มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) โดยคณะวิทยาศาสตร์ ร่วมกับ สถาบันสำรวจและติดตามการปลูกพืชเสพติด (สพส.) และเครือข่ายวิชาการพืชกระท่อมไทย เปิดเวทีวิชาการพืชกระท่อมแห่งประเทศไทย หัวข้อ “อดีต ปัจจุบัน อนาคตพืชกระท่อม” ระดมสมองนักวิชาการและนักวิจัยครั้งแรก ร่วมแลกเปลี่ยนและขับเคลื่อนงานวิจัยพืช กระท่อม ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำสู่การเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่สู่เกษตรแปรรูปนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์
ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า ม.อ.มีวิสัยทัศน์ในการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อนวัตกรรมและสังคม ที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการ และเป็นกลไกหลักในการพัฒนาภาคใต้และประเทศ โดยการสร้างความเป็นผู้นําทางวิชาการและนวัตกรรม ด้วยการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดจับมือร่วมกับสถาบันสำรวจและติดตามการปลูกพืชเสพติด (สพส.) และเครือข่ายวิชาการพืชกระท่อมไทย ร่วมจัดประชุมทางวิชาการพืชกระท่อมแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1 ภายใต้หัวข้อ “อดีต ปัจจุบัน อนาคตพืชกระท่อม” ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยพืชกระท่อมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ สู่การเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่และสร้างรายได้ให้เกษตรกรไทย
สำหรับการประชุมวิชาการในครั้งนี้ ม.อ.ได้มุ่งส่งเสริมบุคลากรร่วมงานวิจัยพืชกระท่อมนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่ง กระท่อม มีการพบแพร่หลายอยู่ในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภาคใต้ การผนึกกำลังงานวิชาการในครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญ เพื่อสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งจะช่วยสร้างเพิ่มทางมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย
ผศ.ดร.สมชาย ศรีวิริยะจันทร์ สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพและวิทยาศาสตร์ประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. กล่าวว่า การจัดงานประชุมทางวิชาการพืชกระท่อมแห่งประเทศไทยในครั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับพืชกระท่อม โดยมี ศ.ดร.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย จากศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) สาขาวิชาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ม.อ. มาบรรยายหัวข้อ “พืชกระท่อม พืชยา พืชเศรษฐกิจ ที่น่าจับตามอง” เพื่อติดตามและทบทวนทิศทางการขับเคลื่อนงานวิชาการเกี่ยวกับพืชกระท่อม รวมทั้งร่วมกันพัฒนาเครือข่ายวิชาการและภาคีที่เกี่ยวข้องในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ กระท่อม ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อชุมชนต้นแบบและภาคอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ ภายในงานนำเสนอผลงานวิชาการจากนักวิชาการนักวิจัยจากสถาบันการศึกษาต่างๆ และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องอย่างครอบคลุม อาทิ งานวิจัยที่ได้ดำเนินการก่อนที่ประเทศไทยจะมีการประกาศปลดล็อคพืชกระท่อม ทั้งต้นน้ำคือ การปลูก การคัดเลือกสายพันธุ์ และการทำมาตรฐานของพืชกระท่อม กลางน้ำ คือ การนำใบของพืชกระท่อมมาใช้ประโยชน์ในการทำสารสกัดสารบริสุทธิ์ และปลายน้ำ คือ วิธีการนำสารจากพืชกระท่อมมาทำผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และอื่นๆ รวมถึงการนำเสนอ “ชุดตรวจสารไมทราไจนีน” (Mitragynine) ซึ่งใช้งานง่ายสามารถตรวจสารไมทราไจนีนที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับใบกระท่อม
“ความร่วมมือระหว่าง ม.อ. กับสถาบันสำรวจและติดตามการปลูกพืชเสพติด (สพส.) และเครือข่ายวิชาการพืชกระท่อมไทย เป็นย่างก้าวที่สำคัญ ที่ทีมวิจัย ม.อ. มีความมุ่งมั่นการวิจัยและพัฒนาพืชกระท่อม เพื่อตอบโจทย์การแพทย์เชิงพาณิชย์และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืชกระท่อมสู่การเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ซึ่ง ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมเทปการประชุมย้อนหลังรวมถึงข้อมูลการวิจัยพืชกระท่อมของไทยได้ทางเว็บไซต์ https://kratom.sci.psu.ac.th” ผศ.ดร.สมชาย กล่าว
ที่มา – ข่าวประชาสัมพันธ์
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา
Related