รัฐบาลอนุมัติ “แผนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ” นายจ้างในไทยพร้อมหรือยัง

โครงสร้างประชากรของไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นโยบายที่ออกมาเพื่อรองรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น เช่น การส่งเสริมการออมเงินแบบระยะยาวเพื่อใช้ในวัยชรา เพื่อให้แน่ใจว่ารายได้หลังเกษียณอายุจะเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ ดังนั้น รัฐบาลจึงเห็นชอบหลักการให้เริ่ม “ระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ” ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป

แม้รายละเอียดการดำเนินงานจะยังไม่แน่ชัด เพราะต้องรอให้รัฐสภาพิจารณาและสรุปการปรับเปลี่ยนกฎหมายอีกระยะหนึ่ง แต่อย่างที่รู้อยู่แล้วว่าไทยมีอัตราการเพิ่มของประชากรผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว แผนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐในการดูแลผู้สูงอายุ และสนับสนุนให้วัยแรงงานมีเงินออมไว้ใช้หลังเกษียณ

แผนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จ่ายสมทบเริ่มต้น 3%

สำหรับโครงสร้างแผนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ นายจ้างและลูกจ้างต้องจ่ายเงินสมทบ 3% ของเงินเดือน และเพิ่มจนถึง 10% ของเงินเดือนภายในปีที่ 10 โดยเงินเดือนมีเพดานสูงสุดที่ 60,000 บาทต่อเดือน (ประมาณ 1,714 ดอลล่าร์)

อย่างไรก็ตาม กรณีที่ลูกจ้างมีรายได้ค่าจ้างต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน (ประมาณ 286 ดอลล่าร์) ให้นายจ้างเป็นผู้จ่ายเงินสมทบเพียงฝ่ายเดียว สำหรับการบริหารดูแลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ ยังไม่มีการยืนยันรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ที่จะทำหน้าที่บริหารดูแลการลงทุนดังกล่าวแต่อย่างใด

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ระบุว่า รัฐบาลเตรียมกำหนดใช้แผนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับในปี 2561 เป็นปีแรก โดยจะเริ่มจากบริษัทที่มีลูกจ้างจำนวน 100 คนขึ้นไปก่อน จากนั้นจะทยอยกำหนดใช้กับทุกบริษัทมีลูกจ้างจำนวน 1 คนขึ้นไปตั้งแต่ปีที่ 6 ของการบังคับใช้กฎหมายนี้

3 แนวทางกระทบนายจ้าง

บริษัทต่าง ๆ ที่มีกองทุนส่วนตัวอยู่แล้ว อาจไม่ต้องสมทบในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับเพิ่มเติมอีก แต่อาจต้องพิจารณาปรับแผนที่มีอยู่ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีรายละเอียดสำหรับนายจ้าง

1. โครงสร้างกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปัจจุบัน

นายจ้างที่มีแผนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้ว ควรตรวจสอบทบทวนโครงสร้างการจ่ายเงินสมทบปัจจุบันของตนใหม่ โดยเฉพาะการวิเคราะห์ค่าใช้จ่าย เพื่อทำความเข้าใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากรัฐบาลเพิ่มอัตราขั้นต่ำของการจ่ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจาก 2% เป็น 3% สำหรับกองทุนที่ดำเนินการโดยบริษัทเอกชน และอาจเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่นายจ้างจะพิจารณากองทุนสำรองเลี้ยงชีพขององค์กรอย่างครอบคลุมในแง่ของโครงสร้างกองทุนโดยรวมและกลยุทธ์ในการลงทุน เพื่อให้แน่ใจว่ายังสอดคล้องกับเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ต่าง ๆ ขององค์กร

2. การเปลี่ยนจากแผนผลประโยชน์ที่กำหนดไว้เป็นแผนสมทบเงินที่กำหนดไว้

บริษัทหลายแห่งในประเทศไทยยังคงใช้ แผนผลประโยชน์ที่กำหนดไว้ (defined benefit plans) ทำให้บริษัทไม่สามารถทราบค่าใช้จ่ายที่มีต่อบริษัทได้จนกว่าจะมีการจ่ายผลประโยชน์เมื่อลูกจ้างเกษียณอายุ และเนื่องจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับเป็น แผนสมทบเงินที่กำหนดไว้ (defined contribution plans) นายจ้างจึงควรพิจารณาโครงสร้างแผนที่มีอยู่ และประเมินว่าควรมีการปรับแก้หรือไม่ เพื่อลดความเสี่ยงจากค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มสูงขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น เช่นเดียวกับหน่วยงานรัฐและบริษัทเอกชนต่างๆ ทั่วโลก บริษัทในประเทศไทยควรพิจารณาไตร่ตรองถึงการปรับเปลี่ยนแผนผลประโยชน์ที่กำหนดไว้ ไปเป็นแผนสมทบเงินที่กำหนดไว้ว่าดีหรือไม่ ซึ่งนี่อาจเป็นโอกาสดีที่ควรพิจารณาหากยังไม่ได้เปลี่ยน การเปลี่ยนแผนอาจช่วยให้บริษัทลดภาระหนี้สินระยะยาวจากสมุดบัญชีบริษัท รวมทั้งทำให้บริษัทบริหารงบกำไรขาดทุนได้อย่างถูกต้องแม่นยำมากขึ้น และลดความเสี่ยงระยะยาวในเรื่องการขึ้นอัตราเงินเดือนและผลตอบแทนจากการลงทุนด้วย

3. การกำหนดใช้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับในอนาคต

คาดการณ์ว่า บริษัทที่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของตนจะต้องดำเนินการตามแผนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับนี้ ในขณะที่บริษัทที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้ว ไม่ต้องดำเนินการ แม้ในขณะนี้จะมีข้อมูลไม่มากเกี่ยวกับการดำเนินการแผนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ บริษัทต่างๆ ก็จำเป็นต้องพิจารณาทบทวนแผนสวัสดิการสำหรับผู้เกษียณอายุที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงระเบียบข้อบังคับและการกำกับดูแลสวัสดิการด้วย

ศึกษาไว้ก่อน เตรียมพร้อมแต่เนิ่นๆ

แม้รายละเอียดเกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับจะยังไม่ชัดเจนมากนัก แต่สิ่งสำคัญที่นายจ้างในประเทศไทยต้องตระหนักถึง คือการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งผลกระทบที่อาจจะเกิดกับแผนงานด้านสวัสดิการและค่าใช้จ่ายของบริษัท

ผลสำรวจเกี่ยวกับทัศนคติที่มีต่อสวัสดิการองค์กร ประจำปี 2558/2559 (2015/2016 Global Benefits Attitudes Survey) ของวิลลิส ทาวเวอร์ส วัทสัน เผยว่า 43% ของลูกจ้างในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคมีความกังวลใจเกี่ยวกับอนาคตทางการเงินของพวกเขา ซึ่งเป็นสิ่งที่เรามักจะได้ยินบ่อยๆ ในประเทศไทยเช่นกัน

แผนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ จึงออกมาเพื่อผลักดันส่งเสริมให้เกิดการออมเงินไว้ใช้หลังเกษียณอายุมากขึ้น และเปิดโอกาสให้นายจ้างได้พิจารณาทบทวนการจัดการดูแลและความเหมาะสมในการสนับสนุนความต้องการทางการเงินในระยะยาวของลูกจ้างได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

ที่มา: วิลลิส ทาวเวอร์ส วัทสัน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา