หรือจะได้กินเนื้อจากขวดพลาสติก? นักวิจัยพบ วิธีใช้แบคทีเรียย่อยพลาสติกกลายเป็นโปรตีน

วิทยาศาสตร์ด้านอาหารถือว่าเติบโตก้าวหน้าเอามากๆ ในปัจจุบัน ถ้าคิดว่าการผลิตเนื้อจากราน่าทึ่งแล้ว คุณจะรู้สึกทึ่งกว่าเมื่อรู้ว่าตอนนี้ นักวิจัยค้นพบวิธีใช้แบคทีเรียย่อยขวดพลาสติกให้กลายเป็นโปรตีนได้สำเร็จ

นักวิจัยพบวิธีใช้แบคทีเรียเปลี่ยนพลาสติกเป็นโปรตีน

ล่าสุด สองนักวิจัยอย่าง Ting Lu จาก University of Illinois Urbana-Champaign และ Stephen Techtmann จาก Michigan Technological University ค้นพบวิธีใช้แบคทีเรียย่อยพลาสติกชนิดโพลีเอทิลีน (PE) ให้กลายเป็นโปรตีนที่รับประทานได้สำเร็จ

การค้นพบในครั้งนี้ทำให้ทั้งสองได้รับรางวัล Future Insight Prize มูลค่า 1 ล้านยูโร (ประมาณ 38 ล้านบาท) จากการค้นพบทางเทคโนโลยีที่เป็นประตูสู่การแก้ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติในด้านสุขภาพ โภชนาการ และปัญหาด้านพลังงาน 

โดยทุนจำนวนนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการต่อยอดงานวิจัยเพื่อหาสารตั้งต้นชนิดอื่น (นอกเหนือจาก PE ที่นิยมนำมาใช้ทำเป็นพลาสติกมากที่สุด) ที่มีโอกาสจะนำมาเปลี่ยนเป็นอาหารได้ต่อไป 

เทคโนโลยีนี้อาจสำคัญต่อปัญหาขยะพลาสติก

พลาสติกในธรรมชาติถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอันหนักหน่วง โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ เผยว่าในแต่ละปีมีการผลิตพลาสติกเพิ่มกว่า 380 ล้านตัน โดยที่ 79% ของพลาสติกถูกทิ้งให้สะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อมโดยที่พลาสติกเองก็ย่อยสลายได้ยาก

ภาพจาก Shutterstock

การค้นพบนี้ถือเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เพราะนอกจาก “โปรตีนจากขวดพลาสติก” จะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมจากต้นทาง (การผลิตในอุตสาหกรรมปศุสัตว์) แล้ว ยังช่วยลดปัญหาปลายทาง ด้วยการเปลี่ยนวัสดุที่ย่อยได้ยากอย่างพลาสติกให้กลายเป็นอาหารได้อีกด้วย

ที่มา – The Spoon, University of Illinois Urbana-Champaign

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา