จับชีพจรเอเจนซี่ครึ่งปีหลังกับ Publicis Groupe และคำสำคัญ ลูกค้ายังใช้เงิน แต่ใช้ไม่เหมือนเดิม

วงการเอเจนซี่เริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง เพราะองค์กร และแบรนด์ต่าง ๆ เริ่มหันมาใช้เงินซื้อสื่อ และทำกิจกรรมการตลาดรูปแบบต่าง ๆ ไม่ได้ชะลอผ่านปัจจัยเศรษฐกิจซบเซา และการเมืองในประเทศไทยที่ยังไม่ชัดเจน

อย่างไรก็ตามการใช้เงินขององค์กร และแบรนด์เหล่านั้นกลับไม่ได้ทุ่มเงินในรูปแบบเดิม แต่ต้องการใช้จ่ายกับเอเจนซี่ที่บริหารงานได้ตั้งแต่การสร้างการรับรู้ จนถึงการปิดการขาย และมีเทคโนโลยีรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

Brand Inside มีโอกาสพูดคุยกับ ภารุจ ดาวราย และ โศรดา ศรประสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม Publicis Groupe ประเทศไทย เพื่อฉายภาพถึงเอเจนซี่ยุคใหม่ และภาพรวมอุตสาหกรรมในครึ่งหลังของปี 2023 ดังนี้

Publicis Groupe

เอเจนซี่ยุคใหม่ต้องจบได้ในตัวเอง

ภารุจ ดาวราย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม Publicis Groupe ประเทศไทย เล่าให้ฟังว่า หลังจากเริ่มเดินหน้าธุรกิจในรูปแบบประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมครบ 1 ปี และได้เปลี่ยนการทำงานจากองค์กรสมัยเก่าที่เป็นรูปแบบ Silo กลายเป็นการรวมศูนย์ เน้นเรื่องผลกำไร และการเป็นเอเจนซี่ที่ตอบโจทย์ได้ทุกมุมให้กับแบรนด์

“Publicis Groupe จะเป็น Full Funnel ให้กับแบรนด์ต่าง ๆ ดังนั้นมันไม่ใช่แค่การสร้างการรับรู้ แต่คือเป็นทุกส่วนของเรื่อง Commerce หรือวงจรการซื้อขายทั้งหมด เพราะปัจจุบันการซื้อขายเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ยิ่งเราสร้างอิทธิพลในการซื้อได้ การปรับเปลี่ยนก็ต้องจำเป็น”

การจะเป็น Full Funnel ให้กับแบรนด์ต่าง ๆ เอเจนซี่มีความจำเป็นต้องมีบริการครบวงจร ซึ่ง Publicis Groupe มี 15 บริษัทย่อย ครอบคลุมตั้งแต่การสร้างแบรนด์, การกระตุ้นให้เกิดการซื้อ ไปจนถึงการให้ลูกค้าสนับสนุน และกลับมาซื้อ หรือใช้บริการของแบรนด์อีกครั้ง

เทคโนโลยีคืออีกเบื้องหลังที่ช่วยได้

ขณะเดียวกันการลงทุนเรื่องเทคโนโลยียังเป็นเรื่องที่เอเจนซี่ต่าง ๆ จำเป็น เพราะการนำเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมาใช้งานอย่างถูกจุดย่อมสร้างผลลัพธ์ที่ดีออกมาได้ไม่ยาก ซึ่ง Publicis Groupe มีการใช้งาน Marcel เพื่อพัฒนา และเชื่อมต่อคนในองค์กร รวมถึงล่าสุดยังมีการใช้งาน PublicisGPT เพื่อช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเช่นกัน

“เรามีเครื่องมือต่าง ๆ ที่มีประสิทธิภาพสูงของเรา ช่วยให้การทำงานเร็วขึ้น และมีประสิทธิภาพกว่าเดิม และไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัย เพราะ PublicisGPT เป็นระบบปิด ป้องกันข้อมูลความลับของลูกค้า แต่ทำให้เราสร้างแบบจำลอง หรือวิเคราะห์ข้อมูลให้กับลูกค้าได้เร็วเหมือนที่เราใช้ ChatGPT ของ OpenAI”

ตัวอย่างที่น่าสนใจของ Publicis Groupe ประเทศไทย ในเรื่องเทคโนโลยี คือ การที่เป็นคนรับผิดชอบการเปลี่ยนธนาคารกรุงเทพให้เป็นดิจิทัลในหลากหลายแง่มุม ถือเป็นการปรับภาพลักษณ์ครั้งสำคัญของทางธนาคาร โดยมี Digitas และ B&M สองบริษัทย่อยที่คอยรับผิดชอบเรื่องนี้

Publicis Groupe

ปรับแค่ภาพองค์กรไม่ได้ คนก็ต้องปรับเหมือนกัน

โศรดา ศรประสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม Publicis Groupe ประเทศไทย เสริมว่า ด้วยคนคือส่วนสำคัญของธุรกิจเอเจนซี่ ดังนั้นการพัฒนาคนให้เติบโต และเรียนรู้ทักษะใหม่ได้ตลอดเวลาคือเรื่องจำเป็น และบริษัทมีการร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ เพื่อเดินหน้าเรื่องนี้เต็มรูปแบบ

“ต้องไล่ตั้งแต่การใช้กลยุทธ์ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม เพราะกลยุทธ์นี้ทำให้คนทั้งองค์กรรับรู้ว่าเราต้องทำงานร่วมกันในทุกบริษัท และเวลาจะพัฒนางานใดงานหนึ่งพนักงานในส่วนต่าง ๆ ทั้งที่เชี่ยวชาญด้านครีเอทีฟ, เก่งเรื่องเทคโนโลยี หรือสื่อสารได้แม่นยำ ก็ต้องมาทำงานร่วมกันเพื่อส่งมอบงานที่ดีที่สุดให้ลูกค้า”

Publicis Groupe มองพนักงานเป็น People of Tomorrow โดยพวกเขาจะทำงานกับ AI และเทคโนโลยีต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ จากพาร์ตเนอร์ เช่น SEAC รวมถึงให้พวกเขาสามารถแลกเปลี่ยนตำแหน่งภายในองค์กรได้อย่างอิสระ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ ๆ เช่นกัน

AI เก่งแค่ไหนก็ไม่สร้างสรรค์เท่ามนุษย์

ภารุจ เสริมว่า ถึงบริษัทจะมีเทคโนโลยีดี ๆ ให้ใช้ แต่ AI จะเก่งแค่ไหนก็ไม่สร้างสรรค์เท่ามนุษย์ เพราะ Publicis Groupe มีการพัฒนาคนตลอดเวลา และใช้ประโยชน์จากความเก่งของ AI ในการช่วยเหลือการสร้างสรรค์ จึงไม่แปลกที่บริษัทจะมีการใช้งาน AI ในทุกบริษัทย่อย

“ตอนนี้เอเจนซี่ต่าง ๆ เริ่มนำคนที่เชี่ยวชาญด้าน AI เข้ามาทำงานมากขึ้น แต่ผมเชื่อว่าทักษะที่จำเป็นที่สุดของพวกเขา และคนที่ใช้งาน AI ตอนนี้คือการเป็น Copilot หรือการควบคุมการใช้งาน AI เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด และมาพร้อมกับความปลอดภัยของข้อมูลลูกค้า”

ขณะเดียวกันการไปร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญในด้านอื่น ๆ ยังช่วยให้เอเจนซี่สร้างสรรค์งาน และช่วยเหลือลูกค้าออกมาได้ดีขึ้น ซึ่ง Publicis Groupe ต้องการเป็น The Best Full-Funnel Commerce Partner For Brands ที่พร้อมทำงานกับลูกค้าในทุกขั้นของวงจรการสื่อสารการตลาด

Thailand

ลูกค้ายังใช้เงิน แค่การใช้ไม่ได้มาในรูปแบบเดิม

หากเจาะไปที่ภาพรวมอุตสาหกรรมเอเจนซี่จะพบว่า ปัจจุบันลูกค้าแบรนด์ต่าง ๆ ยังใช้เงินเพื่อสื่อสาร และทำตลาด อ้างอิงจากเศรษฐกิจไทยที่เริ่มฟื้นตัว ส่วนจะอยู่ที่ออฟไลน์ หรือออนไลน์จะอยู่ที่ความเหมาะสม แต่การใช้เงินนั้นจะเปลี่ยนไป ไม่ได้เน้นแค่เรื่องการสร้างการรับรู้เพียงอย่างเดียว

“ลูกค้าเก่ง ๆ มีเยอะ เราก็ต้องไปดูว่าลูกค้าจะลงทุนการตลาดมากแค่ไหน ถ้างบประมาณได้ เราก็พร้อมรองรับ แต่ถ้าไม่เขาก็อาจจะไปใช้บริการเอเจนซี่รายย่อยเพื่อทำ Sexy Ads พอ ซึ่งเชื่อว่าในไตรมาส 4 ปี 2023 ทุกคนจะกลับมาใช้เงินอย่างเต็มที่เช่นเดียวกับในอดีต”

ภารุจ ย้ำว่า ลูกค้ายังไม่มีการแสดงความหวาดกลัวในเรื่องการใช้เงิน และไม่มีการเปลี่ยนแปลงแผนการตลาดใด ๆ โดยมีกลุ่ม FMCG ที่ยังใช้งบประมาณเยอะที่สุดเช่นเดิม พิสูจน์ได้จากตอนนี้ลูกค้าใช้งบประมาณมากขึ้น 11% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2022

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา