ม.อ. โชว์วัคซีนสูตรใหม่ Sinovac 2 โดส + AstraZeneca 1 ใน 5 โดส ใต้ผิวหนัง ให้ภูมิเท่าฉีดเต็ม

คณะแพทยศาสตร์ ม.อ. เผยผลวิจัย วัคซีน ซิโนแวค 2 โดส + แอสตร้าเซเนก้า 1/5 โดสฉีดใต้ผิวหนัง ให้ภูมิคุ้มกันใกล้เคียงการฉีดเข็มกระตุ้น 1 โดสปกติเข้ากล้ามเนื้อ หวังผลการศึกษาวิจัยช่วยวางแผนบริหารจัดการวัคซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เตรียมความพร้อมเปิดประเทศ

วัคซีน sinovac

ม.อ. โชว์สูตรใหม่ 2 Sinovac + 1/5 AZ

คณะแพทยศาสตร์ ม.อ. ทดสอบภูมิคุ้มกันของการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าเป็นเข็มกระตุ้นในกลุ่มประชากรทั่วไปอายุ 18-60 ปี จำนวน 120 คน ที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว หลังจากได้รับวัคซีนซิโนแวคมาแล้ว 2 เข็ม 

โดยเปรียบเทียบระหว่าง

  • การได้รับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าเข็มกระตุ้น ปริมาณ 1 ใน 5 ของโดสปกติเข้าใต้ผิวหนัง 
  • การได้รับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าเข็มกระตุ้น ปริมาณปกติเข้ากล้ามเนื้อ  

ผลวิจัยเบื้องต้น พบว่า การฉีดเข็มที่ 3 เข้าใต้ผิวหนังในปริมาณ 1 ใน 5 โดส สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูง เทียบเท่า กับการฉีดวัคซีนเต็มโดสเข้ากล้ามเนื้อแบบปกติ 

  • ซิโนแวค 2 โดส ภูมิคุ้มกันอยู่ที่ 128.7 ยูนิตต่อมิลลิลิตร 
  • ซิโนแวค 2 โดส + แอสตร้าเซเนก้า 1 โดส เข้ากล้ามเนื้อ ภูมิคุ้มกันจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,652 ยูนิตต่อมิลลิลิตร 
  • ซิโนแวค 2 โดส + แอสตร้าเซเนก้า 1 ใน 5 โดส เข้าผิวหนัง ภูมิคุ้มกันจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,300 ยูนิตต่อมิลลิลิตร 

โดยม.อ. เผยว่า วัคซีนแอสตร้าเซเนก้า 1 ขวด จะสามารถฉีดได้ถึง 50 คน หากฉีดเข้าผิวหนัง แต่เมื่อฉีดเข้ากล้ามเนื้อจะฉีดได้เพียง 10 คน ซึ่งการฉีดเข้าใต้ผิวหนังเป็นการใช้ปริมาณวัคซีนน้อยลงและฉีดวัคซีนได้จำนวนเพิ่มขึ้น

วิจัยชี้ ใช้สูตร วัคซีน นี้ลดผลข้างเคียงได้

ทั้งนี้ การศึกษาภูมิคุ้มกันกับอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าทั้ง 2 กลุ่ม เมื่อถูกกระตุ้นด้วยโปรตีนหนามแหลมของโคโรน่าไวรัสสามารถหลั่งไซโตไคน์อิเตอเฟอรอนแกรมม่า เพื่อกำจัดไวรัสได้ในปริมาณที่ไม่แตกต่างกัน 

ส่วนอาการข้างเคียง อาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการวิจัยไม่พบอาการที่รุนแรงจากวัคซีน โดยกลุ่มที่ได้รับการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง มีผลข้างเคียงทางร่างกาย เช่น อาการไข้ หนาวสั่น ปวดเมื่อย น้อยกว่ากลุ่มที่ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ แต่มีผลข้างเคียงทางผิวหนัง เช่น อาการบวมแดงและคันซึ่งอาการดังกล่าวจะหายเองได้ 

คิดวัคซีนสูตรใหม่ สร้างความมั่นใจเปิดประเทศ

“การศึกษาการฉีดวัคซีนเข้าทางผิวหนังเปรียบเทียบกับการวิธีฉีดเข้ากล้ามเนื้อแบบปกติ ม.อ. วางเป้าหมายเพื่อการบริหารจัดการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส Covid-19 ให้เกิดประโยชน์สูงที่สุดต่อประเทศ ซึ่งผลการศึกษาในระยะเวลา 14 วัน 28 วัน พบว่า ภูมิคุ้มกันเป็นที่น่าพอใจ และภายใน 90 วันจะดำเนินการศึกษาถึงประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกัน เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนและบริหารการใช้วัคซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ดร.นพ.นวมินทร์ กล่าว 

สำหรับการศึกษาเพื่อบริหารการจัดการวัคซีนให้กับคนไทยครั้งนี้ ได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงสาธารณสุข สถาบันการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และคณะแพทยศาสตร์ ม.อ. 

โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติได้จัดให้มีการวิจัยที่ ม.สงขลานครินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.ธรรมศาสตร์ และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อนำผลการศึกษาวิจัยทั้งหมดนำมาเป็นข้อมูลให้กับกระทรวงสาธารณสุข ในการบริหารจัดการวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเปิดประเทศ ตามโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ หาดใหญ่แซนด์บ็อกซ์ และเมืองอื่นๆ 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา