โรงเรียนเอกชนเหนื่อย นานาชาติแย่งตลาด ทำนักเรียนลดลงสูงสุดปีละหลักร้อยคน รายได้หายหลายล้านบาท

โรงเรียนเอกชนชั้นนำในไทยมีเหนื่อย เหตุเด็กเกิดใหม่น้อยลงต่อเนื่อง โดนโรงเรียนนานาชาติแย่งตลาด บางรายนักเรียนลดลงปีละหลักร้อยคน สูญรายได้ปีละหลายล้านบาท เจอปัญหาเงินเดือน และค่าแรงกระทบจนเริ่มมีปรับค่าเทอมเพื่อประคองกิจการ

โรงเรียน
ภาพจาก Pixabay

โรงเรียนเอกชนเหนื่อยหนัก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันอัตราการเกิดในประเทศไทยลดลงต่อเนื่อง โดยข้อมูลในเว็บไซต์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ให้ตัวเลขอัตราการเพิ่มของประชากรในประเทศไทยประมาณการปี 2023 อยู่ที่ 0.2% เท่านั้น มีอัตราการเกิด (ต่อประชากรพันคน) ที่ 10 คน และอัตราการตาย (ต่อประชากรพันคน) ที่ 7.9 คน

จุดนี้เองทำให้เด็กเกิดใหม่ที่เข้าระบบการศึกษานั้นน้อยลงอัตโนมัติ และกลายเป็นปัญหาใหญ่ของโรงเรียนเอกชนชั้นนำในประเทศไทย เพราะกลายเป็นพื้นที่ตรงกลางระหว่างโรงเรียนรัฐบาล และโรงเรียนนานาชาติ ที่ผู้ปกครองจะเลือกสนับสนุนการศึกษาให้กับบุตรหลาน

เมื่อผสานกับสภาพเศรษฐกิจประเทศไทยในปัจจุบันที่ยังไม่ฟื้นตัวกลับมามากนัก โรงเรียนเอกชนที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าโรงเรียนรัฐบาลเป็นเรื่องปกติ ก็ต้องถูกพิจารณาในการเลือกโรงเรียนจากผู้ปกครองมากขึ้น ในทางกลับกันผู้ปกครองที่มีกำลังในการใช้จ่ายอาจเลือกส่งบุตรหลานไปเรียนโรงเรียนนานาชาติมากกว่า

SISB

นานาชาติเร่งแย่งโรงเรียนเอกชน

อ้างอิงเอกสารนำเสนอผลประกอบการไตรมาส 1 ของ บมจ. เอสไอเอสบี หรือ SISB หนึ่งในโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยที่รายงานว่า ในปี 2023 มีนักเรียนในระบบการศึกษาตั้งแต่ ป. 1 ถึง ม. 6 ในประเทศไทย 11.1 ล้านคน แบ่งเป็นโรงเรียนรัฐ 9.1 ล้านคน โรงเรียนเอกชน 2.0 ล้านคน และโรงเรียนนานาชาติ 70,200 คน

และในมุมค่าเทอม SISB แจ้งในรายงานดังกล่าวว่า การแข่งขันของหลักสูตรภาษาอังกฤษในโรงเรียนรัฐ และเอกชน รวมถึงโรงเรียนนานาชาติแบ่งได้ 3 ระดับคือ ค่าธรรมเนียมการศึกษาตั้งแต่ปีละ 1-3 แสนบาท, 6-9 แสนบาท และตั้งแต่ 9 แสนบาทขึ้นไป ซึ่งกลุ่มโรงเรียนนานาชาติระดับที่ 2 พยายามชิงส่วนแบ่งจากกลุ่มโรงเรียนระดับเริ่มต้นอยู่

เช่น SISB เตรียมทำตลาด Halving Project หรือหลักสูตรการศึกษาภาคภาษาอังกฤษที่มีค่าใช้จ่ายลดลงครึ่งหนึ่งเพื่อจูงใจผู้ปกครองที่มีกำลังจับจ่าย และถึงไม่ได้ทำตลาดโครงการดังกล่าว ปัจจุบันมีผู้ปกครองหลายรายยอมจ่ายเพิ่มเพื่อให้บุตรหลานเรียนโรงเรียนนานาชาติผ่านเป้าประสงค์เรื่องการยกระดับภาษาอังกฤษ

SISB

นักเรียนโรงเรียนเอกชนลดลงจริง

จากข้อมูลรายงานประเมินคุณภาพภายในสถานศึกษา ปีการศึกษา 2019-2023 ของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย พบว่า ปี 2019 มีนักเรียนทั้งหมด 5,520 คน จากนั้นปี 2020 ลดลงเป็น 5,495 คน ปี 2021 เหลือ 5,300 คน และปี 2022 อยู่ที่ 5,238 คน

ส่วนข้อมูลจากโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยระหว่างปีการศึกษา 2018-2022 พบว่า ปี 2018 มีนักเรียนทั้งหมด 2,711 คน, ปี 2019 มีนักเรียนทั้งหมด 2,470 คน, ปี 2020 มีนักเรียนทั้งหมด 2,295 คน, ปี 2021 มีนักเรียนทั้งหมด 2,119 คน และปี 2022 มีนักเรียนทั้งหมด 2,021 คน

ตัวเลขของโรงเรียนเอกชนทั้งสองแห่งลดลงอย่างเห็นได้ชัด และหากคำนวณค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าธรรมเนียมการศึกษาประมาณ 1 แสนบาท/ปี จะพบว่ารายได้ของแต่ละโรงเรียนนั้นหายไปหลายล้านบาท และมีความเป็นไปได้ที่ผู้ปกครองจะเลือกสมัครโรงเรียนนานาชาติให้กับบุตรหลานมากกว่าการให้เรียนในหลักสูตรปกติ หรือ EP ของโรงเรียนเอกชน

SISB

แบกค่าใช้จ่ายไม่ไหวจนต้องขึ้นค่าเทอม

โรงเรียนเอกชนมีค่าใช้จ่ายประจำ เช่น ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเรียนการสอน และค่าใช้จ่ายในการบริหาร เมื่อมีการปรับขึ้นค่าแรง รวมถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเรียนการสอน ทำให้ค่าใช้จ่ายประจำมากขึ้น ซึ่งสวนทางกับจำนวนนักเรียนที่ลดน้อยลงจนบางโรงเรียนมีการปรับขึ้นค่าเทอมเพื่อประคองค่าใช้จ่าย

ในทางกลับกัน SISB ยังแจ้งว่า ถือเป็นเรื่องปกติของโรงเรียนนานาชาติที่จะปรับขึ้นค่าเทอมเล็กน้อยในปีการศึกษาใหม่ที่จะเริ่มทุกเดือน ส.ค. ของทุกปี โดยในไตรมาส 1 ปี 2024 SISB มีรายได้รวม 572.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.4% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2023 กำไรสุทธิ 211.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.3% จากปีก่อน

เรียกว่าเป็นงานหนักของโรงเรียนเอกชนในการฝ่าวิกฤติที่ตัวเองเป็นเหมือนทางเลือกตรงกลางของผู้ปกครองในการส่งบุตรหลานให้ได้รับการศึกษา และต้องรอการส่งกลยุทธ์ใหม่ ๆ ของโรงเรียนเอกชนเพื่อแย่งชิงจำนวนเด็กเกิดใหม่ที่ลดลงทุกวัน เพราะไม่เช่นนั้นอาจเหลือแค่ประวัติศาสตร์ และความเก่าแก่ของตัวเองเป็นจุดขาย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา