เปิดเคล็ดลับ “พูดในที่สาธารณะ” ให้มั่นใจ สะกดผู้ฟังได้ตั้งแต่ต้นจนจบ

ทักษะการนำเสนอหรือการพูดในที่สาธารณะเป็นทักษะสำคัญที่ขาดไม่ได้หากอยากเติบโตในด้านหน้าที่การงาน Brand Inside ขอพาทุกท่านไปเรียนรู้เคล็ดลับพัฒนาทักษะการพูด เพื่อเปลี่ยนตัวเองเป็นคนใหม่ที่สามารถพูดนำเสนอได้เก่งและดีกว่าเดิม

Photo by Kane Reinholdtsen on Unsplash

เรา “กลัว” อะไร ทำไม “ไม่มั่นใจ” เมื่อต้องพูดในที่สาธารณะ

ให้ลองใช้เวลาเงียบๆ กับตัวเองและคิดทบทวนดูว่า เรา “กลัว” อะไรถึงทำให้ขาดความมั่นใจเมื่อต้องพูดในที่สาธารณะ เมื่อลิสต์สาเหตุออกมาแล้วอาจจะพบว่า เรากลัวเพราะเคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดีมาก่อน กลัวเพราะโดยปกติตัวเองเป็นคนขี้อาย กลัวเพราะกังวลว่าคนอื่นจะมองตัวเองไม่ดี เป็นต้น

หลังจากนั้นให้ลองเขียนวิธีที่คิดว่าจะช่วยให้ “ก้าวผ่าน” ความกลัวเหล่านี้ได้ สิ่งที่สำคัญคือให้ลองเขียนอธิบายอย่างละเอียดว่า ถ้าก้าวผ่านความกลัวเหล่านี้ไปได้แล้ว ชีวิตของเราจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นอย่างไรบ้าง

ก่อนออกแบบเนื้อหาการพูด เราต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า..

1. ผู้ฟังคาดหวังอะไรจากการมาฟังเรา

ถ้าเราทราบว่าผู้ฟังคาดหวังอะไรจากการมาฟัง เราก็จะสามารถออกแบบเนื้อหาการพูดไปในทิศทางที่ถูกต้องและเข้าถึงใจของผู้ฟังได้

2. เราจะทำให้เรื่องที่เล่าน่าสนใจได้อย่างไร

เราควรออกแบบให้การนำเสนอเป็น “การสื่อสารสองทาง” คือออกแบบเนื้อหาให้มีจุดที่เราสามารถพูดจาโต้ตอบหรือมี “ปฏิสัมพันธ์” กับผู้ฟังได้ เพื่อให้ผู้ฟังได้มีส่วนร่วม ไม่ใช่นั่งฟังเฉยๆ เพียงอย่างเดียว 

ฝึกซ้อมให้คล่องเหมือนร้องเพลง Happy Birthday

นักพูดจากรายการ Ted Talk ทุกคนนำเสนอได้อย่างยอดเยี่ยม เพราะพวกเขาฝึกซ้อมกันเป็นอย่างหนักจนสามารถท่องบทได้คล่องอย่างเป็นธรรมชาติเหมือนตอนร้องเพลงสุขสันต์วันเกิด ข้อดีของการท่องบทได้อย่างแม่นยำ คือเมื่อเรารู้สึกมั่นใจแล้ว เราจะสามารถเพิ่มเติมมุขตลกระหว่างพูดได้อย่างเป็นธรรมชาติ ทำให้การบรรยายของเรามีสีสันและมีเสน่ห์มากขึ้น 

เคล็ดลับของนักพูดที่มีชื่อเสียงหลายๆ ท่าน คือซ้อมท่องบททุกครั้งที่มีโอกาส เช่น เมื่ออาบน้ำ เมื่อปั่นจักรยาน เมื่อพักทานอาหารกลางวัน สิ่งสำคัญของวิธีการนี้ คือในแต่ละครั้งที่ซ้อมเราไม่จำเป็นต้องท่องบทตั้งแต่ต้นจนจบ เพียงแต่ให้จำบทส่วนต่างๆ ให้ได้ก็เพียงพอ

เมื่อต้องพูดต่อหน้าคนจำนวนมาก อย่าหลอกตัวเองว่า “ไม่ได้กังวล”

หากกังวลเมื่อต้องพูดในที่สาธารณะ อย่าหลอกตัวเองว่า “ไม่ได้กังวล” เพราะสถานการณ์ทุกอย่างอาจจะแย่ลงกว่าเดิม คือเราอาจจะกังวลมากขึ้นหรือหัวใจเต้นเร็วขึ้น เพราะพยายามกดความรู้สึกตัวเองเอาไว้

Photo: Shutterstock

เราสามารถหลอกสมองตัวเองให้เปลี่ยน “ความกลัว” เป็น “ความรู้สึกตื่นเต้น” แทนได้ เพราะความรู้สึกตื่นเต้นสื่อความหมายไปในแง่บวกมากกว่า เราสามารถลดความตื่นเต้นก่อนขึ้นเวทีได้โดยออกไป “ทักทาย” และ “ทำความรู้จัก” กับผู้ฟังบางส่วนก่อน การทำแบบนี้จะช่วยให้ผู้ฟังรู้สึกว่าเราเป็นคนที่เข้าถึงได้ง่าย และเมื่อขึ้นพูดเราก็จะรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น

นอกจากนี้ ระหว่างพูดให้เรา “สบตา” กับผู้ฟังที่ “พยักหน้า” บ่อยๆ เพราะเราอาจจะรู้สึกกังวลระหว่างพูดหากรู้สึกว่าผู้ฟังไม่สนใจในเนื้อหาของเรา ดังนั้น เราจึงควรมองหาผู้ฟังที่พยักหน้าคล้อยตามกับสิ่งที่เราพูดบ่อยๆ เพื่อให้ตัวเองรู้สึกมั่นใจมากขึ้น

จดจำ “ประโยคแรก” และ “ประโยคสุดท้าย” ของการนำเสนอให้ดี

ประโยคแรกและประโยคสุดท้ายมักจะเป็นใจความสำคัญของการบรรยายเสมอ ดังนั้น เพื่อเปิดโอกาสให้เราได้มีอิสระเวลาพูดมากขึ้น ให้เราจดจำทั้งสองประโยคนี้ให้ดี ส่วนเนื้อหาที่เหลือก็ให้เราพูดอย่างลื่นไหลเป็นธรรมชาติ มีการดัดแปลงได้ตามสถานการณ์ ไม่จำเป็นต้องตรงกับบทพูด 100%

สิ่งสำคัญคือ อย่าเริ่มต้นการบรรยายด้วยการแนะนำตัวธรรมดา เช่น ตัวเองเป็นใคร ชื่ออะไร เพราะอาจทำให้ผู้ฟังรู้สึกเบื่อได้ ทางที่ดีให้เราเปิดการนำเสนอด้วยโควท เรื่องราว สถิติ หรือคำถามที่ดึงดูดความสนใจจะดีกว่า เมื่อจบการบรรยายก็ให้เราพูดปิดอย่างน่าสนใจเช่นเดียวกัน เพราะโดยส่วนใหญ่ผู้ฟังจะจำเนื้อหาในส่วนเริ่มต้นและส่วนจบได้ดีที่สุด

7 วินาทีแรกสำคัญที่สุด

ผลการวิจัยของ Vanessa Van Edwards นักวิจัยที่ Science of People พบว่า ผู้คนจะชอบการบรรยายนั้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับ 7 วินาทีแรกของการบรรยายทั้งหมด ดังนั้น เราจึงควรเปิดการนำเสนอให้น่าสนใจ

Amy Cuddy เปิดการนำเสนอเรื่อง “ภาษากายเปลี่ยนตัวตนของคุณได้” โดยขอให้ผู้ฟัง “เปลี่ยนท่านั่ง” ทำให้ผู้ฟังรู้สึกสนใจว่าเธอจะพูดอะไรต่อ

Dan Pink เปิดการนำเสนอเรื่อง “เรื่องราวที่น่าทึ่งเกี่ยวกับแรงจูงใจ” โดยเกริ่นว่า “เขามีความลับที่เก็บมานานหลายปีจะสารภาพ” ทำให้ผู้ฟังรู้สึกอยากทราบเรื่องของเขามากขึ้น 

Jason Shen เปิดการนำเสนอเรื่อง “คุณกำลังหางานอยู่หรือเปล่า ลองเน้นแสดงความสามารถแทนประสบการณ์สิ” โดยถามผู้ฟังว่า “รู้ไหมว่าผมอิจฉาใครที่สุด” แล้วเขาก็เฉลยว่า “ผมอิจฉาคนที่ได้ทำงานตรงสายกับที่เรียนจบมา” เพื่อเน้นให้เห็นว่า คนส่วนใหญ่ไม่ได้ทำงานตรงสายกับที่เรียนจบมานั่นเอง

เน้นย้ำ “ใจความสำคัญ” ของเรื่องที่เล่า

ใจความสำคัญ คือสิ่งที่เชื่อมเรื่องราวทั้งหมดของการบรรยาย อย่างต่ำควรสรุปได้สัก 15 คำหรือ 1 ประโยค ว่าอะไรเป็นสิ่งที่เราอยากให้คนฟังจดจำไว้มากที่สุดหลังจบการบรรยาย ยกตัวอย่างเช่น

การบรรยายเรื่อง “ภาษากายเปลี่ยนตัวตนของคุณได้” ของ Amy Cuddy มีใจความสำคัญว่า การเปลี่ยนแปลงภาษากายเพียงเล็กน้อยส่งผลต่อสภาพจิตใจและอารมณ์ได้มาก 

การบรรยายเรื่อง “เรื่องราวที่น่าทึ่งเกี่ยวกับแรงจูงใจ” ของ Dan Pink มีใจความสำคัญว่า หากต้องการให้พนักงานมีความคิดสร้างสรรค์ จง “เลิก” บริหารพนักงานแบบให้รางวัลและบทลงโทษ 

การบรรยายเรื่อง “คุณกำลังหางานอยู่หรือเปล่า ลองเน้นแสดงความสามารถแทนประสบการณ์สิ” ของ Jason Shen มีใจความสำคัญว่า ในอนาคตเราควรจ้างงานคนจากความสามารถมากกว่าจากเรซูเม่ เป็นต้น 

เคล็ดลับที่น่าสนใจ คือเมื่อทำ “สไลด์” ให้เราใช้หน้าว่างๆ หนึ่งหน้าเขียนใจความสำคัญ 1 ประโยคนี้ด้วยฟอนท์ขนาดใหญ่ เพื่อเน้นให้ผู้ฟังจดจำได้ง่าย

สไลด์ “น้อย” แต่ “ดี”

หากพูดถึง Ted Talk แล้ว หลายๆ คนคงนึกถึงนักพูดมากความสามารถที่มาพร้อมกับสไลด์ที่ดี น่าจดจำ และน่าแบ่งปัน อย่างไรก็ตาม ทอล์กที่มีชื่อเสียงหลายๆ อันก็ไม่ได้ใช้สไลด์เลยเสียด้วยซ้ำ ตัวอย่างเช่น 

ทอล์กของ Ken Robinson เรื่อง “โรงเรียนฆ่าความคิดสร้างสรรค์หรือเปล่า”

ทอล์กของ Susan Cain เรื่อง “พลังของคนที่ชอบเก็บตัวเงียบๆ” 

การใช้สไลด์ประกอบการนำเสนอมากเกินไปจะส่งผลเสีย คือผู้ฟังจะสนใจมอง “สไลด์” มากกว่ามองผู้ที่กำลังนำเสนออยู่ ดังนั้น วิธีการแก้ปัญหาคือให้เราตัดสินใจเอาหน้าสไลด์ที่ไม่มีความจำเป็นออกนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม หากรู้สึกว่าการฝึกซ้อมคนเดียวเป็นเรื่องยากให้เราลองไปเข้าร่วม “workshop” พัฒนาทักษะการพูดในที่สาธารณะ เพราะกิจกรรม workshop มักจะมีสถานการณ์จำลองมาให้เราฝึกฝนอย่างเสมือนจริง ทำให้เราคุ้นเคยกับการพูดในที่สาธารณะมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การเข้าร่วมเวิร์คช็อปกับคนที่มีเป้าหมายอยากพัฒนาตัวเองเหมือนกันยังช่วยให้เรารู้สึกสนุกและมีความมุ่งมั่นมากขึ้นอีกด้วย

ที่มา : Entrepreneur, skillsyouneed, makeuseof, themuse, huffpost, Inc, forge

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา