PromptPay เริ่มใช้งานมากว่า 1 ปีแล้ว มียอดธุรกรรมผ่าน PromptPay กว่า 4 แสนล้านบาท จากปกติการโอนเงินผ่านมือถือ มีประมาณ 5 ล้านล้านบาท เฉลี่ยโต 10%
แต่ตัวเลข 4 แสนล้านบาทดังกล่าว ไม่ใช่แค่การโอนเงินแต่เป็นการ “จ่าย” แสดงว่า Micro Payment หรือการจ่ายเงินจำนวนน้อยๆ ในรูปแบบดิจิทัลเกิดขึ้นในบ้านเราแล้ว และแนวโน้มยอดการจ่ายเงินแต่ละครั้งจะลดลงเรื่อยๆ เพื่อเป็น Micro Payment อย่างแท้จริง
หลังจากคุยเรื่องการลดต้นทุนของธนาคารไปแล้ว ครั้งนี้ Brand Inside ยังคุยกับ สุปรีชา ลิมปิกาญจนโกวิท อดีตผู้บริหาร mPay ของ AIS ที่ปัจจุบันทำงานอยู่ในธนาคารแห่งประเทศไทย และมีส่วนพัฒนา National e-Payment ถึงเรื่องราวของ PromptPay ที่จะเกิดขึ้นต่อในปีนี้ด้วย
ก้าวเข้าสู่ Road Map 4 ของ e-Payment
สุปรีชา บอกว่าแผน National e-Payment ได้ดำเนินการสิ้นสุด Road Map 3 ในปีที่ 2560 คือ PromptPay มีการใช้งานแพร่หลายมากขึ้น ช่วยให้สะดวกในการโอน จ่ายผ่านระบบ QR Payment ที่ใช้มาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ
อย่างไรก็ตาม QR Payment ที่ธนาคารกระตุ้นให้พวกเราใช้กัน ภาษาเทคโนโลยี เรียกว่าเป็น TAG29 แปลว่า โอนจ่ายเงินผ่าน PromptPay แม้จะสแกน QR Code แต่ยังไม่ได้ใช้ QR แบบเต็มๆ (อธิบายง่ายๆ คือ แปลงเลขที่บัญชีเป็น QR Code แล้วสแกนเพื่อโอน-จ่ายผ่านระบบ PromptPay)
แต่สำหรับ Road Map 4 ที่กำลังเริ่มขึ้น ได้พัฒนาเทคโนโลยี TAG30 คือ การโอน-จ่าย ผ่าน QR Code จริงๆ ซึ่งคาดว่าจะพร้อมใช้งานจริง ประมาณเดือน เม.ย. และจะสแกน QR Code ข้ามธนาคารได้ด้วย
“การจ่ายเงินด้วย QR Payment ตอนนี้ ถ้ากรอกจำนวนเงินผิดแล้วกดโอน ไม่สามารถแก้ไขได้ ต้องให้เจ้าของบัญชีกดโอนกลับเท่านั้น นี่คือเทคโนโลยี TAG29 ซึ่งพัฒนามาเพื่อ PromptPay แต่สำหรับ TAG30 พัฒนามาเป็น QR Payment โดยตรง ถ้ากดจำนวนเงินผิด สามารถ Void จำนวนเงินคืนได้ เหมือนการรูดบัตรเครดิต”
อนาคตอันใกล้กับ QR Credit Card
เมื่อ TAG30 เสร็จสมบูรณ์และประกาศใช้ อีกสิ่งที่จะเกิดตามมา คือ QR Credit Card คือ สามารถสร้างรหัส QR Code ที่เป็นบัตรเครดิตของผู้ใช้ได้ จากนั้นจะสามารถสแกน QR Payment จ่ายด้วยบัตรเครดิตผ่านแอพบนมือถือได้ทันที ไม่ต้องหยิบบัตรเครดิตออกมารูดอีกต่อไป
คาดว่า ทั้ง VISA และ MasterCard น่าจะเริ่มใช้งานได้จริงประมาณ ไตรมาส 3 ปีนี้
สุปรีชา บอกว่า สิ่งนี้จะสร้างการแข่งขันให้กับธนาคารเพิ่มขึ้น คือ แอพ เช่น SCE EASY, KPLUS รวมถึงธนาคารอื่นๆ จะดีไซน์ให้สามารถสแกน QR Payment และเลือกว่าจะจ่ายจากเงินในบัญชีธนาคาร หรือจะจ่ายด้วย Credit Card
ส่งผลให้ การขยายจำนวนเครื่อง EDC เข้าไปในตลาดอาจไม่จำเป็นอีกต่อไป สำหรับของเดิมให้ใช้งานต่อได้ แต่จุดที่เพิ่มขึ้น จ่ายด้วย QR Payment แทนได้ไม่จำเป็นต้องมีเครื่อง EDC ลดต้นทุนไปประมาณ 2,000 บาทต่อเครื่อง
อีกสิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นคือ Request to Pay (ซึ่งมี SCB ให้บริการ) ต่อไปจะให้บริการระหว่างธนาคารได้ เช่น เมื่อมีการซื้อขาย e-Commerce แม่ค้าสามารถส่ง Request to Pay มาให้ลูกค้ากดจ่ายเงินได้ทันที
รูปแบบการใช้จ่ายเงิน จะสะดวก รวดเร็ว และหลากหลายมากขึ้น
สรุป
นี่คือความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากแผน National e-Payment ในปีนี้ ธนาคารจะแข่งขันกันหนักขึ้น มีสีสันใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดทั้งปี และรูปแบบการใช้จ่ายของเราจะเปลี่ยนไปจากเดิมอีกมาก
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา