ไม่เห็นเดดไลน์ ไม่หลั่งน้ำตา ผัดวันประกันพรุ่งตลอดเวลา แก้ง่ายๆ ด้วยการไม่มีเดดไลน์

ไม่เห็นเดดไลน์ ไม่หลังน้ำตา คือปัญหาที่ไม่ว่าใครก็เคยเจอ (หรือเคยเป็น) แล้วรู้หรือไม่ว่าล่าสุดงานวิจัยพบว่า ทางแก้สำหรับปัญหาผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยๆ คือการไม่มีเดดไลน

Maroš Servátka และทีมนักวิจัยอีก 3 คน จาก Macquarie Business School และ University of Otago ทำการวิจัยโดยให้คนกว่า 3,276 คน เข้ามาร่วมทำแบบสอบถามออนไลน์สั้นๆ แลกกับเงินที่จะบริจาคให้การกุศล 10 เหรียญ 

การวิจัยแบ่งคนออกเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มที่ระบุให้ส่งแบบสอบถามภายใน 1 เดือน, 1 สัปดาห์ และไม่มีกำหนดส่ง โดยผลลัพธ์คือ กลุ่มที่ไม่มีเดดไลน์ส่งแบบสอบถามกลับเร็วที่สุด และยังเป็นกลุ่มที่ตอบแบบสอบถามมากที่สุดอีกด้วย

เวทย์มนต์ของการไม่มีเดดไลน์

คำถามคือ ทำไมพอไม่มีเเดดไลน์แล้วคนตอบทำงานเร็วขึ้น? Servátka อธิบายว่า เดดไลน์คือสัญลักษณ์ของความเร่งด่วน จึงไม่แปลกใจว่าทำไมเดดไลน์ที่อยู่ไกลๆ ถึงเป็นเหมือนใบอนุญาตให้ผัดผ่อนงานออกไปเรื่อยๆ (เพราะความปัจจุบันทันด่วนอยู่ในอนาคตอันแสนไกลนั่นเอง)

แน่นอนว่าหลายคนอาจมองว่า การไม่ให้เดดไลน์ก็เป็นเหมือนการบอกว่างานชิ้นนั้นไม่เร่งด่วน แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงคือผู้คนมักจะตีความไปในทางตรงกันข้าม นั่นคือ หากไม่มีกำหนดส่งงานก็จะรีบทำงานชิ้นนั้นให้เร็วที่สุด

เขาอธิบายเพิ่มว่า เมื่อไม่ได้ระบุเดดไลน์ชัดเจนลงไป นั่นไม่ได้หมายความว่าเราไปบอกผู้คนว่าให้ส่งตอนไหนก็ได้ ในทางกลับกันพวกเขาจะเกิดแรงกดดันและความรู้สึกเร่งด่วนขึ้นมาในใจเอง

และเอาเข้าจริง แม้การให้เดดไลน์ออกไปนานๆ จะเป็นการให้เวลาโฟกัส แต่บ่อยครั้งก็เป็นการเปิดโอกาสให้ผัดผ่อนหรือแม้กระทั่งลืมไปเลยก็ได้ ตัวอย่างที่เห็นภาพง่ายๆ คือผลลัพธ์ของของงานวิจัยชิ้นนี้

  • คนที่ได้เดดไลน์ 1 เดือน แค่ 5.5% ส่งแบบสอบถามกลับ
  • คนที่ได้เดดไลน์ 1 สัปดาห์ ราว 6.6% ส่งแบบสอบถามกลับ
  • กลุ่มที่ไม่มีเดดไลน์ราว 8.3% ส่งแบบสอบถามกลับ และกว่าเกือบส่งกลับแทบทันที

งานวิจัยชิ้นนี้ ในชีวิตจริง? 

Servátka แนะนำว่า วิธีการนี้จะดีก็ต่อเมื่องานให้ความรู้สึกเร่งด่วนในตัวมันเองอยู่แล้ว อาจสามารถนำไปใช้ในบริบทง่ายๆ เช่น ขอช่วยเรื่องงานบ้าน ขอความช่วยเหลือจากเพื่อร่วมงาน ขอ feedback จากทีมเล็กๆ เป็นต้น ซึ่งเป็นบริบทที่ผู้ถูกร้องขอจะทำงานนั้นให้ทันที 

อย่างไรก็ตาม มีข้อแนะนำว่า งานที่มีความซับซ้อนขึ้นอาจใช้วิธีการนี้แล้วได้ผลลัพธ์ตรงกันข้าม เพราะการไม่กำหนดเดดไลน์ในแต่ละขั้นตอนอาจทำให้ไม่สามารถลำดับความสำคัญของงานแต่ละส่วนได้ถูกต้อง ทุกอย่างจึงต้องขึ้นอยู่กับบริบทของงานนั้นๆ

ที่มา – HBR

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน