วงการสื่อขาลง ยุคนี้นักข่าวแห่ไปเป็น PR สูงขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า เมื่อเทียบกับ 20 ปีก่อน

หนึ่งในเส้นทางอาชีพยอดฮิตของ “นักข่าว” คือการผันตัวไปเป็น “พีอาร์” แต่รู้หรือไม่ว่า อัตราการเปลี่ยนงานจากนักข่าวสู่พีอาร์สูงขึ้นทุกปี เหตุผลหลักเป็นเพราะวงการสื่อสารมวลชน (โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์) เข้าสู่ขาลงอย่างหนัก

นักข่าว สื่อสารมวลชน ประชาสัมพันธ์ พีอาร์
Photo: Shutterstock

วงการสื่อขาลง แต่วงการพีอาร์ยังขยายตัว

สถิติจากทางการของสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดที่สุดของวงการสื่อสารมวลชน คือการที่บรรดานักข่าวเปลี่ยนงานไปสู่วงการประชาสัมพันธ์ หรือที่มักเรียกเป็นชื่อย่อกันว่า “พีอาร์”

เมื่อ 20 ปีก่อน ในปี 1998 อัตราการของพีอาร์ในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ประมาณ 2 คน (ตัวเลขจริงๆ คือ 1.9) ต่อจำนวนนักข่าว 1 คน ในตลาด แต่ในปี 2018 อัตราการของพีอาร์อยู่ที่ 6.4 คนต่อจำนวนนักข่าว 1 คน ตัวเลขนี้สะท้อนว่า ตลาดพีอาร์ขยายใหญ่ขึ้น ส่วนตลาดวงการสื่อหดตัวลง

  • มีการคาดการณ์ว่า อัตราการจ้างงานในวงการพีอาร์จะเกิดการขยายไปถึง 282,600 ตำแหน่งในปี 2026 เรียกได้ว่าเพิ่มสูงกว่าปี 2016 ถึง 9%
  • ในขณะที่วงการสื่อสารมวลชน (โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์) ที่เข้าสู่ยุคขาลง ถ้าเทียบในช่วงเวลาเดียวกันถือว่ามีอัตราการเติบโตของตำแหน่งงานที่สวนทางกัน เพราะติดลบ 9% ทำให้อาชีพต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเช่น ผู้สื่อข่าวภาคสนาม และนักวิเคราะห์ข่าว จะเหลือเพียง 45,900 ตำแหน่งเท่านั้นในปี 2026

ส่วนถ้าไปดูตัวเลขของวงการข่าวโดยตรง นับตั้งแต่ปี 2008 ถึงปี 2017 จำนวนพนักงานที่ทำงานข่าวลดลง 23% โดยเฉพาะที่หนักที่สุดคือคนที่ทำงานสื่อสายหนังสือพิมพ์มีอัตราลดลง 45% เหลือเพียง 39,000 ตำแหน่งเท่านั้น

อย่างที่รู้กันดีว่า บริษัทในยุคนี้ต่างต้องการสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรด้วยการจ้างนักประชาสัมพันธ์เฉพาะทาง ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะจ้างคนที่เคยทำงานสายข่าวมาก่อน เพราะเน้นการสร้างคอนเทนต์ที่ดี ตัวอย่างที่ชัดในฝั่งตะวันตกคือ Starbucks ที่มี Newsroom เป็นของตัวเอง ส่วนในฝั่งตะวันออกลองดู Alibaba ที่มี Alizila ไว้ประชาสัมพันธ์องค์กรเชิงข่าวสารที่หลากหลาย น่าสนใจ และมีข้อมูลที่อัดแน่น

ที่มา – Bloomberg

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา