ทุกวันนี้ หลากหลายธุรกิจถูกก็อปปี้ ลอกเลียนแบบได้ไม่ยาก แต่นี่คือหนึ่งในธุรกิจที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะตัวและความใส่ใจจากผู้ประกอบการอย่างแท้จริง ถึงจะทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและโดดเด่นได้ระดับนี้
ธุรกิจไทเทเนียม ภายใต้การนำของธนพล หวานสนิท กรรมการผู้จัดการ บริษัท โปรลอก ไทเทเนียม คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็น 1 ในธุรกิจ SMEs ไทยที่คว้ารางวัล Bai Po Business Awards by Sasin ครั้งที่ 20 มาได้
มิติรางวัลที่ได้คือ องค์กรที่มีการสร้างสรรค์นวัตกรรม, องค์กรที่มีการบริหารจัดการด้านสินค้าและบริการที่สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า และการสร้างธุรกิจด้ายพลังแห่งการเป็นผู้ประกอบการ
กว่าจะเป็น “โปรลอก ไทเทเนียม คอร์ปอเรชั่น” ไม่ง่าย
ธนพล เล่าย้อนถึงช่วงที่เขาจบการศึกษาด้านวิศวกรรมเครื่องกลใหม่ๆ สมัยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ประเทศไทยยังใช้โลหะเดิมๆ ที่เสียหายง่าย ขาดความรู้เรื่องโลหะวิทยา เขาจึงเริ่มก่อตั้งบริษัทนี้ขึ้นมา เพื่อนำโลหะไทเทเนียมเข้ามาเพื่อใช้แก้ปัญหาอุตสาหกรรมไทย
ถัดจากนั้นมา 20 ปี เขากลายเป็นผู้ให้บริการไทเทเนียมครบวงจร มีอยู่ในสต็อก 3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 100 ล้านบาท ส่งออกไทเทเนียมไปขายทั่วโลก และกำลังขยายตลาดสู่อเมริกาและยุโรป เขาเชื่อว่า ไทเทเนียมจะสามารถสร้างความยั่งยืนให้อุตสาหกรรมไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วัสดุไทเทเนียมนั้นมีราคาสูงอันดับต้นๆ ของโลก แปรรูปได้ยาก ทำให้ในอดีต อุตสาหกรรมไทยไม่สามารถเข้าถึงสินค้าชนิดนี้เพื่อนำไปแก้ปัญหาได้ ทางบริษัทโปรลอกฯ จึงนำนวัตกรรมมาใช้ทุกมิติ เพื่อลดต้นทุนและทำให้ไทเทเนียมเข้าถึงอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โปรลอกฯ ก่อตั้งมา 20 ปีแล้ว อุตสาหกรรมไทยยังไม่ค่อยรู้จักมาก ทางองค์กรต้องอาศัยความร่วมมือกับภาครัฐ มหาวิทยาลัย ทำวิจัยเพื่อนำไทเทเนียมมาใช้ เพื่อแก้ปัญหาอุตสาหกรรมไทยได้ ทางโปรลอกก็มีเทสต์ในห้องแล็บ และเอาปัญหามาทำวิจัยร่วมกับลูกค้าด้วย
จุดแข็งของไทเทเนียมคือความสามารถในการทนทานการกัดกร่อน ไม่ต้องซ่อมบำรุง ล้าง ทำความสะอาดอย่างเดียว อายุการใช้งานยาวนาน 30 ปี อยู่ที่ว่าใครจะผลิตในต้นทุนที่ถูกกว่ากัน ขณะที่วัสดุที่เป็นเหล็ก สแตนเลสต้องซ่อมบำรุงทุกปี
ปัญหาเรื่องการกัดกร่อน มันทำลายเศรษฐกิจสูงมาก ทั้งปัญหาการพังเสียหายของเครื่องจักร ปัญหาการรั่วไหลของสารเคมี จะดีกว่าไหมถ้าจะมีการผลิตที่เหมาะสม ผู้ประกอบการเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ทำอย่างไรให้ราคาเอื้อมถึง เข้าถึงได้ ต้องทำให้ครบทั้งซัพพลายเชน ตั้งแต่นำเข้าวัตถุดิบ การออกแบบ
เช่น อุตสาหกรรมถุงมือยางพารา จะเอาไทเทเนียมไปแก้ไข เพื่อทดสอบ ออกแบบ ให้เกิดสมดุลระหว่างราคาและความทนทาน ให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนจากเครื่องจักรเหล็กหรือสแตนเลส
อุตสาหกรรมยานยนต์ ยางพารา เช่น กลุ่ม ศรีตรัง ใช้เครื่องจักรที่เป็นไทเทเนียม อุตสาหกรรมอาหาร เช่น ขนมปัง ผลิตจากเครื่องอบที่ใช้แผ่นไทเทเนียมได้ ไว้เป็นโมล์ดหรือแม่พิมพ์ในกระบวนการขึ้นรูปสำหรับถุงยางอนามัย และยังนำไปใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรมด้วยกัน
รวมทั้งอุตสาหกรรมเคมีพื้นฐาน ใช้วัสดุเดิมๆที่ราคาถูก ไทเทเนียมเพิ่มความทนทานของวัสดุได้ ทำให้คนลงทุนเพิ่ม เราเติบโตอย่างมั่นคงตลอด 20 ปี ขยายสู่ตลาดโลก อินโดนีเซีย มาเลเซีย ญี่ปุ่น ล่าสุดบุกตลาดสหภาพยุโรปและอเมริกา เขาก็ผลิตได้เหมือนกัน แต่ด้วยต้นทุนที่ราคาสูงกว่า
แม้ในปีนี้จะเป็นปีที่ยากลำบาก เนื่องจากลูกค้าปิโตรเคมีทรุด เพราะโดนจีนทุ่มตลาด แต่บริษัทโปรลอกสามารถเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสได้ เพราะมีซัพพลายจีนที่เข้มแข็ง ด้วยการเริ่มนำเข้าโลหะอื่นเพิ่ม เช่น นิกเกิล ดูเพล็กซ์
แม้จะเป็นปีที่ยากลำบากของปิโตรเคมี ต่อให้ไม่มีกำไรเพิ่ม ก็ยังต้องซ่อมบำรุงอยู่ดี ถือว่ามีตลาดที่กว้าง ล่าสุดก็ได้ลูกค้าจากบังคลาเทศ และหลังจากไปออกบูธที่สเปนเพิ่ม ก็สะท้อนว่าสิ่งที่ทำนั้นยั่งยืนจริง ตลาดมีดีมานด์
คำถามที่สำคัญก็คือถ้าสินค้ามีความคงทน ขายได้ครั้งเดียว จะหารายได้เพิ่มอย่างไร ทางโปรลอกฯ เลือกซัพพลายเออร์เบอร์ 1 ของจีน ที่มีคุณภาพดี สำหรับการซื้อสินค้าไทเทเนียมจากทางโปรลอกฯ นั้น ลูกค้าไม่ได้ซื้อครั้งเดียว แต่เป็นลักษณะทยอยซื้อ ไม่ได้ซื้อปีเดียวจบ ค่อยๆ ทยอยเปลี่ยนวัสดุ ทางโปรลอกฯ ยังให้ความรู้ลูกค้าเพิ่มด้วย
สำหรับรางวัล Bai Po Business Awards by Sasin ที่ได้มานี้ ถือว่ามีความสำคัญต่อองค์กรมาก ถือเป็นความภูมิใจของทีมงานทุกคน ทั้งความเชื่อมั่นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของธุรกิจ สำหรับทิศทางในอนาคตหลังจากนี้ กำลังผลักดันให้มีการ IPO ให้ได้ โดยแผน IPO กำหนดไว้ที่ปี 2570
ไทเทเนียม แม้ต้นทุนราคาสูง แต่นวัตกรรมช่วยได้
บริษัท โปรลอกฯ ลดต้นทุนในกระบวนการผลิต ด้วยการใช้หุ่นยนต์เพื่อเชื่อมอุปกรณ์ไททาเนียม 50% โปรลอกฯ มองว่า นวัตกรรมสามารถสร้างความยั่งยืนได้ ด้วยการลดใช้พลังงานที่เป็นต้นทุนหลักของธุรกิจ นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่กลัวจีนว่าจะทำแข่ง เพราะเป็นตลาดที่ต้องตอบสนองลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่ตลาดแมสที่ผลิตสินค้าออกมาเป็นจำนวนมาก
จีนไม่สนใจสินค้าชิ้นเดียว อันเดียว เขาสนใจสินค้าที่มีจำนวนมากระดับ 100 ชิ้น 1,000 ชิ้น สามารถผลิตจำนวนมาก ไทยมีช่างเชื่อมเก่งๆ เยอะ เราเอาจุดแข็งของไทยมาใช้เพื่อเชื่อมไทเทเนียม เราจัดตั้งศูนย์อบรมเพื่อฝึกแรงงานไทยในการเชื่อมไทเทเนียมในไทยและต่างประเทศได้ เราใช้แรงงานไทย 100% แบ่งสัดส่วนเป็นใช้หุ่นยนต์ 50% ใช้คนไทย 50%
สำหรับสินค้าโปรลอกฯ ตอนนี้แบ่งสัดส่วนออกเป็นส่งออก 30% ภายในประเทศ 70%
สัดส่วนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นปัญหาใหญ่ในไทย ทำให้ธุรกิจโตแบบก้าวกระโดด ทั่วโลกไม่ได้ใช้ไทเทเนียมทุกอุปกรณ์แบบที่ลูกค้าใช้แบบในไทย ต่างชาติยังมองว่ามีราคาสูงอยู่ แต่ถ้าเน้นความคงทนและความคุ้มค่าของงบประมาณในการใช้จ่ายกับวัสดุถือว่าคุ้มค่ากว่า
สำหรับประเด็นการขึ้นภาษีของสหรัฐอเมริกานั้น โปรลอกฯ มองว่าเป็นโอกาส ทำให้ไทเทเนียมจีนเข้าอเมริกาไม่ได้ แต่ไทยนำไทเทเนียมเข้าไปแทนได้ ถ้าย้อนไปตั้งแต่สมัยทรัมป์ยุคแรก โปรลอกฯ ก็ได้ลูกค้าที่ต้องการไทเทเนียมนำไปเป็นส่วนประกอบเรือยอร์ช รถแต่ง ฯลฯ มาตั้งแต่นั้น
เคล็ดลับความสำเร็จธุรกิจคือนวัตกรรม บริษัทมีวิศวกร 30 กว่าคน มีการใช้การออกแบบทางวิศวกรรมมาช่วย หุ่นยนต์ที่เราใช้เชื่อม เราวิจัยเองจากที่ต้องเชื่อมสัก 10 ครั้ง เราเปลี่ยนกระบวนการที่เชื่อมเพียง 3 ครั้ง เราทำร่วมกับ สวทช. ใช้พลังงานสะอาดทั้งหมด มีการติดโซลาร์เซลล์ มีการนำหุ่นยนต์มาใช้ หุ่นยนต์ 1 ตัว มีต้นทุน 10 ล้านบาท ตอนนี้ใช้หุ่นยนต์ 50% คือมี 2 ตัว หุ่นยนต์ใช้เชื่อมแนวทางสมมาตร เชื่อมรอบถัง แต่ถ้าเชื่อมตามแนว ยังต้องอาศัยฝีมือคนอยู่ เรานำ AI มาควบคุมคุณภาพ และใช้มนุษย์เป็น QC
SMEs ไทยติดกับดักอุตสาหกรรมเก่า
สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในไทยนั้น ถือว่ายังติดกับดักอยู่ในอุตสาหกรรมเก่า เน้นผลิต แต่ไม่มองเรื่องนวัตกรรม หรือหาความแตกต่าง ทำให้เราแข่งขันไม่ได้ เพราะจีนเป็น Economy of scale จีนเน้นผลิตจำนวนมาก ทำให้ต้นทุนถูกลง ถ้าเราผลิตแบบเดียวกัน เราไม่สามารถชนะจีนได้ สิ่งที่แตกต่างคือผลิตภัณฑ์ ต้องหาช่องว่างให้เจอ ตอบโจทย์เพื่อปิดช่องว่างนั้นให้ได้
คนไทยมีศักยภาพสูง คนไทยเก่ง แต่เราติดกับดักที่ทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถเติบโตในเวทีโลกได้ ภาครัฐมีเงินทุนเยอะมาก มีโครงการจำนวนมากที่สนับสนุนด้านการตลาด อยากให้ผู้ประกอบการไทยดิ้นรน หาความช่วยเหลือจากรัฐ และตั้งใจทำจริง เพื่อหาทางจับคู่กับลูกค้าเพื่อสร้างโอกาสใหม่ให้ได้ ต้องกล้าสำรวจโลก ให้ผลิตภัณฑ์ไปได้ทั่วโลก
คนไทยติดกับดักอยู่กับอุตสาหกรรมเก่าที่ญี่ปุ่นสร้างไว้ให้ ถ้าเราเป็นซัพพลายเชนของโตโยต้า เราจะผลิตแบบเดิม ผลิตบนมาร์จินที่บางแสนบาง และมองว่ามันพอแล้ว แต่ไม่รู้ว่ามาร์จินนั้นมันบางขนาดไหน โลกเปลี่ยนเร็ว ถ้าเราไม่รู้จักการทำ SWOT หรือไม่รู้จักวิเคราะห์ภายใน ภายนอก จุดอ่อน จุดแข็ง เรารอดยาก ผู้ประกอบการไทยที่เป็น OEM เทียร์ 2 เทียร์ 3 จะอยู่ได้อย่างไร ถ้าไม่คิดแตกต่าง เราหยุดคิดไม่ได้ ต้องหาโอกาสใหม่ตลอดเวลา
ผู้ประกอบการไทยมองนวัตกรรมเป็นสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งตามจริงแล้ว นวัตกรรมเป็นอะไรก็ได้ ที่มีความใหม่ แตกต่าง ทั้งเรื่องต้นทุน กำไร ต้องมองทุกอย่างตั้งแต่ คน กระบวนการ วิธีการ ก่อนจะถึงผลิตภัณฑ์
นอกจากนี้ก็จะต้องมองเรื่อง Sustainable หรือความยั่งยืน ถ้ามองให้ลึกก็คือ การทำให้องค์กรยั่งยืน ด้วยการใช้พลังงานสะอาด สิ่งที่ได้มาก็เป็นการลดต้นทุนทางอ้อมที่คนส่วนใหญ่มองไม่เห็น จะทำอย่างไร ภาครัฐต้องให้ความรู้เพื่อสร้างความเข้าใจให้ผู้ประกอบการไทย อยากให้มองว่าเป็นโอกาส มากกว่าเป็นภาระ
สรุป
โปรลอก ไทเทเนียม คอร์ปอเรชั่น แม้จะผลิตสินค้าวัสดุที่มีต้นทุนสูง แต่ก็เป็นวัสดุที่มีคุณภาพสูงเช่นกัน จุดแข็งของไทเทเนียมคือคุณภาพและการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อลดต้นทุน ทำให้ธุรกิจเติบโตได้แข็งแกร่ง รวมถึงการพยายามตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะตัวของลูกค้าแต่ละราย ทำให้บริษัทขนาดใหญ่ที่ต้องการผลิตสินค้าจำนวนมากๆ ไม่สามารถลงแข่งในระดับเดียวกันได้
สิ่งสำคัญก็คือ ต้องเรียนรู้ที่จะร่วมมือกับหลายฝ่ายเพื่อพัฒนาสินค้าและคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกและตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าอยู่เสมอ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา