ปิดฉาก ‘มหกรรมหนังสือฯ’ ซื้อกันสะพัด 439 ล้าน คนเดิน 1.4 ล้านคน ปีหน้าขยายฮอลล์แน่

จบแล้วกับ 11 วันเต็มๆ ของงาน ‘มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29’ ที่ดึงดูดมิตรรักนักอ่านทั่วไทยมาเที่ยวกัน โดย สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ระบุว่า มีนักอ่านร่วมงานมากกว่า 1.4 ล้านคน สร้างเม็ดเงินสะพัด 438 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15%

ที่สำคัญงานรอบนี้ยังสร้างประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ เพราะแค่วันที่ 19 ตุลาคม 2567 เพียงวันเดียว มีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 236,686 คน สูงสุดเท่าที่เคยมีมา (สถิติเดิมสูงสุด 162,135 คน)

และคาดว่าภายในวันที่ 19 วันเดียวมีเงินสะพัดมากกว่า 100 ล้านบาท มากที่สุดตั้งแต่จัดงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติมาหลังจากโควิดระบาด

ที่มาความสำเร็จ = ธีมงานชัด คนรุ่นใหม่แชร์ หนังสือคุณภาพ

สุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) อธิบายว่า ความสำเร็จมาจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่

1) การจัดงานภายใต้ธีม ‘อ่านกันยันโลกหน้า’ แปลกใหม่และชัดเจน ทำให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ดึงดูดผู้อ่านและผู้สนใจเข้าร่วมงาน

2) กระแสตอบรับดี โดยเฉพาะใน ‘กลุ่มคนรุ่นใหม่’ เข้ามาเลือกซื้อหนังสือและร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่มีมากกว่า 100 กิจกรรม พร้อม ‘แชร์ผ่านโลกโซเชียล’ สร้างกระแสของงานในวงกว้าง

โดยผู้อ่านที่เข้ามาร่วมงานเป็นคนในช่วงอายุ 12-35 ปี มาถึง 69% และกลุ่มนี้เติบโตเพิ่มขึ้นจากเดิมมากถึง 20% และเมื่อเจาะลงมาจะพบช่วงอายุ 23-28 ปี จำนวนสูงถึง 23%

3) การปรับตัวของสำนักพิมพ์และผู้ผลิตหนังสือ ตอบต่อความต้องการของนักอ่านมากขึ้น พัฒนารูปแบบหนังสือและเนื้อหา ทำให้หนังสือมีคุณภาพมากขึ้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และดึงดูดให้นักอ่านกลับมาเลือกซื้อต่อเนื่อง

โดยพบว่า สำนักพิมพ์ที่ ‘เปิดตัวหนังสือปกใหม่’ ได้รับความสนใจมาก ทั้งจากนักอ่านที่ชอบซื้ออ่านและชอบซื้อสะสม รวมถึง ‘นักเขียนต่างชาติ’ ก็ได้รับความสนใจจากผู้อ่านสูงเช่นกัน

ซื้อเฉลี่ยคนละ 600 บาท ขายดีสุด คือ การ์ตูน-นิยาย โปรยอดฮิตคือ บุฟเฟ่ต์

หมวดหนังสือขายดี TOP 3 ในงาน ได้แก่
อันดับ 1 การ์ตูน 40%
อันดับ 2 นิยาย 30%
อันดับ 3 จิตวิทยา/ฮีลใจ 20%
และอื่นๆ รวม 10%

อีกหนึ่งความสำเร็จที่นายก PUBAT กล่าวถึง คือ ‘การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย’ ของสำนักพิมพ์อย่างการจัดโปรโมชันลดกระหน่ำ การแจกไอเทมพรีเมี่ยม และการจัดกิจกรรมหยิบฟรีไม่อั้น ‘บุฟเฟ่ต์เต็มถุง’ ในราคา 199 บาท, 579 บาท และ 699 บาท หรือชั่งกิโลขายขีดละ 10 บาท

กิจกรรมส่งเสริมการขายเหล่านี้ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม เห็นได้จากยอดจองคิวผ่านช่องทางออนไลน์และหน้าบูธ ช่วยดึงดูดให้นักอ่านเข้ามาร่วมงานมากขึ้น

โดยในการจัดงานครั้งนี้พบว่า มียอดการซื้อหนังสือเฉลี่ย 600 บาทต่อคน ขณะเดียวกันพบว่ามีนักอ่านและผู้สนใจจำนวนมากที่มาร่วมงานมากกว่า 1 ครั้งด้วย

 

ครั้งหน้าเตรียมขยาย ‘ฮอลล์’ เพิ่มอีก

“ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในครั้งนี้สวนทางกับภาวะเศรษฐกิจที่กำลังเริ่มฟื้นตัว ขณะที่หลายคนมองว่าหนังสือไม่ใช่ปัจจัย 4 แต่งานครั้งนี้ทำให้เห็นว่า นักอ่านจำนวนมากยังชื่นชอบการอ่านหนังสือ ยังต้องการเลือกซื้อหนังสือเล่มโปรด ต้องการมาร่วมกิจกรรมพบกับนักเขียนคนโปรด และรับไอเทมพิเศษภายในงาน

นอกจากนั้น กระแสต่างๆ ที่เกิดขึ้นยังส่งผลต่ออุตสาหกรรมหนังสือเมืองไทยที่มีมูลค่ากว่า 16,000 ล้านบาท เติบโตสูงขึ้นด้วย และส่งผลให้คนไทยมีสถิติการอ่านที่สูงขึ้น (จากงานวิจัยล่าสุด ในปัจจุบันที่พบว่าคนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ย 113 นาทีต่อวัน)

เพื่อต่อยอดความสำเร็จ สมาคมมีแนวคิดในการขยายพื้นที่จัดงานในครั้งต่อไป โดยจะขยายเพิ่มอีก 1 ฮอลล์ หรือประมาณ 5,000 ตร.ม. ส่งผลให้มีพื้นที่จัดงานเพิ่มขึ้นเป็น 25,000 ตร.ม. จากเดิมที่มีอยู่ราว 20,000 ตร.ม.

ทำให้สำนักพิมพ์ต่างๆ สามารถเข้าร่วมออกบูธได้มากขึ้น และมีหนังสือออกวางจำหน่ายเพิ่มขึ้น มีกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น สร้างโอกาสให้ผู้อ่านและผู้สนใจสามารถมาเดินเลือกซื้อหนังสือที่ตัวเองชื่นชอบและร่วมกิจกรรม

ข่าวเกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา