PromptPay (พร้อมเพย์) ระบบจ่ายเงินที่ภาครัฐพัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิด ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อสร้าง Cashless Society หรือสังคมปราศจากเงินสด ดังนั้นจึงเกิด PromptPay ขึ้น แต่ยังมีความกังวลใจเกี่ยวกับ แนวทางและความปลอดภัยในการใช้งานจริง
Brand Inside ได้ขออนุญาตนำบทความของ สุปรีชา ลิมปิกาญจนโกวิท อดีตผู้บริหาร mPay ซึ่งได้เข้าไปมีส่วนร่วมเป็นทีมงานพัฒนา PromptPay ได้โพสต์เนื้อหาเพื่อทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ PromptPay ที่น่าสนใจ
ทำความเข้าใจให้ถูกต้องเกี่ยวกับ PromptPay
อันดับแรกต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า PromptPay คือระบบรับเงิน โดยนำบัญชีธนาคารผูกไว้กับ หมายเลขประจำตัวบัตรประชาชน 13 หลัก และ/หรือ หมายเลขโทรศัพท์ 10 หลัก ทำหน้าที่รับเงินเท่านั้น ไม่สามารถถอนหรือดึงเงินออกได้ โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้
1. PromptPay ปลอดภัยหรือไม่ – อย่างที่บอก PromptPay ใช้สำหรับ “รับเงิน” เราไม่ต้องบอก เบอร์โทรศัพท์หรือเลขที่บัตรประชาชน ให้คนแปลกหน้า แต่บอกให้กับคนที่อยากให้โอนเงินมาให้เรา หรือหน่วยงานรัฐจะได้โอนเงิน (เช่น เงินคืนภาษี, เงินช่วยเหลือต่างๆ) ให้เราที่หมายเลขบัตรประชาชนโดยตรง
2. ยังไม่ได้สมัคร ก็โอนเงิน PromptPay ได้ – PromptPay ใช้รับเงิน ถ้าเราต้องการโอนเงินให้คนที่ใช้ ก็โอนได้เลยผ่าน mobile banking หรือ ATM ก็ได้ ไม่ต้องสมัครหรือลงทะเบียนอะไรทั้งสิ้น
3. กดเลขผิด เงินหาย จริงหรือไม่ – การโอนเงินให้ PromptPay เหมือนการโอนเงินปกติ กดเบอร์โทรศัพท์ หรือกดเลขที่บัตรประชาชน ระบบจะแจ้งชื่อคนที่เราต้องการโอนไป ถ้าชื่อไม่ใช่ ก็ยกเลิก
4. โอนด้วย PromptPay คนอื่นจะรู้เบอร์เราหรือไม่ – คนโอนเงินไม่ต้องลงทะเบียนก็โอนได้ หรือจะสมัครใช้งานแล้ว เมื่อโอนเงินแล้ว จะไม่มีการแจ้งเบอร์มือถือของผู้โอน ไม่ต้องกลัวคนรู้เบอร์โทรเรา
5. สรรพากรจะรู้รายได้เราหรือไม่ – ตอนเปิดบัญชีธนาคารก็ใช้บัตรประชาชน ถ้าทำผิดต่อให้ใช้หรือไม่ใช้ PromptPay ก็มีโอกาสถูกตรวจสอบทั้งสิ้น ดังนั้นใครมีเจตนาหลบเลี่ยง กระทำผิดที่เกี่ยวกับเงิน แนะนำให้ใช้เงินสด อย่ามาใช้ PromptPay เลย
อ่านแนวคิดก่อนจะเป็น PromptPay
สุปรีชา บอกว่า แนวโน้มเรื่องทางการเงินที่เกิดขึ้นทั่วโลกคือ “Faster Payment” โดยพื้นฐาน คือ ขยาย mobile banking ให้ต่อยอดไปชำระเงินแบบ real time ด้วยวิธีที่รวดเร็วและสะดวกแต่คงความปลอดภัยตามมาตรฐานเดิม
รู้หรือไม่ว่า ประเทศไทยมีการใช้ mobile banking และ mobile payment อยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก ดูจากการสำรวจ adoption rate ของ The Financial Brand เมื่อปี 2015 ไทยอยู่อันดับ 10 สูงกว่า อเมริกา, ออสเตรเลีย, อังกฤษ, ฝรั่งเศส โดยเป็นประเทศที่เกือบทุกธนาคารมี mobile banking ทั้งที่โครงสร้าง payment infrastructure ของธนาคารยังอยู่ในระบบเก่าที่ถูกสร้างมานาน ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารพาณิชย์มีแผนจะปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานนี้อยู่แล้ว
Faster Payment มีการใช้งานแล้วในบางประเทศ ในขณะที่อีกหลายประเทศเริ่มสร้างพร้อมๆ กับไทย โดยได้เลือกที่จะใช้ ID ที่จำง่ายแทนเลขบัญชีธนาคาร เพื่อให้โอนง่ายและปลอดภัย มีลักษณะเดียวกับ Paym ระบบจ่ายเงินของอังกฤษ ที่ใช้เบอร์มือถือแทนเลขบัญชี ปัจจุบันสิงคโปร์ และ อเมริกา กำลังนำระบบ ID ไปใช้หลังจากเริ่ม Faster Payment มาสักระยะหนึ่ง ส่วนออสเตรเลียเริ่มทำระบบพร้อมไทย คาดว่าน่าจะเสร็จปลายปีนี้
ด้วยความสามารถของระบบ ในอนาคตสามารถใช้ ID อะไรก็ได้มาเป็นเลขอ้างอิง เช่น เบอร์มือถือ, เลขประจำตัวประชาชน, e-mail, Facebook Account, line ID หรืออะไรก็ได้ที่ยอมรับกันแพร่หลายในอนาคต จึงเป็นที่มาของชื่อโครงการว่า “AnyID Payment” ก่อนจะเปลี่ยนเป็น PromptPay (พร้อมเพย์) ให้เข้าใจง่ายขึ้น และอย่างที่รู้ว่า ไทยเลือกใช้ 2 ID
- เบอร์มือถือ เพื่อสะดวกในการโอนเงินแบบ C2C หรือ P2P โอนหากันในครอบครัว ใช้ในการซื้อขายสินค้าออนไลน์
2. หมายเลขบัตรประชาชน ใช้เพื่อรับเงินจากหน่วยงานรัฐ หรือ G2C มีความสะดวก ถูกต้อง เพราะหน่วยงานรัฐใช้และอ้างอิงอยู่แล้ว ทำให้ใช้รับเงินได้โดยตรง ป้องกันการสวมสิทธิ์รับเงินแทน
โดยสรุปแล้ว การใช้ PromptPay
• Flexible สามารถเปลี่ยนลงทะเบียนบัญชีธนาคารได้ง่ายๆ ลงทะเบียนและยกเลิกผ่านช่องทางที่สะดวก ทั้ง mobile banking, ATM, หรือสาขา
• Security มีความปลอดภัย ธนาคารต้องตรวจสอบว่า ID ตรงกับเจ้าของบัญชี, การเก็บ ID แยก 2 ที่ คือฐานข้อมูลกลางชี้แค่ว่าอยู่ธนาคารไหน และให้ธนาคารเป็นผู้เก็บเลขบัญชี, ก่อนขึ้นระบบจะมี security audit ตรวจสอบระบบต่างๆ จนมั่นใจ
• Privacy ความเป็นส่วนตัว ผู้โอนเงินเองไม่ต้องรู้ว่าผู้รับเงินรับด้วยบัญชีอะไร แค่รู้ว่าโอนสำเร็จหรือไม่ก็พอ และไม่ให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องรับรู้การผูกบัญชี จะรู้แค่ตัวผู้ใช้เอง และเจ้าหน้าที่ธนาคารที่เกี่ยวข้องกรณีที่ลูกค้าสอบถาม
• Pricing กำหนดอัตราให้จำง่ายและต่ำ เมื่อเป็นการโอนที่ผู้โอนไม่รู้ว่าผู้รับเงินอยู่ธนาคารใด ค่าธรรมเนียมการโอนข้ามธนาคารและข้ามเขตที่สูงถึง 25-35 บาทจึงถูกทลายไป เปลี่ยนเป็น 0-2-5-10 บาทตามจำนวนเงินที่โอน
จากจุดเริ่มต้นถึงวันนี้ PromptPay เป็นอย่างไรบ้าง
ถึงวันนี้ PromptPay เริ่มให้มีการลงทะเบียนมา 9 เดือน (ก.ค. 59 – มี.ค. 60) มียอดผู้ลงทะเบียนสะสม 24.4 ล้าน ID แบ่งเป็นเลขประจำตัวประชาชน 18.9 ล้าน ID และเบอร์โทรศัพท์มือถือ 5.5 ล้าน ID โดยตัวเลขนี้เป็นจำนวน active ในระบบที่หักลูกค้ายกเลิกไปแล้ว และเป็นตัวเลขที่แซง Paym ของอังกฤษที่เปิดตัวก่อนไทย 2 ปี
ส่วนของเบอร์โทรศัพท์มือถือน่าจะยังเพิ่มได้อีกมากเพราะยังลงไม่ถึง 10% ของผู้ใช้ (70 ล้านเลขหมาย) และธนาคารพาณิชย์กำลังเริ่มเปิดให้นิติบุคคลได้มาลงทะเบียนและโอนเงินได้ เชื่อว่าจะมีธุรกรรม B2C และ B2B เพิ่มอีกจำนวนหนึ่ง
สำหรับปริมาณการโอนเงิน เริ่มเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ 27 ม.ค. 60 มีการโอนเงินเฉลี่ย 50,000 รายการต่อวัน (ตามการให้ข่าวของผู้ว่า ธปท. เมื่อ 28 มีนาคม 2560) ซึ่งเป็นจำนวนที่แซง Paym ของอังกฤษที่เปิดให้บริการมาแล้ว 2 ปี ถือเป็น adoption ที่เร็วมากเมื่อเทียบกับบริการโอนเงิน ORFT (บริการโอนเงินระหว่างธนาคาร) ผ่าน ATM ที่เปิดบริการมากว่า 10 ปี ปัจจุบันมีจำนวนโอนเงินไม่ถึง 4 แสนรายการต่อวัน และหากเทียบกับ ORFT ผ่านมือถือและ Internet ก็มีปริมาณเคียงกับ ATM
มุมมอง PromptPay จากผู้ให้บริการในต่างประเทศ
สุปรีชา บอกว่า มีผู้ให้บริการจากต่างประเทศติดต่อเข้ามาเพื่อหาจุดเชื่อมต่อบริการกับธนาคารในประเทศไทยผ่าน PromptPay แสดงว่าสนใจในระบบและการใช้งานจริง และในปีนี้น่าจะมีอีก 3 ประเทศที่ขึ้นบริการแบบเดียวกัน ได้แก่ FAST ของสิงคโปร์ ที่เปิด Faster Payment แบบโอนผ่านบัญชีไปเมื่อปีที่แล้ว ขณะนี้กำลังเพิ่มระบบ ID, NPP ของออสเตรเลีย ที่เริ่มโครงการในช่วงเวลาใกล้ๆ กับของไทย น่าจะเปิดบริการปีนี้ด้วย concept คล้ายกัน ใช้เบอร์มือและ e-mail, และอีก 1 โครงการในอเมริกา
สรุป
เร็วเกินไปที่จะตัดสินว่า PromptPay สำเร็จหรือล้มเหลว กับการเปิดให้ใช้งานมายังไม่ถึง 1 ปี แต่ดูจากยอดการสมัครและใช้งานจริงที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ ก็แสดงว่าได้รับการยอมรับอยู่พอสมควร จะว่าไปแล้ว PromptPay เหมือนเป็นทางเลือกให้ประชาชน ถ้าเห็นว่ามีประโยชน์ก็ใช้ ถ้าไม่เห็นประโยชน์ก็ไม่ใช้ แน่นอนว่าปีแรกอาจจะยังไม่สมบูรณ์ แต่เชื่อว่าจะมีการพัฒนาให้ดีขึ้นในอนาคต ซึ่งถ้าจำนวนผู้ใช้มีมากเพียงพอ ก็ถือว่าคุ้มค่ากับการลงทุนและพัฒนาระบบขึ้นมา
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา