มืออาชีพต้องคิดถึงจุดจบ – บทความพิเศษ​โดย ธนา เธียรอัจฉริยะ

บทความพิเศษโดย ธนา เธียรอัจฉริยะ

สมัยที่ผมเริ่มทำงานใหม่ๆ ความเชื่อที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ก็คือ การที่เราเข้าทำงานในที่ที่หนึ่งแล้วทำงานจนเกษียณ (Lifetime Employment) เราทุ่มเทความจงรักภักดีให้บริษัทแล้วบริษัทก็จะดูแลเราจนแก่เฒ่า มีคนที่ผมรู้จักเปลี่ยนงานน้อยมาก ใครเปลี่ยนก็จะมีคำถาม คำวิจารณ์มากมาย

ภาพจาก Shutterstock

ความเชื่อของผมมาเริ่มสั่นคลอนเอาตอนปี 1997 ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง สมัยนั้นผมทำงานอยู่ในวงการการเงิน ก็ได้เห็นการล่มสลายของสถาบันการเงินจำนวนมากที่เชื่อกันก่อนนั้นว่าไม่มีทางเจ๊ง ในการล่มสลายนั้น ผมได้เห็นทั้งเพื่อน พี่ และคนรู้จักจำนวนมากต้องตกงาน แม้กระทั่งผู้ใหญ่ที่เป็นผู้บริหารระดับสูงบ้าง กลางบ้าง ที่ตำแหน่งหน้าที่การงานมั่นคง รอวันเกษียณอีกไม่กี่ปี ก็ต้องถูกให้ออก บางคนพอหางานใหม่ได้ แต่หลายคนที่ผมรู้จักมีชีวิตที่เปลี่ยนไป ต้องปากกัดตีนถีบ เริ่มธุรกิจใหม่ในวัยใกล้ห้าสิบก็มี

แต่เหตุการณ์ที่ทำให้ผมเข้าใจคำว่าจุดจบจริงๆ ก็เมื่อผมทำงานที่ดีแทคได้ 5 ปี ตอนนั้นผมอายุแค่สามสิบ แต่เป็นดาวรุ่งของบริษัท ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเร็วกว่าใครในรุ่นเดียวกัน อายุแค่นั้นเป็นผู้อำนวยการคุมคนเป็นร้อยแล้ว ในวัยขนาดนั้นและประสบความสำเร็จขนาดนั้น ในการมองข้ามชอตไปถึงผู้บริหารระดับสูงในอีกไม่กี่ปี และกลายเป็นผู้บริหารอันดับหนึ่งในองค์กร ดูเป็นความฝันที่เข้าท่าอยู่ไม่น้อย ชีวิตดูสุขสบาย มีอนาคตและมั่นคงมาก

แต่ด้วยเหตุการณ์ไม่คาดฝันผสมกับอีโก้ที่พองคับตัวด้วยความสำเร็จ ในตอนนั้นมีการโยกย้ายตำแหน่งและมีเจ้านายคนใหม่เข้ามา ผมไม่พอใจด้วยคิดว่าตัวเองเก่งกว่า คิดไปต่างๆ นานา จนสุดท้ายตัดสินใจลาออกด้วยอารมณ์ล้วนๆ ใครทัดทานอย่างไรก็ไม่ฟัง แต่พอลาออกไปไม่นาน ผมถึงเริ่มเข้าใจสัจธรรมของการถอดหมวกออกในหลายๆ มุม รถประจำตำแหน่ง เบอร์โทรศัพท์สวยๆ ห้องทำงานที่จัดตามสไตล์เรา ทุกอย่างต้องส่งคืนบริษัทหมด ความคิดที่คิดว่าตัวเองเก่ง บริษัทต้องพึ่งเรา ถึงเวลาจริงๆ บริษัทก็ดำเนินต่อไปไม่ได้เดือดร้อนอะไร ที่เหลือจริงๆ ก็คือคน ลูกน้องที่เราทำงานด้วยและดูแลสอนงานเขาก็อยากจะตามมาทำงานด้วย บริษัทคู่ค้าที่ประทับใจการทำงานของเราก็มีชวนไปทำงาน คนที่เราเคยทำไม่ดีด้วยก็กระทืบซ้ำ

ภาพจาก Shutterstock

ผมโชคดีในชีวิตมากๆ ที่ผ่านไป 3 เดือน คุณบุญชัย เบญจรงคกุล ก็โทร.มาตามกลับ แต่การลาออกครั้งนั้นให้บทเรียนมากมาย กลับมาดีแทคอีกครั้ง ผมรู้เลยว่าวันหนึ่งก็ต้องถึงจุดจบกับดีแทคอีก อาจอีกห้าปี สิบปี (ผมออกจากดีแทคอีกทีจริง ๆ สิบปีหลังจากการลาออกครั้งแรก) และพอคิดว่ามีจุดจบแน่ๆ วิธีคิดว่าจะประพฤติปฏิบัติตัวก็ดูเหมือนจะชัดเจน และแตกต่างกับตอนที่คิดว่าจะอยู่บริษัทนี้จนเกษียณอย่างมาก

คนที่เคยลาออกไปอย่างผม จะรู้ว่าอะไรสำคัญและอะไรที่ไม่สำคัญ สิ่งที่ไม่สำคัญเลยคือสิ่งของต่างๆ ที่บริษัทให้เป็นสวัสดิการบ้าง หรือเป็นเครื่องอัฐบริขารของผู้บริหารบ้าง เช่น ห้องทำงาน รถประจำตำแหน่ง สมาชิกสนามกอล์ฟ และความสะดวกสบายอื่นๆ สิ่งเหล่านี้จะว่าไปแล้ว ทำให้ชีวิตหลังการลาออกลำบากมากขึ้นด้วย เพราะทำให้ยึดติดกับความสบายเหล่านั้น รวมถึงหัวโขนบนนามบัตรที่ทำให้เราดูโก้เก๋ในหมู่เพื่อนๆ ทำให้จมไม่ลงและโหยหาของหรือยศตำแหน่งเหล่านั้น จนหลายๆ ครั้งทำให้มองข้ามงานใหม่ที่มีโอกาสดีๆ แต่ไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกนั้นไป

ถ้าเราเป็นมืออาชีพและคิดว่าวันหนึ่งก็คงต้องเดินออกจากบริษัทไม่ว่าด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม การฝึกวิชาตัวเบามีเครื่องอำนวยความสะดวกเท่าที่จำเป็น จำกัดความสบายให้อยู่แค่ขั้นต่ำที่สุด เป็นแนวทางที่ดีมากๆ นอกจากทำให้รับมือเวลาออกมาจากบริษัทได้ดีขึ้นแล้ว การประพฤติเรียบง่าย ตัวเบาๆ ในขณะที่อยู่ก็ทำให้ลูกน้องเคารพและปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน การชิงดีชิงเด่นก็จะน้อยลง พอผมลาออกไปแล้วมีโอกาสได้กลับมาเป็นครั้งที่ 2 ห้องทำงานใหญ่ๆ เบอร์สวยๆ อะไรที่ทำให้เราเจ็บปวดตอนลาออกครั้งแรก ก็ไม่เอาแบบนั้นอีกห้องทำงานผมจึงเหลือเพียงห้องเล็กๆ เบอร์สวยก็เลิกใช้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ภาพจาก Shutterstock

ส่วนอะไรที่สำคัญสำหรับการเตรียมตัวเมื่อวันที่จุดจบนั้นมาถึง ?  

อย่างแรกก็คือการเตรียมตัวที่จะลุกจากเก้าอี้ประจำตำแหน่งได้ทันทีแบบชั่วข้ามคืน แบบเก็บของใส่ลังสองสามลังก็เดินออกได้เลย ไม่ต้องนั่งลบฮาร์ดไดรฟ์ เก็บเอกสารที่ไม่อยากให้คนเห็น ขนของออกจากห้องเป็นคันรถ นั่นคือการทำตัวโปร่งใส ซื่อสัตย์สุจริตกับสิ่งที่ตัวเองทำ ไม่สร้างอาณาจักรจนล้มทับตัวเอง เวลาจะออกให้รู้สึกตัวเบาใกล้เคียงกับเวลาที่เดินเข้ามาบริษัทครั้งแรก

ที่ต้องทำแบบนั้นและรวมถึงการเตรียมตัวด้านอื่นๆ ก็เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดในการออกจากบริษัทที่คุ้นเคยคือ ชื่อเสียง (Reputation) ของเราเอง ชื่อเสียงจะเปิดโอกาสให้เราหาความท้าทายใหม่ได้โดยง่าย รวมถึงหาคนมาร่วมชะตาชีวิตกับเราต่อ ไม่ว่าในฐานะลูกน้อง เจ้านาย หรือพันธมิตร ชื่อเสียงพื้นฐานที่ต้องมีติดตัวคือ ความซื่อสัตย์สุจริต และความสามารถในการทำงาน รวมถึงชื่อเสียงด้านภาวะผู้นำ โดยเฉพาะคนที่อายุเริ่มเข้าวัยกลางคน การที่องค์กรใหม่จะสนใจ ก็จะเป็นตำแหน่งที่ต้องมีภาวะผู้นำแทบทั้งสิ้น

เรื่องซื่อสัตย์ สุจริต การทำตัวให้เบา ให้มีห่วงน้อยที่สุดนั้นเข้าใจได้ไม่ยาก ขึ้นอยู่กับใจที่เข้มแข็งไม่หวั่นไหวเป็นหลัก ถ้าคิดว่าวันหนึ่งจะต้องออกจากองค์กรแล้วคนที่มีอำนาจต่อจากเราจะตรวจสอบเรา คนรอบข้างหรือคนที่เราทำงานด้วยจะพูดถึงเราในเรื่องนี้ ก็จะทำให้การตัดสินใจเรื่องแบบนี้ชัดเจนขึ้นมาก ส่วนเรื่องความสามารถในการทำงาน ถ้าคิดว่าวันหนึ่งจะต้องออกจากตำแหน่งที่อยู่ ความตั้งใจที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และการพัฒนาตนเองก็จะเป็นไปโดยธรรมชาติ

ภาพจาก Shutterstock

ในเรื่องภาวะผู้นำนั้น ถ้าเรารู้ว่าสิ่งที่จะเหลืออยู่กับเราหลังจากลาออกไปแล้วนั้นไม่ใช่รถประจำตำแหน่งหรือสมาชิกสนามกอล์ฟ แต่เป็นลูกน้อง ทีมงาน หรือเพื่อนร่วมงาน ที่เมื่อมีคนถามว่าเราเป็นอย่างไร เขาก็จะแสดงความเห็นในสิ่งที่เราเป็น หรือเมื่อเราอยากชวนเขาไปทำงาน เขาจะไปกับเราหรือไม่ก็ขึ้นกับสิ่งที่เรากับเขาไว้ในหลายปีที่ผ่านมา จุดโฟกัสเราจะเปลี่ยนจากสิ่งของมาเป็นคนรอบตัวเราแทน

ตอนผมออกจากงานครั้งแรก มี Supplier บริษัทหนึ่งชวนไปทำงาน ผมเองก็แปลกใจมากเพราะผมโหดกับเขา เจรจาต่อรองกันดุเดือด ทุบโต๊ะกันก็หลายครั้ง เขาบอกว่าเขาชอบผมที่ผมปกป้องผลประโยชน์บริษัทอย่างเต็มความสามารถ เลยอยากได้มาช่วยงาน บางทีชื่อเสียงของเราก็เกิดจากการทำงานในลักษณะนี้กับคนภายนอกด้วยเหมือนกัน

ผมเจอเจ้าของกิจการและผู้บริหารระดับสูงมามากในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา การคุยกันในยุคสมัยนี้เป็นเรื่องประสิทธิภาพองค์กรเป็นหลัก แทบทุกบริษัทพยายามลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพด้วยการเอาคนรุ่นใหม่ไฟแรง เงินเดือนน้อยกว่า พร้อมปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่า เข้ามาแทนพวกที่อยู่นานๆ ไม่ยอมปรับตัว หรือปรับได้ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงคำว่า Early Retire ได้ยินบ่อยจนเป็นเรื่องปกติ

ธนา เธียรอัจฉริยะ

ในมุมกลับกัน ผู้บริหารที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงก็มักเสาะแสวงหาโอกาสใหม่ ที่จะเติบโตต่อไป และพร้อมที่จะไปเผชิญความท้าทายใหม่ๆ ทำให้การเปลี่ยนงานเป็นเรื่องธรรมดาในวงสนทนา คนที่มีความสามารถและรู้ค่าของตัวเองก็ไม่มีใครซื่อสัตย์ต่อองค์กรในแบบเดิมที่จะอยู่ไปชั่วชีวิตอีก ไม่พูดถึงเหตุการณ์ไม่คาดฝันอีกมากมายที่ทำให้ชีวิตคนทำงานมืออาชีพที่อาจต้องเปลี่ยนงานเมื่อไรก็ได้ อาจมาจากเจอนายใหม่ที่เข้ากันไม่ได้ บริษัทแม่ขายกิจการ นโยบายบริษัทแม่เปลี่ยน สามีเปลี่ยนงานต้องย้ายตาม ฯลฯ

การคิดถึงจุดจบของมืออาชีพจึงน่าจะเป็นเรื่องใหม่ที่ธรรมดา (New Normal) ถ้าเข้าใจเรื่องธรรมดานี้ได้ก็จะรู้ว่าพรุ่งนี้ตื่นเช้ามาควรเริ่มปรับปรุงพัฒนาตัวเองอย่างไร

ซึ่งเป็นคนละทางกับความคิด ความเชื่อเดิมๆ ที่ว่าจะอยู่บริษัทจนเกษียณเลยนะครับ

ที่มา – เขียนไว้ให้เธอ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา