อย่าให้ใครว่าเราตกเทรน รู้ยัง QR code จ่ายได้หมดตั้งแต่บนบกยันบนเรือ

หลายคนรู้จักบาร์โค้ดที่อยู่ตามสินค้า หรือ บิลต่างๆ แต่ตอนนี้หลายอย่างก็พัฒนามาเป็น QR code แล้ว เพราะเก็บข้อมูลได้เยอะขึ้น ที่เคยใช้กันบ่อยๆ น่าจะเป็นการแอดเพื่อนผ่าน Line หรือ เอามาจ่ายค่าสินค้า ทว่าแต่ก่อนร้านค้ายังมีไม่เยอะ แต่ตอนนี้เพียบ

วิธีการใช้งานก็ง่ายนิดเดียว (ส่วนที่ยากที่สุดอาจเป็นการมีเงินในบัญชี) คือ เราต้องมีมือถือ ซึ่งดาวน์โหลด Mobile Banking ของธนาคารที่เรามีบัญชีอยู่ คลิกเลือกฟีเจอร์จ่ายด้วย QR code แค่นี้ก็สามารถแสกนที่รูป QRcode ของร้านค้าและคลิกจ่ายเงินได้เลย

รถไฟ เรือ เมล์ เครื่องบิน ตุ๊กตุ๊ก ก็จ่ายผ่าน QR code ได้

เริ่มกันที่หมวดการเดินทาง ใครไปสถานีรถไฟ ก็แสกน QR code ของธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เพื่อจ่ายค่าตั๋วได้เลย หรือ ถ้าขึ้นเรือ Kbank ก็มีโปรโมชั่นอยู่ ให้ลูกค้าที่ใช้ K PLUS แสกน QR code จ่ายค่าโดยสารเรือขึ้นเรือด่วนเจ้าพระยา จากราคา 25 บาทหรือ 15 บาท เหลือแค่ 4 บาท ส่วนเรือข้ามฟาก (บางท่าเรือ) จาก 4 บาท
เหลือ 2 บาท โปรฯนี้มีถึงวันที่ 31 .. 2561 นี้

ส่วนขนส่งสาธารณะอื่นๆ อย่าง การซื้อตั๋วเครื่องบิน รถสองแถว รถตุ๊กตุ๊ก (รถสามล้อ) วินมอเตอร์ไซด์ และ รถตู้ ทั้ง KBANK ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และธนาคารกรุงไทย (KTB) ก็เข้าไปสอนวิธีใช้ ให้ผู้ขับขี่รับเงินผ่าน QRcode ได้แล้ว เช่น แถวอยุธยา รังสิต สยาม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฯลฯ

แต่ถ้าเป็นรถเมล์ หรือ รถประจำทาง ตอนนี้ KTB เข้าไปจับมือกับ ขสมก. นำ QR code ไปให้บริการใน Airport Bus สาย A1-A4 ใช้ Moblie Banking แบงก์ไหนก็ได้จ่ายค่าโดยสารได้ทันที

ภาพจาก SCB

ใครจะคิดซื้อบ้าน จ่ายค่าไฟ หนี้ กยศ. ก็ใช้ QR code ได้

นอกจากนี้ KTB และ ธนาคารออมสิน ที่เรียกว่ามีพันธกิจจากภาครัฐว่าต้องเข้าถึงชาวประชา จึงเน้นขยาย QR code ในต่างจังหวัด ไม่ว่าจะศูนย์อาหารของข้าราชการ ตลาดสด ถนนคนเดิน ทั่วประเทศ ตั้งแต่เชียงใหม่
สุพรรณบุรี ขอนแก่น ไปจนถึง หาดใหญ่ ฯลฯ  

ซึ่งกรุงไทย ยังชูจุดเด่นให้ชำระหนี้ค่ากยศ. (กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา)  หรือสายบุญก็ แสกน QR code ของวัด หรือมูลนิธิต่างๆ เลือกยอดเงินแล้วเปย์ได้ทันที ไม่ต้องมาใส่เลขบัญชียาวๆเหมือนสมัยก่อน โดยจะมีการออกใบอนุโทนาบัตรอิเล็กทรอนิกส์ส่งทางอีเมลให้กับผู้บริจาคได้ทันที หากสแกนผ่าน KTB netbank

ส่วนใครที่จะซื้อบ้าน ทางธนาคารกรุงศรี อยุธยา (BAY) จะร่วมมือกับ บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ให้ลูกค้าใช้ QR code จ่ายค่าจองและผ่อนชำระค่างวดได้เลย ฝั่ง KBank  จับมือกับฝั่งบ้านเอพี ให้จ่ายค่าจองด้วย QR code ได้เช่นกัน

ภาพจาก shutterstock

ว่าแต่ทำไมธนาคารเร่งไปทำ QR code ให้ร้านค้ารับเงินกันล่ะ?

ง่ายๆ ถ้าองค์กรไหน มี QR code รับเงินที่นั่นต้องมีบัญชีธนาคาร ถ้าธนาคารสามารถดึงให้ลูกค้าใช้ QR code ผ่านแบงก์เขาได้ เขาก็มีลูกค้ามากขึ้น และยังเห็นธุรกรรมเงินที่เข้าออกในบัญชีนั้น ซึ่งนำไปต่อยอดได้อีก เช่น การเสนอสินเชื่อให้ลูกค้าที่มีรายรับสม่ำเสมอ

และจุดประสงค์ใหญ่ที่สุดของเหล่าธนาคารคือ การลดใช้เงินสดในระบบ เพื่อลดต้นทุนการจัดการเงินสดของธนาคารนั่นเอง เช่น แม่ค้าต้องเอาเงินสดไปใส่ตู้รับฝากเงิน ธนาคารต้องจ้างรถขนเงิน มีค่ารักษาความปลอดภัย มีต้นทุนการตรวจนับ หรือต้องส่งเงินไปที่ตู้ ATM ฯลฯ ซึ่งถ้าลดต้นทุนตรงนี้ได้ธนาคารก็เอาเวลาไปพัฒนาบริการอย่างอื่นให้ดีขึ้นได้

ภาพจาก Kbank

ที่ผ่านมา QR code  เวิร์คไหม และจะพัฒนาอะไรได้อีก  

พัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย บอกว่า ตอนนี้ถ้าดูจากกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ซื้อ และมีแนวโน้มการใช้ QR code ต้องเป็นคนที่มี Moblie banking ซึ่ง KBank มีฐานลูกค้ากลุ่มนี้ (ใช้ K PLUS) อยู่ราว 8.4 ล้านราย

จากฐานลูกค้า 8.4 ล้านราย แบ่งเป็นร้านค้าที่รับชำระเงินผ่าน QR code มีอยู่ 1.4 ล้านร้านค้า ซึ่งปัจจุบันมูลค่าการรับจ่ายเงินผ่าน QR Code รวมกว่า 4,000 ล้านบาทแล้ว

“ตอนนี้ไลฟ์สไตล์ลูกค้าเปลี่ยนไป เราโฟกัสในสิ่งที่เขาต้องใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ทำให้ยอดใช้จ่ายผ่าน QR code โตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเราไม่ได้คิดค่าธรรมเนียมในขาจ่าย และรับเงิน หลังจากนี้ถ้ายอดใช้จ่ายยังโตอีกเท่าตัวก็ถือว่าเวิร์ค ”

ส่วนเรื่องที่เรากำลังพัฒนาอยู่คือ การทำ QR code บนหน้าเว็บไซด์ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างฝ่ายไอทีของธนาคารและ บริษัทพันธมิตร อย่างตอนนี้กำลังทำเรื่องการชำระเงินค่าตั๋วเครื่องบินผ่าน QR code บนเว็บไซด์ เราก็ต้องไปดูระบบหลังบ้านของบริษัทเขาว่าต้องปรับ ต้องจูนกันตรงไหนบ้าง

 

สรุป

เรียกได้ว่าเป็นศึกชิงลูกค้าของแต่ละธนาคาร ที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวงจรธุรกิจ แม้ QR code จะไม่ใช่นวัตกรรมที่หวือหวาอะไร แต่ถ้าทำให้คนใช้ได้ง่ายที่สุด ลูกค้าก็กล้าใช้ พอคนใช้มากขึ้น ธนาคารมีข้อมูลทั้งจากฝั่งคนใช้ และคนรับ ซึ่งนำไปวิเคราะห์และเสนอได้ตรงใจลูกค้า เช่น ลูกค้ามีรายรับเข้ามาเยอะอยากขยายธุรกิจก็เสนอสินเชื่อได้ ฯลฯ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา