“ประกันชีวิต” ซื้ออย่างไรให้คุ้มค่าที่สุด อย่าเพิ่งซื้อจนกว่าจะได้อ่าน

ประกันชีวิต

ที่มา pixabay

ประกันชีวิต เป็นประกันที่หลายคนอาจจะมองว่าเป็นการจ่ายเบี้ยไปเฉยๆ ไม่ได้ใช้ หรือกว่าจะได้ใช้ก็อีกนาน เอาเงินไปลงทุนหรือเอาไปจ่ายประกันรูปแบบอื่นดีกว่า แต่จริงๆ ความไม่แน่นอนของชีวิตเกิดได้ทุกเมื่อ การมีประกันชีวิตเอาไว้นั้นจึงเป็นการสร้างความมั่นคงหรือหลักประกันที่ดีสำหรับตัวคุณ ครอบครัว และคนที่อยู่ในวันที่คุณไม่อยู่แล้ว ซึ่งแผนประกันชีวิตก็มีหลากหลายรูปแบบ ความคุ้มครองที่แตกต่างกันไป รวมถึงจำนวนเบี้ยที่ต้องชำระก็แตกต่างกันด้วย เรามาทำความรู้จักกับประกันชีวิตแต่ละแบบเพื่อทำความเข้าใจและเลือกประกันชีวิตที่คุ้มค่ากับตัวของคุณมากที่สุด

ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ

ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ จะคุ้มครองระยะยาวโดยผู้รับผลประโยชน์จะได้รับเงินเมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิตหรือครบสัญญา เหมาะสำหรับผู้ที่วางแผนที่จะมอบเงินเป็นมรดกให้กับลูกหลาน เป็นหลักประกันว่าเมื่อเสียชีวิตไปจะมีเงินไว้ ไม่ลำบากเมื่อเราจากไป รูปแบบการจ่ายเบี้ยประกันจะเป็นช่วงเวลา เช่น 5, 10, 15, 20 ปี คุ้มครองผู้เอาประกันตลอดชีวิตหรือจนถึงอายุที่กำหนดไว้ในแผนประกัน ข้อดีของประกันชีวิตแบบตลอดคือ ค่าเบี้ยไม่สูงมากแต่ให้ความคุ้มครองยาวนาน ไม่เหมาะกับผู้ที่มองว่าประกันชีวิตเป็นการลงทุน และไม่ใช่ประกันที่สามารถเบิกเป็นเงินสดออกมาได้ในระหว่างที่กรมธรรม์ยังคุ้มครองอยู่

ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา

ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา หมายถึงประกันที่คุ้มครองผู้เอาประกันแค่ช่วงเวลาใด เวลาหนึ่งเท่านั้น เน้นทำเพื่อคุ้มครองและป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับผู้เอาประกัน ไม่ได้ทำเพื่อต้องการเงินตอนครบสัญญาหรือเพื่อออมเงิน 

ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ หรือประกันชีวิตแบบออมทรัพย์

ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์หรือออมทรัพย์ คือประกันชีวิตที่เพิ่มการออมเงินเข้ามา โดยเราจะได้เงืนคืนเมื่อครบกำหนดเวลา แต่หากผู้เอาประกันเสียชีวิตระหว่างระยะเวลาที่ประกันคุ้มครอง บริษัทจะจ่ายเงินประกันให้กับผู้ได้รับประโยชน์ที่ระบุในกรมธรรมพ์ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการออมเงินไปพร้อมกับได้รับการคุ้มครองจากประกันชีวิต ซึ่งเบี้ยประกันจะสูงขึ้นจากประกันชีวิตแบบปกติ

ประกันชีวิตแบบบำนาญ

ประกันชีวิตแบบบำนาญเป็นประกันที่ถูกออกแบบมาเพื่อบริหารความเสี่ยงด้านการเงินในวันที่อายุเราถึงวัยเกษียณ โดยที่ประกันจะจ่ายเงินให้เราหลังจากที่อายุของผู้เอาประกันถึงที่กำหนดไว้ในกรมธรรมพ์ โดยที่ระยะเวลาการจ่ายเงินก็จะขึ้นอยู่กับตัวแผนประกันของแต่ละบริษัทประกัน เช่น อายุ 60 ปี ผู้เอาประกันมีสิทธิได้รับเงินบำนาญจนถึงอายุ 85 – 90 ปี ข้อดีนอกจากที่ผู้เอาประกันจะได้เงินหลังเกษียณแล้ว ยังสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 2 แสนบาทอีกด้วย ข้อสังเกตคือเบี้ยประกันค่อนข้างสูงและหากจำเป็นที่ต้องการเงินก่อนอายุที่กำหนด จะทำให้ได้รับเงินน้อยกว่าที่จ่ายไป

ประกันชีวิตแบบควบการลงทุน 

เป็นประกันอีกรูปแบบหนึ่งที่ค่อนข้างน่าสนใจเพราะเป็นการนำเบี้ยประกันที่เราจ่ายเงินทุกเดือนไปเป็นส่วนหนึ่งในการลงทุน ซึ่งสามารถจัดสรรสัดส่วนในการลงทุนเองได้ด้วย ข้อดีคือมีโอกาสได้รับผลตอบแทนมากกว่าประกันชีวิตรูปแบบอื่น มีความยืดหยุ่นสูง กำหนดเบี้ยประกัน ระยะเวลาคุ้มครองได้เอง แต่ข้อสังเกตคือต้องรับความเสี่ยงจากการลงทุนและผลตอบแทนให้ได้ รวมทั้งมีค่าดำเนินการในการจัดการการลงทุนด้วย

พิจารณาอะไรบ้าง ก่อนซื้อประกันชีวิต

หลังจากที่อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะพอจะเลือกได้บ้างแล้วว่าตัวเองน่าจะเหมาะกับประกันชีวิตรูปแบบใด แต่ยังไม่หมดแค่นั้น ยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องพิจารณาก่อนเลือกซื้อประกันชีวิตสักหนึ่งกรมธรรม์

ต้องการประกันชีวิตเพื่ออะไรบ้าง 

สำรวจตัวเองเป็นอันดับแรกว่าต้องการประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองอะไรบ้าง? ต้องการออมเงินด้วยหรือไม่? วางแผนเกษียณไว้หรือยัง? เพราะประกันแต่ละแบบมีความแตกต่างกันพอสมควรซึ่งส่งผลต่อเบี้ยประกันและระยะเวลาจ่ายเบี้ยประกันด้วย เพราะคุณคงไม่อยากทำประกันหลายกรมธรรม์ที่มีความคุ้มครองทับซ้อนกันมากเกินไปแน่ๆ 

เบี้ยประกันเท่าไหร่ที่เราจ่ายไหว

เลือกประเภทได้แล้วก็ต้องมาดูกันเรื่องของเบี้ยประกันกันต่อ เพราะในรายละเอียดแต่ละแผนนั้นก็จะมีการจ่ายเบี้ยประกันที่แตกต่างกันไป หากต้องการความคุ้มครองสูงก็ย่อมตามมาด้วยเบี้ยประกันที่สูงตามไปด้วย หลายคนคิดว่าทำประกันทั้งทีก็ทำแผนที่ความคุ้มครองสูงไปเลย แต่เมื่อนานวันไปมีปัญหาเรื่องของการจ่ายเบี้ยประกันทำให้อาจเกิดการยกเลิกกรมธรรม์กลางทาง แนะนำว่าให้คำนวณกันให้ดีแต่เนิ่นๆ เพื่อไม่ให้เป็นภาระของเราในภายหลัง 

อย่าลืม! ประกันชีวิตลดหย่อนภาษีได้ด้วยนะ เช็คกันด้วย 

หลายคนมักจะลืมไปว่าประกันชีวิตนั้นสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ด้วย ใครที่ต้องการเพิ่มตัวเลือกในการลดหย่อนภาษีบอกเลยว่าประกันชีวิตเป็นหนึ่งตัวเลือกที่คุ้มค่าและน่าสนใจมาก

ที่มา : krungsri.com, set.or.th, Money Buffalo, Money Buffalo

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา