AI กำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับคนทำงานยุคใหม่ ทั่วโลกรวมถึงไทยต่างพูดถึงกันอย่างเข้มข้น แต่เชื่อหรือไม่ว่า สำหรับองค์กรในไทย การนำ AI Technology มาใช้จริงกลับอยู่ในระดับต่ำมาก หรือแม้แต่การทำ Digital Transformation ที่พูดกันมาหลายปีแล้ว องค์กรธุรกิจไทยก็ยังนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์จริง มีประสิทธิภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกันน้อยกว่าที่ควร เมื่อเทียบกับประเทศใกล้เคียงอย่าง เวียดนาม ไต้หวัน หรือเกาหลีใต้
ข้อเท็จจริงคือ เราพูดถึงกันเยอะ เราตื่นตัวกันมาก แต่การนำมาใช้จริงในองค์กรกลับเป็นเรื่องตรงกันข้าม เราไม่ได้พูดถึงเพียงแค่การใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงาน หรือใช้ระบบประชุมทางไกลเพื่อความสะดวกสบายในการทำงานเท่านั้น แต่กำลังพูดถึงการใช้เทคโนโลยีจริงๆ เข้ามายกระดับการทำงาน
ยุคแห่งการเปลี่ยนผ่าน Digital Transformation แต่ผลลัพธ์ไม่เกิดขึ้น
วันเฉลิม สิริพันธุ์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหุ้นส่วนบริหาร ของบริษัท แพร็กมา แอนด์ วิลล์ กรุ๊ป จำกัด (PWG) ที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคลและการวางกลยุทธ์องค์กร กำลังชี้ให้เห็นว่า มีองค์กรจำนวนไม่น้อยต้องการเปลี่ยนแปลง ปรับโครงสร้างภายในให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ยิ่งในยุคหลังโควิด เป็นจังหวะที่ดีในการปรับเปลี่ยนภายใน แต่กลับติดขัดอุปสรรคต่างๆ โดยเฉพาะองค์กรระดับกลาง-ใหญ่ (Medium to Large)
ในช่วงโควิดมีการเลิกจ้างพนักงานไปบางส่วนเพื่อให้องค์กรสามารถเดินหน้าต่อไปได้ และพบว่าจำนวนคนที่ลดลงไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ แต่ถ้าต้องการเพิ่มประสิทธิภาพ ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ต้องทำ Digital Transformation ซึ่งการจ้างบริษัทที่ปรึกษาเข้ามาช่วยวิเคราะห์วางแนวทางแสดงให้เห็นถึงความต้องการด้านนี้อย่างจริงจัง ซึ่ง PWG มีกรณีศึกษาจากองค์กรที่ทำสำเร็จ เพื่อนำมาปรับใช้ในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป
หนึ่งในสิ่งที่ PWG พบคือ องค์กรขนาดกลาง-ใหญ่ของไทย ใช้งบประมาณไม่น้อยไปกับเทคโนโลยี แต่ผลที่ได้คือ ไม่ได้เพิ่มประสิทธิภาพงานเท่าที่ควร หรือได้เทคโนโลยีที่ไม่ตรงกับความต้องการ หรือได้เทคโนโลยีมาแต่ยังทำงานเดิมๆ เท่ากับว่า Digital Transformation ไม่ได้เกิดขึ้น
เผย 3 อุปสรรคหลักที่องค์กรไทยต้องเผชิญ
วันเฉลิม บอกว่า การทำ Digital Transformation ในองค์กรต้องลงถึงระดับการใช้ข้อมูลหรือ Data เข้ามาประกอบการตัดสินใจ การนำ AI เข้ามาวิเคราะห์และคาดการณ์สถานการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น แต่การยึดติดกับรูปแบบการทำงาน (Way of Work) แบบเดิมๆ คนยังอยู่ใน Comfort Zone ไม่มีการพัฒนาทักษะใหม่ๆ ที่จำเป็น โดยสามารถจำแนกได้ชัดๆ 3 องค์ประกอบ
- องค์กร หรือผู้นำองค์กร ขาดความเข้าใจในเทคโนโลยีและการใช้งานจริง ทำให้ตัดสินใจลงทุนทั้งที่ไม่มีความชัดเจนว่าองค์กรต้องการอะไร
- ทักษะของคนในองค์กรไม่เพียงพอ ทำให้ใช้งานเทคโนโลยีใหม่ไม่เต็มประสิทธิภาพ
- แนวทางการทำงาน หรือ Way of Work ไม่ชัดเจน กลัวการตกงาน กลัวการเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
นี่คือ 3 องค์ประกอบที่ PWG วิเคราะห์ออกมาได้ ยิ่งองค์กรของไทยมีลักษณะที่ประนีประนอม การเปลี่ยนแปลงจะไปได้ช้า เมื่อเทียบกับเวียดนาม ที่มีวัฒนธรรมการสั่งงานที่เด็ดขาด จะสามารถปรับตัวได้เร็วกว่า
AI สร้างการเปลี่ยนแปลงแน่นอนในอีก 1-2 ปีข้างหน้า
งานที่จะได้รับผลกระทบจากการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มีการพูดถึงกันไม่น้อย หลักคือ งานที่มีลักษณะทำซ้ำ งานที่ซ้ำซ้อน งานที่ไม่ต้องใช้การตัดสินใจ งานธุรการเอกสาร งานที่มีกรอบชัดเจน เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบแน่นอน ซึ่งสำหรับในไทยควรเกิดขึ้นแล้ว แต่ด้วยวัฒนธรรมการทำงานที่เปลี่ยนยาก ทำให้การเปลี่ยนแปลงช้าออกไปอีกประมาณ 1-2 ปี แต่เท่ากับว่าเป็นเวลาให้องค์กรได้เตรียมปรับตัว
วันเฉลิม บอกว่า สิ่งแรกที่องค์กรต้องทำคือ สำรวจตัวเองว่า ต้องการอะไร จะเอาเทคโนโลยีมาใช้ทำอะไร คนมีความพร้อมหรือไม่ และจะจัดการแนวคิดและวิธีการทำงานในองค์กรอย่างไร สิ่งที่ยากที่สุดคือ จะทำอย่างไรให้คนพร้อม นั่นคือการพัฒนาทักษะ ซึ่งต้องใช้เวลาในการเรียนรู้
ทั้งนี้ องค์กรระดับกลาง-ใหญ่ น่าเป็นห่วงทั้งในด้านขีดความสามารถและการแข่งขัน ไม่ต้องพูดถึงสิงคโปร์ที่ไปไกลแล้ว ยังมีเกาหลี ไต้หวัน เวียดนาม ที่เดินหน้าด้วยความเร็วเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของตัวเอง ดังนั้นไทยถ้าไม่รีบปรับ ไม่รีบทำ Digital Transformation จะเสียเปรียบลงไปเรื่อยๆ
“องค์กรธุรกิจไทยยกระดับจากเล็กขึ้นมากลางไม่ยาก แต่จากระดับกลางไปใหญ่ ต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงเยอะมาก จะโดนบีบบังคับทั้งจากกฎระเบียบ การแข่งขัน และทิศทางของโลกที่เปลี่ยนไป”
HR หนึ่งในงานที่ต้องปรับตัวมากที่สุด เพื่อขับเคลื่อนองค์กร
งานทรัพยากรบุคคลต้องเป็นงานเชิงรุกอย่างชัดเจน เลิกพูดเรื่องธุรการเอกสารไปได้เลย แม้ตอนนี้กระแสจะเน้นเรื่อง Well Being, Training ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ แต่ไม่ใช่อันดับแรกสุด
วันเฉลิม บอกว่า HR คืองานที่ต้องดูแลและพัฒนาบุคลากรทั้งองค์กร เวลานี้ต้องรู้และเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีมากที่สุด ว่าจะนำมาใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์ และทำให้คนในองค์กรมีความพร้อมมากที่สุด พูดง่ายๆ ว่า HR มีหน้าที่ในการทำให้เกิด Transformation องค์กรจะเดินหน้าไปอย่างไร อยู่ที่ HR ปัจจัยสำคัญ
แต่ปัจจุบัน HR ในองค์กรไทยที่ทำเรื่องนี้อย่างเข้มข้นมีอยู่ไม่มาก ส่วนใหญ่จะเน้นเทคโนโลยีที่ทำให้ทำงานง่ายขึ้น นั่นคือ Operation แต่ไม่ได้เน้นเรื่อง Transformation โดยสิ่งที่สะท้อนให้เห็นภาพชัดคือ การลงทุนด้าน HR การทำ HR Consult ต้องถูกกำหนดความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ เพราะต้องไม่ลืมว่า การพัฒนาคนให้เก่งและมีความสามารถ ก็คือ การพัฒนาศักยภาพให้กับองค์กรเช่นเดียวกัน
Identity ขององค์กรต้องชัดเจน เพื่อดึงดูดคนมีความสามารถมาร่วมงาน
อีกหนึ่งการแข่งขันในยุคนี้คือ การดึงตัวคนที่มีความสามารถรุ่นใหม่มาร่วมงาน โดยองค์กรต้องรู้ก่อนว่า คนเก่ง เลือกทำงานกับองค์กรที่มีความชัดเจนในตัวตน (Identity) มีความเป็นผู้นำในด้านนั้นๆ มีการใช้เทคโนโลยีอย่างเป็นรูปธรรม มี Way of Work ที่ชัดเจน รู้ว่าถ้าไปร่วมงานแล้วจะได้ทำอะไรที่ท้าทาย ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ
เหล่านี้คือน้ำหนักมากกว่า 60% ในการตัดสินใจเข้าร่วมงาน เท่ากับสะท้อนการทำงานของ HR ตามที่กล่าวมาข้างต้นว่า เรื่อง Well Being, Training มีส่วนสำคัญแต่ไม่ได้เป็นลำดับแรก ดังนั้น HR ต้องมุ่งเน้นศึกษาและพัฒนาเรื่อง Way of Work ให้มากขึ้น
ถ้าตัวตนขององค์กรชัดเจนและหนักแน่น จะดึงดูดให้คนอยากมาร่วมงาน การทำงานจะชัด การเปลี่ยนผ่านจะทำได้ไหลลื่นไม่ติดขัด เทคโนโลยีจะสามารถสร้างความแตกต่างและผลักดันให้องค์กรก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา