การแข่งขันของบริการสตรีมมิงยังดุเดือดต่อเนื่อง เพราะผู้เล่นทุกรายต่างทุ่มงบทั้งการตลาด และลงทุนคอนเทนต์เพื่อดึงดูดลูกค้าเข้ามาใช้บริการให้มาก และนานที่สุด ซึ่ง Prime Video คือผู้เล่นอีกรายที่กำลังเดินหน้าเรื่องนี้เต็มที่
แต่จุดต่างที่ Prime Video เดินหน้าเมื่อเทียบผู้เล่นรายอื่นคือ การใช้ภาพยนตร์, ซีรีส์ และรายการไทยรูปแบบต่าง ๆ เพื่อดึงดูดลูกค้าในประเทศไทยให้เข้ามาสมัครใช้บริการ
ทำไม Prime Video ถึงเลือกวิธีนี้ และ Prime Video กำหนดเป้าหมายคอนเทนต์ไทยไว้ขนาดไหน ไจตันยะ ดิวาน ผู้จัดการอาวุโสฝ่าย Content Acquisition ของ Prime Video ภูมิภาคอาเซียน ได้อธิบายไว้อย่างน่าสนใจดังนี้
คอนเทนต์ไทยสำคัญต่อ Prime Video
ไจตันยะ ดิวาน ผู้จัดการอาวุโสฝ่าย Content Acquisition ของ Prime Video ภูมิภาคอาเซียน เล่าให้ฟังว่า Prime Video มีการศึกษาเรื่องความนิยมของคอนเทนต์ประเภทต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อเลือกซื้อ หรือพัฒนาคอนเทนต์ให้ตรงกับที่ลูกค้าต้องการมากที่สุด ซึ่งคอนเทนต์ไทยมีการใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวเช่นกัน
“ปัจจุบัน Prime Video มีคอนเทนต์หลากหลาย ตั้งแต่ภาพยนตร์ซีรีส์ระดับฮอลลีวูด, รายการต่าง ๆ จากเกาหลี รวมถึงกลุ่มอนิเมะ ซึ่งการทำตลาดในประเทศไทย คอนเทนต์ไทยย่อมมีโอกาสตอบโจทย์คนไทย ทำให้ Prime Video มีการร่วมมือกับผู้ผลิตท้องถิ่นเพื่อพัฒนาคอนเทนต์ไทยให้มีคุณภาพ และดึงดูดลูกค้าชาวไทย”
ล่าสุด Prime Video ส่งแคมเปญ “แกะกล่องไทยบันเทิง” ผ่านการร่วมมือกับผู้ผลิตคอนเทนต์ท้องถิ่น เช่น เนรมิตรหนัง ฟิล์ม, บีอีซี สตูดิโอ และทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟิล์ม เป็นต้น เพื่อผลิตรายการเนื้อหาไทยทั้งภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ และคอนเสิร์ต 13 รายการ ฉายเนื้อหาใหม่ทุกวันพฤหัสบดีตลอดทั้ง 13 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 5 ต.ค. 2023
แม้เสี่ยง แต่คุ้มค่าที่จะลงทุนคอนเทนต์ไทย
“เราอยู่ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ดังนั้นการลงทุนเรื่องนี้ย่อมมีความเสี่ยง เพราะไม่มีใครรู้ว่าสิ่งที่ผู้ผลิตทำออกมาจะตรงกับความต้องการของคนดูหรือไม่ แต่ Prime Video มองว่าการลงทุนนี้คุ้มเสี่ยง และเราอยากช่วยอุตสาหกรรมบันเทิงไทย ซึ่งถ้ามันสำเร็จในไทยก็น่าพอใจ แต่หากไปดังในท้องถิ่นอื่นก็ถือเป็นโบนัส”
ภาพรวมความต้องการรับชมคอนเทนต์ของคนไทยปัจจุบันยังเป็นประเภทละคร หรือ Long Form TV Drama แต่หากแบ่งความช่วงอายุ ผู้รับชมที่มีอายุน้อยจะมีความชื่นชอบซีรีส์จากภูมิภาคต่าง ๆ ทำให้การพัฒนาคอนเทนต์ไทยต้องมีความหลากหลายเพื่อตอบโจทย์เรื่องนี้เช่นกัน
ขณะเดียวกันการเสริมความแข็งแกร่งในการทำตลาดไทย หนึ่งในนั้นคือการมีพากย์ไทยในภาพยนตร์ และซีรีส์ชั้นนำของ Prime Video โดยปัจจุบันมีกว่า 70 เรื่องที่มีพากย์ไทย และยังเริ่มมีการเลือกซื้อคอนเสิร์ตต่าง ๆ เข้ามาแพร่ภาพในระบบ เช่น Grammy x RS: 2K Celebration เป็นต้น
ตั้งเป้าเป็น Home of Thai Content ในตลาดโลก
“การที่ Prime Video ตั้งใจลงทุนเกี่ยวกับคอนเทนต์ไทย เราก็อยากเป็น Home of Thai Content ในตลาดโลก เพราะเราทำตลาดใน 240 ประเทศ และมีสมาชิกรวมกันกว่า 200 ล้านบัญชี ทำให้คอนเทนต์ไทยคุณภาพสูงก็มีโอกาสเข้าถึงผู้ชมในตลาดโลกได้ดีขึ้น”
ตัวอย่างที่ Prime Video คาดหวังให้คอนเทนต์ไทยโด่งดังในระดับโลกคือ Congrats My Ex! ลุ้นรักป่วน ก๊วนแฟนเก่า ภาพยนตร์ Romantic Comedy เกี่ยวกับเจ้าของบริษัทรับจัดงานแต่งงานที่ต้องมาจัดงานแต่งให้ชาวอินเดียที่มาจัดพิธีที่ไทย ที่อาจเข้าถึงผู้ชมชาวอินเดียในประเทศต่าง ๆ ได้
“Prime Video ขอยืนยันอีกครั้งว่า เราไม่ได้สนใจว่าคู่แข่งของเราจะทำอะไร เพราะเรามีความหมกมุ่นในลูกค้าของเรา และต้องการนำคอนเทนต์ต่าง ๆ ทั้งการร่วมผลิต การสร้างออริจินัลคอนเทนต์ หรือการซื้อคอนเทนต์คุณภาพมาให้ผู้ชมให้ได้มากที่สุด”
ยังลงทุน และไม่ทิ้งผู้ผลิตในไทยแน่นอน
ไจตันยะ ดิวาน ทิ้งท้ายว่า การเข้ามาลงทุนคอนเทนต์ไทยของ Prime Video ถือเป็นการช่วยเหลืออุตสาหกรรมเกี่ยวกับความบันเทิงในประเทศไทยอีกทางหนึ่ง เช่น ทำให้ผู้ผลิตมีเงินทุนทำภาพยนตร์ หรือซีรีส์ที่มีคุณภาพมากกว่าเดิม และมี Prime Video เป็นตัวช่วยในการให้งานเหล่านั้นเข้าถึงคนไทย และตลาดโลกได้ง่ายขึ้น
“ถ้าดูภาพรวมอุตสาหกรรมคอนเทนต์ของประเทศไทย ต้องยอมรับว่าผู้ผลิตคอนเทนต์ยังค่อนข้างแข็งแกร่งในการทำงานเพื่อแพร่ภาพทางสื่อโทรทัศน์แบบ Free to Air รวมถึงในโรงภาพยนตร์ ดังนั้นการที่แพลตฟอร์มสตรีมมิงต่าง ๆ เข้ามาลงทุนคอนเทนต์ไทยจึงถือเป็นการช่วยเหลืออุตสาหกรรมนี้มากกว่า”
ในทางกลับกัน หากผู้ให้บริการสตรีมมิงไม่เข้ามาลงทุนคอนเทนต์ไทย และในแต่ละท้องถิ่น อาจสร้างความเสียหายให้กับลูกค้ามากกว่าฝั่งผู้ผลิตคอนเทนต์ เพราะผู้ชมที่เลือกสมัครสมาชิกแพลตฟอร์มสตรีมมิงต่าง ๆ ย่อมต้องการรับชมสิ่งที่ Free to Air หรือโรงภาพยนตร์ตอบโจทย์ไม่มี
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา