแนวคิดที่สอดคล้องและ/หรือสนับสนุนแนวคิดของเราด้วย?

“อันนี้มันรายการคลับฟรายเดย์นะครับ” คุณภิญโญตอบคำแรกแบบติดตลก หลังจากนั้นก็เสนอว่า “มันมีหนังสืออยู่เล่มหนึ่งชื่อว่า The 100 Year Life ชีวิตศตวรรษ อยากให้อ่านมาก เป็นหนังสือที่กำหนดเทรนด์ในอนาคตว่า ถ้าคุณมีชีวิตอยู่ถึง 100 ปี วิธีการบางอย่างที่คุณเคยวางแผนไว้อาจจะต้องเปลี่ยนไป”

ในอดีตรุ่นผมเรียนหนังสือจบมาทำงาน พออายุ 60 หรือ 65 ปีก็เกษียณ พอเกษียณเสร็จก็ใช้เงินบำนาญ ใช้ชีวิตไปซัก 80 ปีก็ตายแล้ว มีเงินเกษียณพอจะเลี้ยงไปจนเราเสียชีวิต แต่ถ้าชีวิตอยู่ถึง 100 ปีคุณทำงานถึง 65 เงินที่คุณเหลืออาจจะไม่พอที่จะทำให้คุณอยู่ถึง 100 ปี

เพราะฉะนั้นคุณมีความจำเป็นที่จะต้องวางแผนชีวิตหลายต่อหลายอย่างใหม่ เพราะถ้าคุณมีชีวิตอยู่ถึง 100 ปี คู่ชีวิตไม่ว่าจะเป็นคู่หญิง-ชาย ชาย-ชาย หรือหญิง-หญิงในอนาคตจะมีความหมายต่อคุณมาก เพราะเขาคือคนที่จะแชร์มากกว่าครึ่งหนึ่งของชีวิต

  • ถ้าคุณแต่งงานตอนประมาณอายุ 30 แล้วถ้าคุณอยู่ถึง 100 ปี เขาคือคนที่จะแชร์ประสบการณ์ชีวิต ช่วงเวลาสุขทุกข์ในชีวิตกับคุณถึง 70 ปี
  • นั่นคือปัจจัยที่สำคัญที่สุด คุณจะเลือกคนที่จะแชร์ชีวิตกับคุณ 70 ปีอย่างไร ถ้าคุณเลือกแบบสั้นๆ คุณจะทนเขาได้ไหม เมื่อคุณอายุผ่านไป 60 ปี แล้วคุณต้องอยู่กับเขาต่ออีก 40 ปี

ถ้าเลือกคู่ชีวิตที่ถูกย่อมสนับสนุนซึ่งกันและกัน เท้าสองข้างจะเดินไปด้วยกัน แต่ถ้าคุณเลือกคู่ชีวิตผิด ครึ่งหนึ่งของชีวิตคุณจะหายไป คุณเดินอย่างไรคุณก็เดินได้ไม่เต็มร้อย เผลอๆ จะเดินต่ำกว่า 50 เพราะคุณต้องเสียเวลาไปกับความขัดแย้ง กับความขมขื่นอีก 50% ของชีวิต

ฉะนั้น “คู่ชีวิต” จึงจะเป็นปัจจัยที่สำคัญ อาจจะมากกว่าการงานของคุณด้วยซ้ำไป

ในอนาคตอันใกล้ ถ้าคุณอาจจะมีชีวิตอยู่ถึง 100 ปี ถ้าคุณรู้ว่าคู่ชีวิตที่คุณเลือกมาแล้วไม่ใช่ แนวโน้มในการเปลี่ยนคู่ชีวิตก็จะเกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย ฉะนั้นจะเป็นการดีกว่า ถ้าคุณสามารถมองว่าคู่ชีวิตจะอยู่กับคุณไปทั้งชีวิตแล้วคุณเลือกให้ถูกต้องเสียตั้งแต่ต้น ถ้าไม่ถูกต้อง คุณจะเปลี่ยนก็เปลี่ยนซะตั้งแต่เร็ววัน เพราะคุณจำเป็นต้องอยู่กับเขาไปเป็นเวลายาวนาน มันคือครึ่งหนึ่งหรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของความสุขในชีวิตคุณ มันเป็นปัจจัยและเป็นทรัพย์สินที่มีค่ามากแต่จับต้องไม่ได้และวัดผลไม่ได้ ไม่เป็นตัวเลขแต่สร้างความสุขและความทุกข์ใจให้คุณได้อย่างมหาศาล

แต่การจะไปถึงจุดนั้นได้ ต้องเริ่มที่ตัวเราเองก่อน ข้อแรกคือ “กรุณาเป็นคนคุณภาพ” เพื่อที่จะสร้างคู่ชีวิตที่มีคุณภาพ และจะได้ไปสร้างชีวิตที่มีคุณภาพ แต่ถ้าครึ่งหนึ่งของคุณไม่มีคุณภาพ ต่อให้คุณประสบความสำเร็จทุกด้านก็ยากที่คุณจะมีความสุข

ผมเลยบอกว่าให้ไปคบคนสูงอายุไว้หน่อย จะได้เห็นว่าชีวิตของเราในอีก 10-20 ปีข้างหน้ามันจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เราจะได้ไม่ประมาทในการใช้ชีวิต และไม่ประมาทต่อการเลือกคู่ชีวิต

จงเป็นคนที่ดี และเลือกคู่ชีวิตที่ดี ขอให้โชคดีในการเลือกคู่ชีวิต

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา