ตลาด QSR ในไทยครึ่งปีแรกยังทรง ๆ เหตุกำลังซื้อมีปัญหา ร้านขยายสาขาช้า โอกาสโตในปี 2024 แค่ 3%

CRG หนึ่งในผู้ถือแฟรนไชส์ร้าน KFC ในประเทศไทย ฉายภาพตลาด Quick Services Restaurant หรือ QSR ในประเทศไทยปี 2024 มีโอกาสเติบโตแค่ 3% จากมูลค่ารวมในปี 2023 ที่ 45,000 ล้านบาท เหตุกำลังซื้อผู้บริโภคมีปัญหา และร้านค้าต่าง ๆ ขยายสาขาช้า

KFC

ตลาด QSR ในประเทศไทยยังทรง ๆ

ปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส QSR & Western Cuisine บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ CRG เล่าให้ฟังว่า ในปี 2023 มูลค่าตลาด QSR ของประเทศไทยอยู่ราว 45,000 ล้านบาท เติบโตจากปี 2022 เล็กน้อย โดยมีกลุ่มอาหารไก่ทอดกินส่วนแบ่งมากที่สุด หรือ 27,000 ล้านบาท

ส่วนในปี 2024 หลังผ่านไปครึ่งปี ตลาด QSR ในประเทศไทยยังเติบโตไม่มาก โดยคาดว่าจะเติบโตราว 3% เท่านั้น เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคยังมีปัญหา ประกอบกับร้านค้าต่าง ๆ ขยายสาขาอย่างล่าช้า แม้ธุรกิจร้านอาหารจะเริ่มต้นง่ายขึ้น แต่ต้องโดดเด่นจริง ๆ ถึงจะประคองธุรกิจเอาไว้ได้

“QSR ในประเทศไทยในปี 2023 มี KFC เป็นส่วนสำคัญ เพราะแค่ KFC ก็กินมูลค่าตลาดไก่ทอดไปแล้ว 21,000 ล้านบาท ผ่านสาขารวมกว่า 1,000 แห่ง ซึ่ง CRG เองถืออยู่ 338 สาขา สิ้นปีนี้จะเปิดเพิ่มขึ้น 23 สาขา และเราทำยอดขายจาก KFC ที่ 7,050 ล้านบาท เติบโตกว่าตลาดไก่ทอดที่โตราว 3%

KFC

KFC โดย CRG หวังปีนี้เติบโต 11%

ฝั่ง KFC ที่บริหารงานโดย CRG ในปี 2024 ตั้งเป้ายอดขายเติบโต 11% ผ่านกลยุทธ์ข้างต้น เช่น ขยายสาขา รวมถึงการทำโปรโมชันต่าง ๆ และการจำหน่ายสินค้าที่หลากหลาย อาทิ เครื่องดื่ม โดยหนึ่งในสาขาที่จะเปิดเพิ่มคือสาขาในระบบขนส่งสาธารณะ เช่น BTS และ MRT โดยในปี 2024 จะเห็นอย่างน้อย 1 สาขา

“สาขาดังกล่าวเราใช้ชื่อว่า Kisok Model ยังไม่สามารถบอกสถานที่ได้ และเป็นการร่วมกันเจรจากับแฟรนไชส์ KFC อีก 2 ราย โดยสาขาแบบนี้จะมีครัวที่ประกอบอาหารได้จริง ๆ ขนาด 55-60 ตร.ม. ใกล้เคียงสาขาปกติ ลงทุนน้อยกว่าสาขาปกติ 20% และในต่างประเทศเคยมีโมเดลสาขาแบบนี้ จึงต้องการทดลองในประเทศไทยด้วย”

ปัจจุบันการลงทุนในแต่ละสาขาของ KFC อยู่ที่ 10-15 ล้านบาท แล้วแต่พื้นที่ โดยสาขาในสถานีบริการน้ำมันลงทุนน้อยที่สุด ส่วนพนักงานหน้าร้าน KFC ของ CRG มีรวมพนักงานประจำ และพาร์ตไทม์จะอยู่ที่ 7,000 คน ทำงานอยู่ในสาขาที่ครอบคลุมเกือบทุกจังหวัด หรือเหลือแค่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น

KFC

เมื่อก่อนสาขาต้องใหญ่ แต่ตอนนี้เริ่มไม่ใช่

ดัวยผังพื้นที่ของศูนย์การค้าใหม่ และศูนย์การค้าดั้งเดิมที่เปลี่ยนไป ประกอบกับการซื้อกลับบ้าน และดิลิเวอรีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้ KFC ไม่จำเป็นต้องให้บริการผ่านสาขาขนาดใหญ่เหมือนในอดีตหรือจาก 350-400 ตร.ม. ลดเหลือ 200-250 ตร.ม. และมีสาขาเล็กที่สุดเพียง 150 ตร.ม.

“ตอนนี้การเปิดสาขาใหม่ หรือปรับปรุงสาขาเดิม เราจะมองเรื่องการออกแบบร้านให้เพิ่มพื้นที่ให้บริการกับลูกค้าในร้านที่มากขึ้น เช่น การปรับ Journey ของลูกค้าให้เป็นดิจิทัล เพิ่มเปลี่ยนจากจุดแคชเชียร์สั่งอาหารมาเป็นที่นั่ง เพราะ KFC เป็นอาหารแชร์ แม้จะมีการไปกินคนเดียวในร้านบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็สั่งมาเพื่อแชร์กัน”

ปัจจุบันหน้าร้านของ KFC ที่บริหารโดย CRG ส่วนใหญ่จะอยู่ในศูนย์การค้าของกลุ่มเซ็นทรัล และมีแผนเปิดเพิ่มในศูนย์ฯ ดังกล่าวเช่นกัน โดยการใช้บริการจะเป็นรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น เช่น การมีหน้าจอสำหรับกดสั่งอาหาร ซึ่งตอนนี้มี 70 สาขา และสิ้นปีจะขยายเป็น 100 สาขา

KFC

ขึ้นชื่อว่า QSR การเสิร์ฟอาหารต้องเร็ว

ปิยะพงศ์ เสริมว่า ด้วยการเป็น QSR ทำให้การเสิร์ฟอาหารต้องเร็วตามชื่อ โดยทางร้านตั้งเป้าที่หากไม่มีคิว ผู้สั่งจะได้รับเมนูที่สั่งภายใน 1 นาที และหากมีคิวก่อนหน้า จะต้องได้รับอาหารภายใน 5 นาที และมีเมนูต่าง ๆ รองรับมากขึ้น ซึ่ง KFC ที่บริหารโดย CRG มีสาขาที่ขายกาแฟแบรนด์ Arigato ทั้งหมด 230 สาขา

“ตอนนี้เราเพิ่มความหลากหลายของเมนูมากขึ้น แม้สัดส่วนของกลุ่มเครื่องดื่ม Arigato จะยังน้อยอยู่ หรืออยู่แค่ 7% ของยอดขายทั้งหมด แต่ก็ยังมีความสำคัญ ส่วนเรื่องโปรโมชันใหม่ เช่น เมนูที่ร่วมกับ Bam Bam ก็ช่วยให้เราได้กลุ่มลูกค้าใหม่ และเพิ่มการรับรู้ของ Digital Journey ให้ลูกค้ามากขึ้น”

สำหรับสัดส่วนยอดขายของ KFC ที่บริหารโดย CRG จะแบ่งเป็น 40% ซื้อกลับบ้าน รองลงมาเป็น 35% รับประทานที่ร้าน และ 25% ดิลิเวอรี ส่วนราคาเฉลี่ยต่อบิลอยู่ที่ 180-200 บาท แทบไม่เติบโต เพราะไม่ได้ปรับราคาสูงจากเดิมมาก แต่จำนวนบิลที่เกิดขึ้นในสาขาต่าง ๆ เติบโตขึ้น 6% แสดงให้เห็นถึงการเข้ามาใช้บริการมากขึ้น

KFC

ปรับภาพลักษณ์สาขาแรกของไทย

ในประเทศไทย CRG คือแฟรนไชส์รายแรกของ KFC และเปิดสาขาแรกที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลลาดพร้าวเมื่อปี 1984 โดยเป็นการเปิดพร้อมกับศูนย์ฯ ดังกล่าว และดั้งเดิมอยู่บริเวณติดถนนใหญ่ แต่ปัจจุบันขยับมาอยู่ที่ชั้น G แม้จะมีพื้นที่ไม่มาก แต่ด้วยการออกแบบร้านใหม่ทำให้รองรับผู้ใช้บริการได้มากขึ้น

“ร้านใหม่ออกแบบให้รับกับความเป็น 90s เอาสีดำ แดง และขาวมาเล่น ส่วนการใช้บริการในร้านจะเป็น Digital Journey ทั้งหมด ส่วนร้านที่เซ็นทรัลลาดพร้าวคืออีกความภูมใจของเรา เพราะเวลานั้นมีคนเข้ามาใช้บริการเต็มตลอด และมีพนักงานที่เคยเป็นผู้จัดการร้านสาขานี้ตั้งแต่เปิดให้บริการ ซึ่งเขาอยู่จนเพิ่งเกษียณไปไม่นานนี้”

ปิยะพงศ์ ย้ำว่า KFC เป็นแบรนด์อันดับ 1 ในตลาด QSR เพราะถึงจะดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมา 40 ปี แต่ยังมีความเป็นเด็ก และสื่อสารความเป็นแบรนด์ของวัยรุ่นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการเข้าถึงสาขาที่ง่าย และหากเทียบราคาอาหารของร้านต่าง ๆ ภายในศูนย์การค้า KFC จะเข้าถึงง่ายที่สุด

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา